xs
xsm
sm
md
lg

“พรเพชร” เผยอาจเพิ่ม กรธ.อีก 10 คนร่าง กม.ลูกให้ทันตามโรดแม็ป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรเพชร วิชิตชลชัย (แฟ้มภาพ)
ประธาน สนช. แจงขั้นตอนบรรจุคำถามพ่วงในร่าง รธน.ใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน เล็งเพิ่ม กรธ.อีก 10 คนเพื่อร่างกฎหมายลูกให้ทันตามโรดแม็ป ระบุตัวเลขลงประชามติใกล้เคียงปี 2550

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการลงประชามติว่า ต้องรอให้ กกต.ประกาศผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการก่อน และเนื่องจากคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะนำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อนำคำถามพ่วงบรรจุเข้าในร่างรัฐธรรมนูญ โดย กรธ.มีเวลาในการพิจารณาภายใน 30 วัน จากนั้นส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ามีความถูกต้องเป็นไปตามบริบทและ เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญหรือใม่ ภายในระยะเวลา 30 วันเช่นเดียวกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไข ก็จะส่งกลับมาให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าต้องแก้ไขก็ต้องส่งกลับให้ กรธ.แก้ไขภายในเวลา 15 วันก่อนที่ส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติเป็นผลดีต่อการเข้าใจในโรดแม็ป และการดำเนินการของ คสช.ที่นำไปสู่การเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น คนที่สงสัยอยู่จะมีความมั่นใจยิ่งขึ้น

นายพรเพชร กล่าวว่า สำหรับการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของกรธ.ในการจัดทำ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งต้องรอให้รัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน แต่ในความเห็นของตนคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอ โดย กรธ.สามารถเตรียมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปพลางๆ ก่อน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็สามารถย่นระยะเวลาในการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ กรธ.ต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 8-10 ฉบับ ซึ่งการทำให้เสร็จทั้งหมด ระยะเวลาจะคาบเกี่ยวไปถึงวันประกาศให้มีการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ในช่วงประกาศเลือกตั้งรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้น กรธ. จะต้องเร่งทำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้เพื่อให้สนช.ได้พิจารณาก่อน โดย สนช.มีเวลาในการพิจารณารวม 60 วันเท่านั้น

ส่วนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์น้อยกว่าประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน โดยการทำประชามติครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์ 54-55 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปี 2550 มีผู้มาใช้สิทธิ์ 57 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพดินฟ้าอากาศ เป็นปัจจัยทำให้ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลดลงก็ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดการเลือกตั้งจะมีเร็วขึ้น โดยเป็นปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 นายพรเพชร กล่าวว่า ตนคิดว่าให้เอาโรดแม็พเดิม บวกระยะเวลาในขั้นตอนการบรรจุคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญเป็นเวลา 60-75 วันด้วย ส่วนภาพของ ส.ว.ต้องรอให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการสรรหา ส.ว.ก่อน โดยกำหนดไว้กว้างๆ แต่ให้อำนาจ คสช.ไว้

“อย่างไรก็ตามขณะนี้กรธ.มีจำนวน 21 คน แต่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีภารกิจมากมาย ดังนั้นก็อาจจะมีการเพิ่มจำนวน กรธ.อีก 10 คน โดย คสช.จะเป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรธ.เป็นหลักว่าต้องการเพิ่มหรือไม่ ซึ่งผู้ที่จะเข้ามานั้นไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่เชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน เช่น การเลือกตั้ง พรรคการเมือง เป็นต้น” นายพรเพชร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น