ประธาน กรธ.เผยขอ 2 วัน ปรับร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ก่อนเผยแพร่รับความคิดเห็น ปชช. แจงให้เวลาพรรคการเมืองจัดระเบียบภายใน 5 เดือนไม่เกิน 3 ปี ช่วงปรับตัวห้ามส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่พรรคใดสมาชิกไม่ตามกำหนดส่อถูกยุบ พร้อมสวนแนวคิด “วิษณุ” เชื่อพรรคเสียงข้างมากต้องเป็นรัฐบาล
วันนี้ (24 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ฝ่ายเลขานุการ กรธ.ได้นำเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองไปปรับแก้ไขถ้อยคำบางประเด็นให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ คาดว่าภายใน 1-2 วันจะได้ข้อยุติ และเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนส่งความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมมายัง กรธ.ให้ปรับปรุงเนื้อหาให้ดีกว่าฉบับที่จัดทำเป็นเบื้องต้น ขณะที่เนื้อหาเบื้องต้นที่ปรับปรุงไปแล้ว คือ การจัดตั้งพรรคการเมืองและระยะเวลาหาสมาชิกพรรคจากเดิมที่กำหนดให้พรรคหาสมาชิกพรรคให้ได้จำนวน 5,000 คนภายใน 1 ปี แต่มีผู้ท้วงติงว่าจำนวนน้อยเกินไป กรธ.จึงปรับว่าให้พรรคหาสมาชิกให้ได้ 20,000 คนภายในระยะเวลา 4 ปี นอกจากนั้นแล้วยังมีบทบัญญัติที่ให้สิทธิผู้ก่อตั้งพรรค และสมาชิกพรรคฯ เข้ามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรค ด้วยการจ่ายค่าสมาชิกพรรค ขณะที่พรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่ซึ่งกำหนดให้มีผู้ริเริ่ม 500 คนนั้น กำหนดให้ต้องจ่ายเงินเป็นทุนประเดิม จำนวน 2,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และให้สิทธิผู้ที่จ่ายเงินดังกล่าวต้องเข้าไปมีส่วนร่วมการกำกับพรรคการเมืองและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ขณะที่การบริจาคเงินของบุคคลทั่วไปนั้น สามารถทำได้ แต่กำหนดตัวเลขให้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และต้องมีการเปิดเผยรายชื่อและจำนวนเงินที่บริจาคด้วย
นายมีชัยกล่าวด้วยว่า มีประเด็นสำคัญที่ กรธ.ต้องการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง คือ บทที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องปรับปรุงระบบสมาชิกพรรค โดยเบื้องต้น กรธ.กำหนดให้พรรคการเมืองทั้งที่ดำเนินการปัจจุบันปรับปรุงระบบสมาชิกภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือนหากทำไม่แล้วเสร็จภายในเวลาดังกล่าวสามารถขยายเวลาได้ แต่ต้องจำนวนรวมไม่เกิน 3 ปี โดยระหว่างนั้นที่ยังทำไม่แล้วเสร็จพรรคไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายยังให้การรองรับสมาชิกพรรคการเมืองของพรรคที่ทำกิจกรรมอยู่ในปัจจุบัน โดยจะไม่รื้อระบบใดๆ เพียงแต่พรรคการเมืองต้องจัดทำระบบ โดยเฉพาะการเก็บค่าสมาชิกพรรคการเมือง ตามที่ข้อบังคับพรรคการเมืองกำหนด ทั้งนี้ตนมองว่าการทำระบบสมาชิกพรรคให้ทันสมัยนั้นไม่เป็นปัญหา ยกเว้นบางพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคไม่ครบจำนวนและเข้าข่ายที่จะถูกยุบพรรค
“รายละเอียดของเนื้อหาที่เขียนไว้จะระบุส่วนที่พรรคการเมืองเก่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ซึ่งจะระบุลำดับและขั้นตอนไว้ ให้ทำอะไรภายในกี่วัน โดยจะบอกหมด ประเด็นนี้ กรธ.จะนำไปรับฟังความเห็นพรรคการเมืองว่าระยะเวลาที่ให้นั้น สั้นไปหรือยาวไป หรือควรปรับแก้ไขอย่างไร ซึ่งเราจะปรับแก้ไขให้ ไม่ฝืนใจ” นายมีชัยกล่าว
ประธาน กรธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับปฏิทินทำร่างกฎหมายลูกของ กรธ.นั้นยังเป็นไปตามโรดแมป ส่วนการกำหนดการเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะกำหนด โดยพิจารณาจากการทำร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี การกำหนดช่วงเลือกตั้งนั้นจะขึ้นอยู่กับ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองและการเตรียมระบบของพรรคให้ครบถ้วน เช่น กรณีที่ให้เวลาพรรคทำระบบสมาชิกพรรคภายใน 150 วัน แต่เมื่อทำไปได้เพียง 120 วัน กลับประกาศเลือกตั้ง แบบนี้ก็เจ๊ง เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถส่งสมัครเลือกตั้งได้ ดังนั้นต้องพิจารณาการทำงานให้เสร็จด้วย ซึ่งกฎหมายลูกนี้สามารถปรับเวลาได้ แต่ไม่ได้ปรับเพื่อถ่วงการเลือกตั้ง แต่ปรับเพื่อให้ทำงานได้
นายมีชัยยังให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจทำให้พรรคเสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาล ว่า กรณีดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างคะแนนนิยมของประชาชนที่ให้กับพรรคการเมือง กับการเลือกตั้ง ส.ส.เขต ซึ่งตนมองว่ากรณีที่นายวิษณุระบุนั้น ในประเทศไทยเป็นไปได้ยาก เพราะของประเทศไทย จะมี ส.ส.เป็นผู้โหวตเลือกผู้นำรัฐบาล และพรรคเสียงข้างมากในสภาฯ จะได้เป็นรัฐบาล แต่หากเกิดกรณีที่พรรคเสียงข้างมากเลือกบุคคลอื่นมาเป็นนายกฯ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้