"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เป็นความหวังดี เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์
แต่เป็นมาตรการที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้เกิดปัญหา จึงเกิดกระแสต่อต้านจากคนส่วนใหญ่
อาจจะเป็นครั้งแรกที่การใช้มาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ถูกต่อต้าน ขัดขืน อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยประชาชน จนรัฐบาลต้องชะลอการบังคับใช้ออกไปหลังสงกรานต์
ในทางปฏิบัติ คือ ยกเลิกไปก่อน ซึ่งอาจจะยกเลิกไปเลยก็ได้
มูลเหตุของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับนี้ สืบเนื่องมาจากอุบัติเหตุร้ายแรง รถตู้โดยสารชนกับรถกระบะบนทางหลวงสาย 344 ช่วงบ้านบึง-แกลง ในพื้นที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อบ่ายวันที่ 2 มกราคม 2560 มีผู้เสียชีวิตถึง 25 คน เป็นผู้โดยสารรถตู้ 14 คน และผู้ที่นั่งมาในท้ายรถกระบะ 11 คน
โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่า ภายใน 3 เดือนต่อจากนี้ ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ จะบังคับใช้กฎหมายการจราจรอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีคนตายมากไปกว่านี้
“วันนี้ไปดูรถตู้ให้บรรทุกเท่าไรตามกฎหมายกำหนด ต้องมีสายรัดนิรภัย และต้องดูว่า คาดหรือไม่ ส่วนรถกระบะใช้บรรทุกของ ก็ไปนั่งท้ายกันเป็นสิบๆ คน วิธีแก้ต้องมีมาตรการในเชิงป้องกัน และต้องแก้ปัญหาในระยะยาว แต่วันนี้จะแก้ปัญหาระยะสั้นก่อน บอกไปเท่าไรก็แก้ไม่ได้ แก้ปัญหาด้วยมาตรา 44 ก็ยังแก้ไม่ได้ ดังนั้น จะมีอะไรมากไปกว่าต้องบังคับใช้กฎหมาย ก่อนที่จะมากไปกว่านี้”
นั่นคือที่มาของการใช้มาตรา 44 รัดเข็มขัด ห้ามนั่งท้ายกระบะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน เป็นต้นไป
เรื่องการให้ผู้ขับ และผู้โดยสารรัดเข็มขัด ไม่สู้จะเป็นปัญหานัก เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายมานานแล้ว ประชาชนชิน และรับได้ ที่เพิ่มขึ้นมาคือ ผู้โดยสารด้านหลัง ต้องรัดเข็มขัดด้วย
เรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะ ความจริงมีกฎหมายห้ามมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2521 แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เลยว่า มีกฎหมายห้ามในเรื่องนี้
หัวหน้า คสช.จึงต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งให้ตำรวจบังคับใช้ กฎหมายที่มีอยู่แล้ว อีกทีหนึ่ง
แต่การใช้อำนาจ เพื่อจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาด อย่างมาตรา 44 ก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่มีการพิจารณาถึงผลกระทบ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจเด็ดขาด
สำหรับผู้ปฏิบัติที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ในกรณีนี้คือ ตำรวจ และกรมการขนส่งทางบก ก็ไม่กล้าโต้แย้ง เสนอทางออกที่สร้างปัญหาน้อยกว่า วิธีที่ปลอดภัยกับตัวเองมากที่สุดคือ เถรตรง บังคับใช้กฎหมายที่ตัวเองละเลยมานานอย่างเข้มงวด เคร่งครัด โดยไม่สนใจว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างไร และเจ้าของคำสั่งคือ หัวหน้า คสช.จะโดนก่นด่าว่า ออกคำสั่งสิ้นคิดเช่นนี้มาได้อย่างไร
ในระบบการเมืองปกติ การออกกฎหมายแต่ละฉบับ ต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องใคร่ครวญถึงผลดีผลเสีย ความเป็นไปได้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ในระบบการเมืองปกติ รัฐสภาจะเป็นกลไกกลั่นกรองร่างกฎหมาย โดยการอภิปรายถึงข้อดี ข้อเสีย ผลที่จะเกิดขึ้น โดยการแปรญัติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนที่เห็นว่า จะเป็นผลกระทบ
การผลักดันร่างกฎหมายแต่ละฉบับ จึงใช้เวลานานมาก เพราะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ต่างจากการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ เช่น ในยุค คสช.นี้ ที่ หัวหน้า คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่เป็นเสมือนกฎหมายเหนือกฎหมายที่มีอยู่ โดยปราศจากกระบวนการกลั่นกรอง คนรอบตัว ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติไม่กล้าคิดต่าง
หลายๆ ครั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 จึงสร้างปัญหา เพราะสวนทางกับความเป็นจริง จนต้องสั่งใหม่ให้ยกเลิก หรือเลื่อนการบังคับใช้ อย่างเช่น คำสั่งเรื่องคาดเบลท์ ห้ามนั่งท้ายกระบะนี้