xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตของพรรคการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต




ในบรรดาความล้มเหลวหลายประการของการสถาปนาจัดตั้งองค์การทางการเมืองเพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยของในสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ ความล้มเหลวของการทำให้ “พรรคการเมือง” กลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีประสิทธิผลในการบริหารประเทศ

เมื่อใดก็ตามที่มีการสำรวจความไว้วางใจของประชาชนต่อสถาบันทางสังคมการเมือง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเสมอจนแทบกลายเป็นแบบแผนคือ พรรคการเมืองมักจะได้รับคะแนนความไว้วางใจต่ำกว่าสถาบันทางสังคมการเมืองอื่นๆ เสมอ

เหตุผลหลักคือประชาชนมองว่าพรรคการเมืองมีแนวโน้มตัดสินใจและกระทำเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของผู้นำพรรคและกลุ่มนายทุนของพรรคมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน การก่อตัวของเหตุผลแบบนี้ย่อมมีความจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนประชาชนสามารถสัมผัสได้ และนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มทุน มากกว่าเป็นเครื่องมือของประชาชน

มีความเชื่ออย่างหนึ่งดำรงในสังคมไทยอย่างยาวนานว่า ประชาชนไม่นิยมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง แต่ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาความเชื่อเช่นนี้ได้ถูกหักล้างลงไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยหลักฐานปรากฏให้เห็นว่า มีประชาชนจำนวนมากที่พร้อมเสียสละทรัพยากร เงิน แรงกาย แรงใจ และแรงปัญญา เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่พวกเขาคิดว่าเป็นกิจกรรมที่จะสามารถขจัดความไม่ถูกต้องทางการเมืองให้หมดไป ดังการบริจาคเงินและการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของผู้คนนับล้านคนในหลายวาระหลายโอกาสเพื่อขับไล่รัฐบาลที่บริหารประเทศผิดพลาดและขาดความชอบธรรม

บางคนอาจคิดว่ากิจกรรมทางการเมืองในเชิงการต่อต้านสิ่งไม่ถูกต้องมีพลังในการปลุกเร้าผู้คนให้เสียสละมากกว่ากิจกรรมเชิงการพัฒนาและสร้างสรรค์ เพราะว่าคนตระหนักในสิ่งที่เป็นวิกฤติมากกว่าจะตระหนักในเรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นความจริงอยู่บ้าง ดังนั้นโจทย์สำคัญทางการเมืองอย่างหนึ่งก็คือ การแสวงหาแนวทางในการเชื่อมโยงสำนึกแห่งการพัฒนาและสำนึกแห่งวิกฤติเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเมืองในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

แนวทางหนึ่งการเข้าร่วมพัฒนาการเมืองเชิงสร้างสรรค์คือการเข้าร่วมในการดำเนินงานทางการเมืองผ่านพรรคการเมืองนั่นเอง แต่การทำให้ประชาชนคิดว่าพวกเขาสามารถทำงานทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ผ่านพรรคการเมืองได้มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ การปรับภาพลักษณ์และเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นรูปแบบใหม่ก่อน

การออกแบบโครงสร้างองค์การ การบริหารและการดำเนินงานของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือของประชาชนเป็นภารกิจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เราลองมาสำรวจเค้าโครงความคิดและสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ที่ กรธ.แถลงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ว่ามีอะไรบ้างและสิ่งเหล่านั้นจะส่งผลต่อพรรคการเมืองอย่างไรในอนาคต

เรื่องแรกคือจุดเริ่มต้นของการเกิดพรรคการเมืองคือ การกำหนดสมาชิกผู้ก่อตั้งซึ่งต้องมีการรวบรวมคนให้ได้ 500 คนและมีเงินประเดิมอย่างน้อยคนละ 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อให้ทุนประเดิมในการจัดตั้งพรรคการเมืองมี 1 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินต้องมีบัญชีเปิดเผยจดทะเบียนกับนายทะเบียนพรรคการเมือง และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ถามว่าเงื่อนไขนี้เป็นอุปสรรคต่อพรรคนายทุนหรือไม่ ตอบว่าไม่เป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย เพราะหากนายทุนประสงค์จะจัดตั้งพรรค ก็สามารถลงทุนเงิน 1 ล้านบาท แล้วให้พรรคพวกไปหาคนรู้จักให้ครบ 500 คน จากให้ก็ออกเงินให้คนละ 2,000 บาทเพื่อเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง ถึงแม้ว่าในร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองจะมีบทลงโทษถึงจำคุกแก่ผู้ที่ให้เงินผู้อื่นเพื่อจูงใจให้เข้าเป็นสมาชิกพรรค หรือผู้ที่ยอมรับเงินผู้อื่นในการเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค แต่ผมคิดว่ามาตรการนี้บรรดานักการเมืองทั้งหมดสามารถหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากนัก ดังนั้นเงื่อนไขนี้จึงไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนักกับกลุ่มทุนในการจัดตั้งพรรคการเมือง

