xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยเล็งยกเครื่องกกต.จังหวัดพ้นอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างฯ ได้ร่างกม.พรรคการเมืองเสร็จแล้ว ส่วนคอนเซ็ปต์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ขอให้นำเข้าที่ประชุมกรธ. ผ่านการถกเถียงกันก่อน ขณะที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้พิจารณาแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่ถึงกกต.จังหวัด แต่คิดว่าคงมีการปรับเปลี่ยนทั้ง ชื่อ วิธีการได้มา และบทบาท เพื่อทำให้ขาดอิทธิพลจากการเมืองท้องถิ่นให้ได้ อาจไม่เรียกว่า กกต.จังหวัด แต่จะเรียกว่าอย่างไร เป็นเรื่องที่ กรธ.จะคิดกันต่อ และที่สำคัญจะไม่ให้มีลักษณะอย่างที่ผ่านมาที่ กกต.จังหวัด เป็นที่ครหานินทา ซึ่งกรธ.จะทำให้ดีขึ้น
ส่วนข้อเสนอที่ให้นักศึกษาช่วยดูแลหน่วยเลือกตั้งนั้น กรธ.กำลังดูว่าจะเอามาอบรมอย่างไร เมื่อมีคนเสนอ กรธ.ก็รับไว้พิจารณา และนำมาขยายผลดูว่าทำได้อย่างไร ถ้าผลเสียมากกว่าผลดีก็ไม่เอา
อย่างไรก็ตาม การพิจารณากม.ลูกทั้ง 2 ฉบับนี้ จะแล้วเสร็จสิ้นเดือนต.ค.หรือ ต้นเดือนพ.ย.นี้ เพื่อส่งให้สนช.พิจารณาต่อไป
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอให้ภาคประชาสังคมเข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง นายมีชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้รับการอบรบมาเป็นอย่างดี แต่การสืบสวนสอบสวน ยังทำไม่ค่อยดีเท่าที่ควร หากนำภาคประชาสังคมซึ่งไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ไปสอบสวน ใครจะรับผิดชอบ เพราะต้องคำนึงด้วยว่าปฏิบัติได้จริงหรือไม่ คนเสนออาจจะมั่นใจว่าภาคประชาสังคม จะไม่กลั่นแกล้งใคร แต่จะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมหรือไม่ เพราะหากสอบสวนแล้วยกฟ้องทั้งหมด ก็จะแย่
ด้านนายโฆษิต สุวินิจจิต กรรมการและประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอการจัดทำร่าง พ.ร.ป. จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้ว่าซึ่งส.ว. โดยมีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรธ. คนที่ 2 เป็นผู้มารับหนังสือ
นายโฆษิต กล่าวว่า ทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองใน 5 ประเด็น คือ 1. การจัดตั้งพรรคการเมืองควรยึดหลักตาม ม. 45 ของร่างรธน.ที่ให้เสรีภาพบุคคลในการจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ควรมีบุคคลเป็นจำนวนมาก 2. กกต.ควรเน้นบทบาทในการส่งเสริม สนับสนุนพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกันมากกว่าตรวจสอบพรรคการเมือง 3. กกต.หรือหน่วยงานใด ไม่ควรเป็นผู้ควบคุมหรือตรวจสอบนโยบายในการหาเสียงของพรรค เพราะพรรคการเมืองต้องเป็นผู้วิเคราะห์ผลกระทบ และรับความเสี่ยงเอง 4. การส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง ควรให้สมาชิกทุกคนในพรรคมส่วนร่วม และไม่ควรออกกฎหมายเพื่อเพิ่มภาระให้กับพรรคโดยไม่จำเป็น 5. การยุบพรรคการเมือง ควรกำหนดให้เป็นหลักการให้ยุบได้ยาก ยกเว้น พรรคที่มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย และควรแยกความผิดระหว่างส่วนบุคคลกับส่วนรวมให้ชัดเจน
สำหรับข้อเสนอร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต.นั้น ทางสมาคมฯเห็นว่า กกต.ควรมีการบริหารในลักษณะองค์คณะ ที่ใช้อำนาจร่วมกัน และควรคง กกต.จังหวัดไว้ แต่ให้ปรับลดบทบาทหน้าที่ ไม่ให้เกี่ยวข้องกับการทำงานสืบสวนสอบสวน และควรเน้นให้ภาคประชาสังคมช่วยเหลือกกต.ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.นั้น ทางสมาคมฯเห็นว่า การกำหนดกลุ่มอาชีพ ต้องสะท้อนวิชาชีพเท็จจริง และควรทำให้เกิดความสมดุลทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งจำนวนกลุ่มและจำนวนคน และควรมีหลักประกันไม่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้แนะนำตัวเอง ประวัติ และบทบาทหน้าที่ เพื่อให้สามารถพิจารณาเลือกบุคคลได้อย่างเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น