xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติมอบอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การที่ผู้ลงประชามติส่วนใหญ่เห็นชอบกับคำถามพ่วง ซึ่งเป็นการมอบอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้แก่วุฒิสมาชิกสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามการเมืองอยู่ไม่น้อย เพราะวุฒิสมาชิกชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2559 จะมาจากการคัดสรรของ คสช. ซึ่งเท่ากับว่า คสช.มีส่วนร่วมทางอ้อมต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในอนาคตนั่นเอง

ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนว่า ประชาชนจำนวนมากมีแนวโน้มไม่ไว้วางใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้อำนาจเพียงลำพังเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

เหตุผลที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ ส.ส. เกิดจากพฤติกรรมการทุจริตในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาของนักการเมือง กล่าวได้ว่า ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ซึ่งประชาชนเสียสละชีวิตต่อสู้ช่วงชิงอำนาจการเมืองมาจากทหารและมอบให้นักการเมืองใช้ในนามพวกเขา แต่นักการเมืองจำนวนมากกลับใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบและสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองเหลือคณานับ ความหวังของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองก็เสื่อมคลายลงไป

นอกจากสิ้นหวังต่อนักการเมืองแล้ว ประชาชนก็ยังสิ้นหวังต่อการเลือกตั้งด้วย เพราะนักการเมืองบางส่วนได้ทำลายคุณค่าและความหมายของการเลือกตั้งลงไปแทบหมดสิ้น การเลือกตั้งบิดเบือน บั่นทอน และกลายเป็นเครื่องมืออันบิดเบี้ยวในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง จนกระทั่งประชาชนไม่อาจทนรับสภาพได้อีกต่อไป พวกเขาจึงปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จก่อนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

ทว่า ประชาชนไม่มีพลังอำนาจเพียงพอในการทำให้นักการเมืองยอมจำนนและยอมรับข้อเสนอการปฏิรูปของพวกเขา ท้ายที่สุดทหารก็ได้ออกมาควบคุมและยึดอำนาจจากนักการเมือง ท่ามกลางความโล่งใจระคนความเสียดายของประชาชน

ที่โล่งใจก็เพราะการบริหารบ้านเมืองจะได้ปลอดนักการเมืองทุจริตไปสักระยะหนึ่ง แต่ที่เสียดายก็เพราะประชาชนยังไม่มีพลังอำนาจเพียงพอในการควบคุมอำนาจและกลไกรัฐราชการด้วยตนเอง สังคมและระบบราชการยังให้การยอมรับอำนาจการนำของทหารมากกว่าอำนาจนำของประชาชน

ภายหลังยึดอำนาจ รัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาบริหารประเทศ แม้ว่าจะถูกต่างชาติโดยเฉพาะประเทศตะวันตกวิจารณ์และต่อต้าน แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลทหารได้บริหารประเทศได้มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้หลายอย่าง ทั้งยังวางแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกหลายประการ และที่สำคัญคือมีการใช้อำนาจบริหารดำเนินการกับข้าราชการ พนักงานของรัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีข่าวพัวพันกับการทุจริตอย่างกว้างขวาง ซึ่งเหตุการณ์การจัดการกับการทุจริตเหล่านั้น แทบไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากนักการเมือง

ประชาชนจำนวนมากชื่นชอบผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ จึงทำให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา จนมีคนจำนวนไม่น้อยประสงค์ให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหลายปี แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่คิดแตกต่างออกไปและประสงค์ให้นักการเมืองกลับเข้ามาบริหารประเทศอีก

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญตามประเพณีของรัฐสมัยใหม่ที่ต้องมีกฎหมายสูงสุดในการบริหารปกครองประเทศ ผู้ร่างและประชาชนจำนวนหนึ่งประสงค์ให้นำไปลงประชามติเพื่อตัดสินว่า รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. ก็เสนอประเด็นเพิ่มเติมให้ประชาชนลงประชามติเกี่ยวกับการให้รัฐสภามีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงการเพิ่มอำนาจให้แก่วุฒิสมาชิกที่มาจากการคัดสรรของ คสช. สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในอนาคตได้นั่นเอง

ด้วยความเบื่อหน่ายและไม่ไว้วางใจนักการเมือง ผนวกกับความนิยมชมชอบทั้งบุคลิกภาพความเป็นผู้นำและการทำงานอย่างทุ่มเทนายกรัฐมนตรีทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มาลงประชามติรับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงที่มอบอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีให้แก่วุฒิสมาชิก

อำนาจการเมืองไทยในอนาคตจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน อำนาจส่วนแรกถูกมอบให้นักการเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แม้ว่าจะเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งให้แตกต่างจากเดิมเพียงใดก็ตาม แต่ตราบใดที่นักการเมืองบางส่วนยังหวังชัยชนะและใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อเอาชนะคู่แข่ง การเลือกตั้งก็ยังคงถูกทำให้พิกลพิการเหมือนเดิม ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ในอนาคตก็อาจมีพฤติกรรมแตกต่างจากอดีตไม่มากนัก

แต่การพัฒนาสังคมและการเมืองก็มีส่วนยกระดับการตระหนักรู้ทางการเมืองของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีประชาชนจำนวนมากรู้เท่าทันกลไกอันพิกลพิการของการเลือกตั้งและไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของมันด้วยเหตุนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าผลการเลือกตั้งในอนาคต จะทำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีจุดยืนทางการเมืองเพื่อประโยชน์บ้านเมืองโดยรวมได้รับการเลือกเป็น ส.ส.มากขึ้น

อำนาจส่วนที่สองถูกมอบให้ คสช. เป็นผู้ใช้ เพื่อเลือกบุคคลเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิก สำหรับกลุ่มคนที่จะถูกคัดเลือกมาเป็นวุฒิสมาชิก คาดว่าส่วนใหญ่คงมาจากเครือข่ายข้าราชการเกษียณและกลุ่มทุนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับ คสช. และอาจมีคนจากมูลนิธิและสมาคมสาธารณะประโยชน์บ้างเล็กน้อย ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับ คสช.

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในการตัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกในอนาคตจะได้รับการจับตาดูจากสังคมอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้ คสช. ต้องคัดเลือกบุคคลอย่างระมัดระวังให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากสังคม หากเลือกบุคคลที่สังคมกังขาก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และส่งผลกระทบต่อความชอบธรรม

เห็นชัดว่าภารกิจทางการเมืองอย่างหนึ่งของวุฒิสมาชิกในอนาคตก็คือ การสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2560 แต่วุฒิสมาชิกไม่อาจเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าทำการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เครือข่ายอำนาจในปัจจุบันจึงเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งมีนายไพบูลย์ นิติตะวันเป็นแกนนำขึ้นมา เพื่อหาหนทางและเอื้ออำนวยให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตามสังคมการเมืองไทยมีความซับซ้อนและมีพลวัตรสูง ส่งผลให้ความไม่แน่นอนในอนาคตสูงตามไปด้วย แผนการทั้งหลายของผู้คนเป็นสิ่งที่คิดและเตรียมการไว้ก่อนได้ แต่ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่ ไม่มีใครหยั่งรู้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น