"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ร่าง พระราชบัญญัติ การคุ้มครองเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ.... ผ่านความเห็นชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ( สปท.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 141 เสียงไม่เห็นด้วย 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง
คะแนนเสียงฝ่ายเห็นด้วยที่ทิ้งห่างอย่าง ขาดลอย สะท้อนถึงทัศนคติของ สปท. ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และอดีตข้าราชการ ต่อ สื่อมวลชน ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ การต่อต้าน ร่าง พรบ. นี้ โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับจากประชาชนทั่วไปเลย มีแต่ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น ที่มีการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่อต้าน อยู่กลุ่มเดียว
สะท้อนทัศนคติของสังคมที่มีต่อ สื่อมวลชนได้เช่นกัน
ร่าง พรบ. คุ้มครองสื่อ นี้ ยังต้องผ่านขั้นตอนอีกยาวไกล กว่าจะเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้ หลังจาก ผ่าน สปท .แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ส่งให้ รัฐบาลพิจารณา ว่า เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร หากไม่เห็นด้วยว่า จะต้องมีกฎหมายกำกับ ควบคุมการทำงานของสื่อ ร่าง พรบ. นี้ก็ตกไป
ถ้าเห็นด้วย ก็จะต้องนำเข้าที่ประชุม คณะรัฐมนตรีให้ลงมติเห็นชอบ และส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติเห็นชอบ 3 วาระ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
การตัดสินใจของรัฐบาล โดยเฉพาะ ตัวนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงเป็นจุดชี้ขาดว่า ร่าง พรบ. การคุ้มครองเสรีภาพฯ จะแท้งหลัง ผ่าน สปท หรือ จะได้คลอดออกมาเป็นตัวเป็นตน และหากได้คลอดแล้ว จะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างไปจากฉบับที่ สปท. ตั้งไข่ไว้หรือไม่ อย่างไร
พลเอกประยุทธ์ บอกกับตัวแทนองค์กรสื่อ ที่เข้าพบ เนื่องในวันเสรีภาพโลก วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า จะดูแลเรื่องกฎหมายฉบับนี้ให้
ร่าง พรบ. ที่ผ่าน สปท. นี้ ถูกแก้ไขสาระสำคัญในนาทีสุดท้าย โดย คณะกรรมาธิการ ขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้านสื่อสารมวลชน เจ้าของ ร่าง ฯ ยอมตัด เรื่อง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องมีใบอนุญาต เปลี่ยนเป็น ใบรับรอง จากองค์กรต้นสังกัดแทน และตัดบทลงโทษ หากไม่มีใบอนุญาตออก กับ ลดตัวแทนภาครัฐ ในคระกรรมการวิชาชีพแห่งชาติ จาก 4 ตำหน่ง ในจำนวนกรรมการ 15 ตำแหน่ง เหลือ 2 ตำแหน่ง
การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญดังกล่าว อาจจะถือได้ว่า เป็นชัยชนะระดับหนึ่งของ องค์กรสื่อ แม้จะยังคงให้มีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพไว้ ในขณะที่สื่อต้องการให้ คณะกรรมการ สภาวิชาชีพสื่อ มีแต่ตัวแทนองคืกรสื่อ และ ภาคประชาชน
เมื่อ ร่าง พรบ. ฯไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย ไม่มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ เครื่องมือ ที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อ จะใช้กำกับดูแล สื่อ ก็เหลือเพียง การกำหนด ข้อบังคับว่า ด้วยจริยธรรมสื่อ เพียงอย่างเดียว ซึ่งยังไม่รู้ว่า หากสื่อไม่อยู่ในกรอบจริยธรรมที่ว่านี้แล้ว สภาวิชาชีพ จะทำอย่างไร เพราะที่ผ่านมา 20 ปี ที่สื่อควบคุมดูแลกันเอง ภายใต้การกำกับดูแลของ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยใช้กรอบจริยธรรมเป็นเครื่องมือ ปรากฎว่า ไม่ได้ผล
องค์กร สื่อที่ถูกร้องเรียนว่า ทำผิดจริยธรรม บางรายเมื่อถูกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรียกมาสอบข้อเท็จจริง ก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาฯ รายที่ยอมให้สอบ เมื่อผลการสอบถึงที่สุดปรากฎว่า ผิด บทลงโทษคือ การตักเตือนว่า ทำผิดนะ เท่านั้นเอง เพราะ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่มีอำนาจมากไปกว่านี้
กรณีล่าสุดที่เป็นตัวอย่างว่า สื่อ ควบคุมกันเองไม่ได้ คือ กรณี ที่บริษัทซีพีเอฟ จ่าย “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ให้กับนักข่าว คอลัมนิสต์ ผู้ดำเนินรายการ ทั้ง ทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ รวม 19 ราย หลายรายเป็นผู้บริหารองคืกรระดับกลาง จนถึงระดับสูง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง หลังจากนั้นเรื่องเงียบหายไปนาน จนถูกทวงถาม จึงมีการชี้แจงผลสอบว่า ซีพีเอฟจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่ข่าวจริง แต่ไม่กล้าฟันธงว่า ทั้ง 19 ราย ผิดหรือไม่ ปิดแฟ้ม จบคดีไปเฉยๆ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เกิดขึ้นจาก การต่อสู้ขององค์กรสื่อ ไม่ให้มีการออกกฎหมายมาควบคุมสื่อ เมื่อปี 2540 ซึ่งขณะนั้น มีการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กำหนดให้ มีองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลสื่อสารมวลชน องค์กรสื่อ เห็นว่า เป้นการเปิดช่องให้รัฐแทรกแซง การทำงานของสื่อได้ จึงมีการเคลื่อนไหว ให้คณะกรรมการร่าง รัฐธรรมนูญขณะนั้น ตัด บทบัญญติในเรื่อง องค์กรอิสระนี้ออกไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และขอควบคุมดูแลกันเอง โดยการตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นมา ทำหน้าที่
เวลา 20 ปี ของ การกำกับดูแล ควบคุมกันเองของสื่อ นานพอที่จะสรุปได้ว่า สื่อควบคุมดูแลกันเองได้จริง หรือไม่