xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติ 7 สิงหา คนไทยคิดอย่างไรกับ คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

มีผู้มาใช้สิทธิ 29.74 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 50.07 ล้านคน คิดเป็น 59.4%

เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 16.82 ล้านเสียง คิดเป็น 61.35 % ไม่เห็นชอบ 10.59 ล้านเสียง คิดเป็น 38.65 %

เห็นชอบกับคำถามพ่วง ที่ให้ ส.ว. ซึ่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งตั้ง 250 คน ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ ส.ส. เลือกตั้งในช่วง 5 ปีแรก 15.13 ล้านเสียง คิดเป็น 58.07 % ไม่เห็นชอบ 10.92 ล้านเสียง คิดเป็น 41.93 %

จำนวนผู้มาใช้สิทธิ แม้จะไม่ถึงเป้าที่ กกต. ตั้งไว้ 80 % และน้อยกว่าการเลือกตั้ง สส. ครั้งล่าสุด ที่มีผู้มาใช้สิทธิประมาณ 75 % แต่ก็มากถึง 60 % ถือได้ว่า เป็นเสียงของประชาชนส่วนใหญ่

ทั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนผู้รับรองทั้งร่าง รัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่มากกว่าผู้ไม่รับรองถึง 5 ล้านกว่าและ 4 ล้านกว่าเสียงตามลำดับ ปิดปากฝ่ายที่ประกาศตัวไม่ยอมรับ ทั้ง นักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม ที่อ้างว่า ร่าง รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากประชาชน จำกัดสิทธิ และคำถามพ่วง เป็นการสืบทอดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

เพราะนี่คือ ฉันทามติของประชาชน ที่เลือก ประชาธิปไตยครึ่งใบ ตามแนวทาง ที่ คสช. วางเอาไว้ ผ่านกลไกในร่าง รัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างโดยหนึ่งในแม่น้ำห้าสายของ คสช. คือ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วง ที่ชงขึ้นมาโดย แม่น้ำ คสช. อีกสองสาขาคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

** คนที่ลงมติรับ คงมีไม่กี่คนที่อ่านร่าง รัฐธรรมนูญ ครบทุกมาตรา เช่นเดียวกับคนที่ลงมติไม่รับ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทั้งคนรับและคนไม่รับจะเดินเข้าคูหา กาบัตร โดยไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลังเลือกอะไร และจะมีผลอย่างไรต่อประเทศชาติ**

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงประชามติ กระแสไม่รับร่าง รัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง มีสูงมาก จากการที่ฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ โดยหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอ คนที่มีชื่อเสียงที่คนส่วนหนึ่งศรัทธาเช่น นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ฯลฯ ประกาศจุดยืนไม่รับร่าง รธน. จนมีแนวโน้มว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะตกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อ คสช.

จนกระทั่ง คสช. ต้องเปิดเกมรุกในช่วงสามวันสุดท้ายก่อนวันลงประชามติ ด้วยการที่ นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ ยกทีมไปออกรายการสดทาง สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ตามมาด้วย วรรคทองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ประชาชนเลือกระหว่าง อนาคตที่ยังไม่ชัดเจน กับ อดีตที่ล้มเหลว และประกาศตบท้ายว่า ตัวเองจะรับร่าง รธน และคำถามพ่วง ขอให้ประชาชนออกไปลงประชามติให้ถล่มทลาย

คนที่ลงมติรับ ร่าง รธน และคำถามพ่วง ตัดสินใจว่า ให้บ้านเมืองเดินไปในแนวทางที่ คสช. ขีดไว้ ดีกว่าจะมอบอำนาจทั้งหมดให้นักการเมือง เหมือนที่ผ่านมา 20 ปี

ในคำปรารภ ตอนต้นของร่าง รัฐธรรมนูญ นี้ ตอนหนึ่ง ระบุสาเหตุของปัญหาบ้านเมือง ที่การปกครองไม่มีเสถียรภาพ หรือมาราบรื่น ว่า

*** “ ....แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครอง ที่ยังไม่เหมาะสมแก่ภาวการณ์บ้านเมือง และกาลสมัย ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการ ยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือมาอาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยุ่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤติที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล

.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ มีหน้าที่ ร่าง รัฐธรรมนุญเพื่อใช้เป็นหลักในการปกครอง และเป็นแนวทางในการจัดทำกฎหมายประกอบรับธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยได้กำหนดกลไกเพื่อจัดระเบียบและสร้างความเข้มแข็งแกการปกครองประเทศขึ้นใหม่ .....”***

ผลการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม ยังเป็นเสมือนการให้สัตยาบัน ของประชาชนต่อ การบริหารบ้านเมืองนับตั้งแต่การยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ของ คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อบทบาทของ พลเอก ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. และ นายกรัฐมนตรี

16 ล้าน 8 แสนเสียง จะเป็น “ ผนังทองแดง กำแพง เหล็ก “ที่ คสช. ใช้อ้างเป็นความชอบธรรมของตน

ในการแถลงผลการลงประชามติ และการดำเนินการต่อไปผ่านโทรทัศน์โครงการเฉพาะกิจ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พลเอกประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า

** “ พลังของการลงประชามติ ครั้งนี้มีความสำคัญมาก อย่างน้อยได้แสดงให้โลกรู้ว่า คนไทยคิดอย่างไรกับรัฐบาล “**


กำลังโหลดความคิดเห็น