แต่จะส่งผลกระทบกับกลุ่มนักฉวยโอกาสทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่นิยมตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นแหล่งทำมาหากิน ทั้งที่ตั้งเอาไว้เพื่อขายหัวพรรคให้กับนายทุน หรือตั้งพรรคเพื่อจะได้เข้าถึงทรัพยากรและงบประมาณของรัฐที่จัดสรรให้พรรคการเมืองผ่านกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองที่ กกต. ดูแลอยู่

รวมทั้งส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ชาวนา และผู้ใช้แรงงานที่ประสงค์จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามการแข่งขันทางการเมือง เพราะสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้นเงินจำนวน 2,000 บาทถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว ดังนั้นในแง่นี้มาตรการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยเอาจำนวนเงินเป็นเกณฑ์จึงเสมือนเป็นการกีดกันทางสังคม (social exclusion) อย่างหนึ่งนั่นเอง

เงื่อนไขถัดมาคือ ภายในปีแรกพรรคการเมืองต้องหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน และภายใน 4 ปีจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 20,000 คน มีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องมีสมาชิกพรรคที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่อย่างน้อย 500 คน และในช่วงดังกล่าวหากทำตามเงื่อนไขไม่สำเร็จ จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ และหากผ่านพ้นระยะเวลา 4 ปี ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ กกต.มีสิทธิ์เสนอให้พรรคดังกล่าวสิ้นสภาพไป

สำหรับเงื่อนไขที่สองนี้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้พรรคการเมืองดำเนินงานทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง และเป็นพรรคที่มีการกระจายตัวของสมาชิกในทุกภูมิภาค เงื่อนไขนี้ผมคิดว่า กรธ.คงต้องการป้องกันมิให้พรรคการเมืองเป็นพรรคของภูมิภาคหรือพรรคประจำจังหวัดนั่นเอง

เงื่อนไขนี้จะทำให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง ประเภทพรรคจังหวัด พรรคฉวยโอกาส พรรคหากิน ซึ่งมีเงินทุนจำกัดและขาดความมุ่งมั่นในการทำงานการเมืองต้องล้มหายตายจากไปไม่น้อย และแม้แต่พรรคเฉพาะกิจ ที่อาจมีเงินทุนมาก ก็จะอยู่ได้ไม่นาน พรรคที่จะอยู่รอดได้มีแนวโน้มเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่มีเงินทุนมาก มีเครือข่ายหัวคะแนน และเครือข่ายสมาชิกกว้างขวาง สำหรับพรรคขนาดเล็กที่มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นทำงานการเมืองอย่างจริงจังอาจหลงเหลืออยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม กรธ. มีความพยายามที่ขยายองค์ประกอบของคณะผู้ตัดสินใจในการส่งบุคคลสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองขึ้นมา ในอดีตอำนาจการกำหนดว่าใครจะสมัครเป็นส.ส.ของพรรคได้หรือไม่นั้นรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคไม่กี่คนที่กุมอำนาจภายในพรรค แต่คณะกรรมการสรรหาฯในร่างพ.ร.บ.ใหม่นี้ได้กำหนดให้มีการผสมผสานระหว่างกรรมการบริหารพรรคและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอย่างละครึ่ง เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้สมัครในนามพรรค วิธีการนี้เป็นความพยายามในการลดอำนาจผูกขาดของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคนั่นเอง

ด้านบวกคือหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จภายในพรรค แต่ผลด้านลบที่อาจเกิดขึ้นคือทำให้ผู้สมัครที่มีอิทธิพลในจังหวัดซึ่งกุมตัวแทนระดับจังหวัดได้มีอำนาจการต่อรองกับกรรมการบริหารพรรคมากขึ้น และทำให้สมาชิกหน้าใหม่ที่มีความสามารถมีความลำบากมากขึ้นในฝ่าด่านอิทธิพลระดับจังหวัดเพื่อเสนอตัวเป็นผู้สมัครในนามพรรค

ยิ่งกว่านั้นในร่างพ.รบ.ฉบับนี้ยังได้กำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดไว้หลายประการและมีความรุนแรงของบทลงโทษค่อนข้างสูง สิ่งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในทัศนะของผู้ร่างฯ การกระทำความผิดทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อความเสียหายของประเทศชาติเป็นเรื่องที่ไม่อาจอภัยได้และจะต้องลงโทษอย่างเด็ดขาดและรุนแรง

เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับนี้จึงเป็นภาพสะท้อนของการตึงและเข้มของสังคมในการควบคุมพรรคการเมืองและนักการเมือง หากร่างนี้ผ่านสนช. ผมคิดว่าในอนาคตคงจะเหลือพรรคการเมืองไม่มากนัก และคงมีคนอยากเป็นนักการเมืองน้อยลง เพราะว่าความเสี่ยงที่พวกเขาจะต้องเผชิญมีมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับประชาชนทั่วไปผมคิดว่าเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองมิได้สนับสนุน หรือทำให้พวกเขาอยากเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างสร้างสรรค์แต่อย่างใด หากแต่กลับทำให้เกิดความรู้สึกหวาดผวาเสียมากกว่า เพราะหากพลาดพลั้งไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ละเอียดรอบคอบในการดำเนินงานก็มีโอกาสคิดคุกได้ง่ายๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น