xs
xsm
sm
md
lg

กกต.คาด กม.ลูกเสร็จต้น ก.ย. ชงตั้ง-ยุบยากเพื่อพรรคเข้มแข็ง นโยบายต้องวิเคราะห์เสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขากกต.ในฐานะรักษาการเลขาธิการกกต. (แฟ้มภาพ)
รองเลขาฯ กกต.คาดต้น ก.ย.ร่าง กม.ลูกเกี่ยวกับเลือกตั้ง 5 ฉบับเรียบร้อย คณะทำงานฯ ชงร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยึดตามปี 24 ตั้งยากยุบยากเพื่อสร้างพรรคการเมืองเข้มแข็ง พร้อมกำหนดหากพรรคไม่เเสนอผลวิเคราะห์ความคุ้มค่า ความเสี่ยงนโบายพรรค กก.บห.มีสิทธิถูกนายทะเบียนสั่งพ้นจากตำแหน่ง เมินเซตซีโร่ คาดโดนต้านเหตุเอื้อแต่พรรคใหญ่

วันนี้ (15 ส.ค.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งของสำนักงานฯ ว่า กกต.ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประสานงานการยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องขึ้น โดยมี พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานในทุกด้านกิจการร่วมเป็นกรรมการขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง, ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว., ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่แต่ละด้านกิจการได้ยกร่างเสนอ โดยขณะนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองคณะทำงานได้พิจารณาใกล้เสร็จสิ้นแล้ว และจะเริ่มมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นลำดับต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อคณะทำงานพิจารณาฉบับใดแล้วเสร็จก็จะมีการเสนอต่อที่ประชุม กกต.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป และคาดว่าทั้ง 5 ฉบับคณะทำงานจะสามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จภายในไม่เกินต้นเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงาน กกต.ยังไมได้รับการประสานอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับ มีแต่เป็นการประสานภายในให้มีการเตรียมการเอาไว้ ทาง กกต.จึงได้ให้แต่ละด้านกิจการยกร่างกฎหมายเอาไว้ โดยให้ยึดตามร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก พร้อมกับให้มีการนำข้อเสนอของ สปท.และ สนช.ในการปฏิรูปการเมืองด้านต่างๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองที่คณะทำงานพิจารณาแล้ว เบื้องต้นมีการกำหนดให้ การจัดตั้งพรรคการเมืองใช้แนว พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2524 ที่มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกจะต้องมีการยื่นขออนุญาตจดจัดตั้งพรรคการเมืองโดยบุคคล 15 คน จากนั้นจึงมีการไปหาสมาชิกพรรคจากภาคต่างๆ มาให้ได้ครบ 5 พันคนก่อน ขั้นตอนที่ 2 เมื่อได้ครบ 5 พันคนจึงมีการประชุมเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหรพรรค และจะมาจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองแล้วจึงจะสามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ ขณะที่การส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรค มีการกำหนดให้เป็นสาขาพรรคเป็นผู้เสนอ การยุบพรรคจะกำหนดเฉพาะกรณีมีการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อการความมั่นคงและการปกครอง ขณะเดียวกันก็จะมีการกำหนดให้การประกาศโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนได้รับทราบ หากไม่มีการดำเนินการนายทะเบียนพรรคการเมืองอาจสั่งให้กรรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งได้ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (3) หมวดการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีกลไกความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่าและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน

ส่วนประเด็นที่จะให้มีการยุบพรรคการเมืองที่ดำเนินการกิจการอยู่ในขณะนี้ 71 พรรคแล้วเริ่มต้นจดทะเบียนกันใหม่ หรือเซตซีโร่ กกต.ไม่ได้มีการเขียนกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม หลักการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ยึดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2524 แม้ กกต.จะมองว่าเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง จึงจำเป็นต้องให้พรรคการเมืองจัดตั้งได้ยากยุบยาก แต่ก็ยอมรับว่าอาจเกิดแรงต้านเพราะจะทำให้มีแต่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคการเมืองขนาดเล็กจะถูกลดลงหรือหมดไปในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น