"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
ไม่ถึงสัปดาห์หลังจาก พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง.) และนายนภดล อุเทน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงาน ปปง. ถูกสั่งย้ายจากตำแหน่งไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ตามลำดับ คดีอันเกี่ยวเนื่องกับการฉ้อโกงในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ปปง. วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2560 มีมติให้อายัดทรัพย์เป็นที่ดิน 8 แปลงรวมเนื้อที่ 57 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารบุญรักษาในปัจจุบัน ผู้ครอบครองคือ นางสาวอลิสา อัศวโภคิน ลูกสาวของนายอนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปร จำกัด (มหาชน) ธนาคาร แอลแอนด์เอช จำกัด (มหาชน) ฯลฯ ศิษย์เอกของธัมมชโย หนึ่งในผู้ต้องหาคดีฟอกเงินและรับของโจร ที่หลบหนีคดีอยู่ในขณะนี้
ที่ดินทั้ง 8 แปลง เดิมเป็นของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ศิษย์เอกอีกคนหนึ่งของธัมมชโย อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ตัวการใหญ่ในการยักยอกเงินฝาก 21,935 ล้านบาท ของสมาชิกสหกรณ์ฯ 50,000 คน ซึ่งถูกดำเนินคดี ทั้งคดียักยอกทรัพย์และคดีฟอกเงินรวมทั้งสิ้น 13 คดี โดยศาลชั้นต้นพิพากษาคดียักยอกทรัพย์ไปแล้ว 1 คดี ลงโทษจำคุกนายศุภชัย 32 ปี แต่ลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เพราะนายศุภชัยรับสารภาพ
นายศุภชัย ซื้อที่ดินมาเมื่อ วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ช่วงที่เป็นประธานสหกรณ์ฯ และเกิดพฤติกรรมยักยอกทรัพย์สิน (ต.ค. 2550- 2556) และขายให้ลูกสาวนายอนันต์ ในราคา 298 ล้านบาท เมื่อเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 หลังจากนายศุภชัยถูกแจ้งความดำเนินคดีเพียง 2 เดือน และก่อนหน้าที่จะถูก ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน-สั่งอายัดทรัพย์สินเพียงไม่กี่สัปดาห์
หลังจากนั้น น.ส.อลิสาก็ถวายที่ดินให้ธัมมชโยก่อสร้างอาคารบุญรักษา โดยมีทัตตชีโวเป็นประธานในพิธีตอกเสาเข็ม ร่วมกับนายอนันต์
การซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงอาจจะเข้าข่ายการผ่องถ่ายทรัพย์สินของนายศุภชัยไม่ให้ถูกอายัด และเงินที่นำมาซื้อ อาจจะเป็นเงินที่นายศุภชัยยักยอกมาจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น การรับซื้อที่ดินดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายรับของโจรและร่วมกันฟอกเงิน
เจ้าพนักงาน ปปง.ยังเห็นว่า น.ส.อลิสาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนพ่อคือนายอนันต์
ในชั้นนี้ น.ส.อลิสาและนายอนันต์ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ปปง.ให้เวลา 90 วัน ในการแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าซื้อที่ดินจากนายศุภชัยโดยสุจริต หากพิสูจน์ไม่ได้ ต้องถูกยึดที่ดินให้ตกเป็นของแผ่นดิน และ น.ส.อลิสา รวมถึงนายอนันต์ จะถูกดำเนินคดี ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ต่อไป
ในบรรดาคดีทั้งหมด 13 คดีอันเกี่ยวเนื่องกับการยักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นของนายศุภชัย เป็นคดีเกี่ยวกับการรับของโจรและฟอกเงิน 9 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีร่วมกับนายศุภชัยหลายคน เพราะมีชื่อเป็นผู้รับเช็ค และทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีมูลค่าหลายสิบ หลายร้อยล้าน ไปจนถึงพันล้าน จากนายศุภชัย
หนึ่งในบรรดาที่ถูกกล่าวหาว่ารับของโจรและร่วมกันฟอกเงินคือ ธัมมชโย ซึ่งรับเช็คมูลค่า 1,400 ล้านบาท ของนายศุภชัยไป
เป็นที่ทราบกันดีว่า นายอนันต์ เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธา ในคำสอนของธรรมกาย ถึงขั้นเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป “ปิดบัญชี” ไปเลย เพื่อนำเงินมา “ซื้อบุญ” จากธัมมชโย ฐานะที่ร่ำรวยขั้นอภิมหาเศรษฐีของเขา ทำให้ได้สิทธิพิเศษเข้าถึงและจ่อประตูสวรรค์อยู่ในชั้นบนสุดของเครือข่ายขายบุญของธรรมกาย
ความเชื่อ ความศรัทธา ในธรรมกายของนายอนันต์ เป็นสิทธิส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับใคร แต่การมีพฤติกรรมต้องสงสัยว่า พัวพันกับขบวนการฉ้อโกงของนายศุภชัย จนถูก ปปง. อายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว เป็นเรื่องกฎหมายบ้านเมือง ที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ไม่ได้ทำผิด หากผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี
คดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นอาชญากรรมเศรษกิจที่ร้ายแรงที่สุดคดีหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะมีทรัพย์สินคือเงินฝากของสมาชิกมูลค่าถึง 21,000 ล้านบาท ถูกนายศุภชัย ยักยอกออกไป มีผู้ได้รับความเสียหาย คือ สมาชิกสหกรณ์ถึง 50,000 คน
คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลาง มีเงินออมอยู่บ้าง ก็นำมาฝากสหกรณ์ เป็นการลงทุนเพื่อได้ผลตอบแทนไว้ใช้สอยในยามชรา แต่ความฝันต้องสูญสลายไปพร้อมกับเงินที่เก็บออมรอมริบมาทั้งชีวิต ด้วยน้ำมือของเครือข่ายอาชญากร ที่มีนายศุภชัย เป็นตัวเปิด โชว์หน้าให้เห็น
ใครก็ตามที่มีส่วนในการปล้นทรัพย์ของสมาชิก สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนไหน นอกจากผิดกฎหมาย ยังบาปมหันต์ เป็นบาปที่ไม่อาจหักกลบลบหนี้ ด้วยบุญที่ใช้เงินซื้อมาเก็บสะสมไว้
สำหรับนายอนันต์ นอกเหนือจาก ความเป็นศิษย์เอก ผู้ใกล้ชิดธัมมชโย ที่พัวพันกับเครือข่ายยักยอก ฟอกเงิน รับของโจร อันเนื่องมาจากคดีสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นแล้ว เขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานกรรมการ บริษัทมหาชน ในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮาส์ บริษัท โฮม โปร และที่สำคัญคือ แอล เอช แบงก์ หรือธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ที่หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจคือ ความไว้วางใจของผู้ใช้บริการ
การตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่า อาจเป็นหนึ่งในเครือข่ายอาชญากรรมเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุด ของสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งอาจเกี่ยวโยงมาถึงตัวเองด้วย ถึงขึ้นถูก ปปง. อายัดทรัพย์ไว้ก่อน จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อ หลักการธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ของกิจการในตลาดทุนและตลาดเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้