"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ผลการขายหุ้นเพิ่มทุน บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 625 ล้านหุ้น ในอัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อหุ้นใหม่ ปรากฎว่า ขายไม่หมด แม้จะขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 50 % เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้น 39 .2 % สละสิทธิ์ไม่ซื้อหุ้น
นกแอร์แจ้ง ตลาดหลักทรัพย์ว่า ขายหุ้นเพิ่มทุนได้ 510,999,882 หุ้น ได้รับเงิน 1,226.40 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการบริหารงาน
เหลือหุ้นที่ขายไม่ออก 114 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 270 ล้านบาท ที่ยังขาดอยู่จากเป้าหมายการระดมทุนในครั้งนี้
การบินไทย ออกแถลงการณ์ ถึง เหตุผลที่สละสิทธิ์ ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนกแอร์ว่า
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาจากรายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจที่บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์เพิ่มขึ้น ภายใต้สภาวการณ์ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน ประกอบกับข้อมูลและความเห็นอื่นๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วคณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาความพร้อมของบริษัทฯ และสายการบินนกแอร์ภายใต้สภาวการณ์ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังไม่สมควรลงทุนเพิ่มในสายการบินนกแอร์ เพราะบริษัทฯ ควรจะมุ่งเน้นการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปของบริษัทฯ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องดำเนินการอยู่อีกมากก่อน คณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติให้บริษัทฯ ไม่ทำการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์ในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะทำให้สัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทฯ ในสายการบินนกแอร์ลดลงก็ตาม
ในขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่ง เป็นกรรมการ การบินไทย พูดชัดๆ ตรงไปตรงมาว่า การบินไทย ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน นกแอร์ จำกัด เพราะ ไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจน และการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มทุนนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 24 พฤษภาคม หลังจากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การบินไทยไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน นกแอร์ ทำหนังสือชี้แจงต่อตล่าดหลักทรัพย์ว่า แม้การบินไทยจะไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ นกแอร์ ได้รับการตอบรับที่ดี จากผู้ถือหุ้นรายอื่นที่จองซื้อหุ้นเข้ามาทั้งตามสิทธิและจองเกินสิทธิ ทำให้ นกแอร์ ได้รับเงินเพิ่มทุนเพียงพอต่แผนการใช้เงินบริษัท และจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องหรือการดำเนินธุรกิจ
แต่ผลการขายหุ้นเพิ่มทุน ขัดแย้ง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่นกแอร์บอกกับตลาดหลักทรัพย์ โดยสิ้นเชิง เพราะขายหุ้นไม่หมด ได้เงินไม่ครบตามที่ตั้งเป้าไว้
อย่าว่าแต่การบินไทยเลย แม้แต่ นายพาที สารสิน ประธานกรรมการบริหาร นกแอร์ ซึ่งถือหุ้นอยุ่ 2.02 % ก็ไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัทที่ตัวเองเป็นผู้บริหารมานาน 13 ปี ซึ่งน่าจะสะท้อนถึง ความเชื่อมั่น ที่เขามีต่อนกแอร์ได้เป็นอย่างดี
นกแอร์ มีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันสามปี คือ ในปี 2557 ขาดทุนสุทธิ 471.66 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุนสุทธิ 726 .10 ล้านบาท และปี 2559 ขาดทุนถึง 2,795.09 ล้านบาท ต่อเนื่อมาถึงไตรมาสแรกของปีนีน้ ที่ขาดทุนสุทธิ 295 .56 ล้านบาท
ในขณะที่ราคาหุ้น ที่เข้าตลาด เมื่อกลางปี 2556 ขายให้ประชาชนในราคาหุ้นละ 26 บาท ปัจจุบันเหลือเพียง 4.50 บาทเท่านั้น
หลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ โครงสร้างผู้ถือหุ้นนกแอร์ เปลี่ยนไปจากเดิม คือ การบินไทย ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ลดสัดส่วนจาก 39.20% ลงเหลือ 21.57% ขณะที่นายทวีฉัตร จุฬางกูร และนายณัฐพล จุฬางกูร มีสัดส่วนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 15.64% และ 13.29% ตามลำดับ รวมกันเท่ากับ 28.93 % กลายเป็นผุ้ถือหุ้นรายใหญ่ แทนการบินไทย
ขณะที่นายพาที ซึ่งเดิมถือหุ้น 2.02% ก็ไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิ์ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดเหลือ 1.29%
การบินไทยมีจุดยืนชัดเจนว่า จะไม่อุ้มนกแอร์ อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมา 13 ปี แม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 แต่ ไม่มีอำนาจกำหนดการบริหารงานของนกแอร์ได้เลย นายพาทีมีอำนาจเพียงคนเดียว และแม้ว่า นกแอร์จะขาดทุนติอดต่อกัน 3 ปี และยังไม่มีวี่แววว่า จะฟิ้นได้อย่างไร แต่นายพาทีก็ยังเป็นซีอีโออยุ่ การบินไทยไม่สามารถเปลี่ยนซีอีโอใหม่ได้ ในที่สุดก็ต้องใช้วิธีตัดหาง ปล่อยวัด ไม่ให้เงินเพิ่มทุน
ในฐานะสายการบินโลว์คอสต์ ที่ดำเนินกิจการมานาน 13 ปี มีแบรนด์ ซึ่งเป็นที่จดจำในตลาด นกแอร์ ถือว่า เป็นกิจการที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ไม่มาก พันธมิตรรายใหม่ที่จะมาร่วมทุน กับนกแอร์ ที่มีข่าวมาตลอดว่า อาจจะเป็นจีน หรือสิงคโปร์นั้น หาไม่ยาก
แต่เงื่อนไขสำคัญที่เขาจะมาหรือไม่มานั้น คือ ผู้บริหาร มีความเป็นมืออาชีพหรือไม่