xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

111 ปีชาตกาล พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"

พุทธทาส จักอยู่ไป ไม่มีตาย แม้ร่างกาย จะดับไป ไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็น ร่างกายไป ไม่ลำเอียง นั่นเป็นเพียง สิ่งเปลี่ยนไป ในเวลา
พุทธทาส คงอยู่ไป ไม่มีตาย ถึงดีร้าย ก็จะอยู่ คู่ศาสนา
สมกับมอบ กายใจ รับใช้มา ตามบัญชา องค์พระพุทธ ไม่หยุดเลย
พุทธทาส ยังอยู่ไป ไม่มีตาย อยู่รับใช้ เพื่อนมนุษย์ ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ ตามที่วาง ไว้อย่างเคย โอ้เพื่อนเอ๋ย มองเห็นไหม อะไรตาย ฯ

พระธรรมโกษาจารย์ หรือ ที่รู้จักกันในนาม พุทธทาส ภิกขุ (เงื่อม อินทปัญโญ) เกิดที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 มรณภาพวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536

ในการประชุมที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ประกาศยกย่อง พระธรรมโกษาจารย์ พุทธทาสภิกขุ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ในวาระครบชาตกาล 100 ปี

ในการแสดงปาฐกถาเรือง 100 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม และวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ) เจ่าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าคณะภาค 2 และกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งขณะนั้น ยังมีสมณศักดิ์ เป็น พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า

การที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องท่านอาจารย์พุทธทาสว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกย้ำเตือนถึงความจริงของบทกลอนของท่านพุทธทาสที่ว่า “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” ผลงานของท่านนอกจากจะไม่ตายไปจากความทรงจำของชาวพุทธแล้ว ยูเนสโกยังประกาศยกย่องท่านพุทธทาสไปทั่วโลก

เราอาจตั้งคำถามว่า ทำไมท่านพุทธทาสจึงได้รับยกย่องจากยูเนสโก เขามองท่านพุทธทาสอย่างไร

ท่านพุทธทาสเป็นพระนักเผยแผ่ที่มีผลงานมากที่สุด ในบรรดาพระนักเผยแผ่ในเมืองไทย ท่านพุทธทาสผลิตหนังสือมากที่สุดในบรรดาพระนักเผยแผ่ในเมืองไทย หนังสือชุดธรรมโฆษณ์ของท่านพุทธทาสเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ เฉพาะคำบรรยายของท่านพุทธทาสที่เก็บบันทึกเสียงเอาไว้ยังไม่ได้ถอดเป็นหนังสือยังมีมหาศาล

ท่านพุทธทาสมีคำสอนกว้างไพศาลได้รับการยกย่องทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ในเมืองไทยได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒ ชาวอเมริกันชื่อสแวเรอร์ได้ยกย่องท่านพุทธทาสเป็นอัจฉริยะทางศาสนา (Religious Genius) นักการศึกษาทางศาสนายกให้ท่านเป็นอัจฉริยะ ชาวต่างประเทศมาแปลผลงานของท่านเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย...

ผลงานของท่านที่หลากหลายมาก ท่านพุทธทาสศึกษาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ท่านเรียนรู้พระพุทธศาสนานิกายเซ็นแล้วก็นำเอามาเทียบกับพุทธศาสนาฝ่ายของเรา ท่านยังรู้เรื่องศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้งอีกด้วย เคยปาฐกถาเปรียบเทียบพระพุทธศาสนากับศาสนาคริสต์ คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะทางศาสนา

เวลาที่ยูเนสโกจะยกย่องใครเป็นบุคคลสำคัญ เขายกย่องทั้งตัวบุคคลและผลงาน ว่าบุคคลนี้เป็นผู้สร้างความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ

ตรงนี้แหละคือประเด็นที่ยูเนสโกใช้เป็นกรอบในการยกย่องบุคคลสำคัญ

ท่านพุทธทาสมีผลงานที่เข้ากันได้กับมาตรฐานที่ยูเนสโกกำหนดไว้ คือท่านมีผลงานดีเด่นในมิติทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมมีสองอย่าง ได้แก่วัฒนธรรมทางวัตถุกับวัฒนธรรมทางจิตใจ ท่านพุทธทาสส่งเสริมวัฒนธรรมทางจิตใจและก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระดับโลก ที่สำคัญก็คือ เป็นไปเพื่อสันติภาพโลก

นี่คือมาตรฐานที่สหประชาชาติตั้งไว้ ในคำประกาศยกย่องที่ยูเนสโกยกย่องใครให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า worldwide significance แปลว่า มีความสำคัญระดับโลก และมีอีกคำหนึ่งว่า Eminent personality แปลว่าเป็นบุคคลที่โดดเด่น

ยูเนสโกพูดถึงท่านพุทธทาสต่อไปอีกว่า ท่านได้เดินทางออกจากวัดในกรุงเทพฯ ไปค้นหาวิธีบูรณาการพุทธธรรมเข้ากับโลกปัจจุบัน โดยที่ไม่ทิ้งคำสอนที่เป็นแก่นแท้ดั้งเดิมในพระพุทธศาสนา นักเทศน์โดยทั่วไปที่ประยุกต์คำสอนเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ดีมักไม่ใส่ใจพุทธธรรมดั้งเดิม ส่วนผู้ที่ศึกษาธรรมอย่างลึกซึ้งก็มักพูดประยุกต์ธรรมไม่เป็น

ท่านพุทธทาสกลับสู่รากเหง้าแห่งพุทธธรรมในพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องอริยสัจสี่ เรื่องนิพพานและจิตว่าง นี่คือแก่นพุทธศาสน์แล้วนำเรื่องเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและปัญหาสังคม นี่คือจุดเด่นในการเผยแผ่ของท่านพุทธทาส

นักเผยแผ่ธรรมบางท่านพูดเรื่องธรรมได้ลึกซึ้งแต่ไม่สามารถจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ นักเผยแผ่ธรรมบางท่านพูดประยุกต์ได้สนุกสนาน แต่ธรรมไม่ลึกซึ้ง ท่านพุทธทาสให้ทั้งธรรมที่ลึกซึ้งและการบูรณาการเข้ากับชีวิตปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น