เมืองไทย 360 องศา
แน่นอนว่า วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งสำหรับคนไทย และบ้านเมือง เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ กับร่างดังกล่าวทั้งฉบับหรือไม่ รวมทั้งมีอีกหนึ่งคำถามพ่วงแบบสรุปง่าย ๆ ว่า จะให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วยหรือไม่
เชื่อว่า ก่อนถึงวันลงประชามติ ชาวบ้านคงตัดสินใจกันมาแล้ว หรือไม่น้อยที่เพิ่งตัดสินใจเอาในวันท้าย ๆ ซึ่งตอนที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นั้น ยังไม่อาจประเมินได้ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร แม้ว่าตามความรู้สึกจะพอคาดคะเนออกมาได้บ้างแล้วก็ตาม ซึ่งการลงประชามติแบบนี้ เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น หากพิจารณากันตามความเป็นจริง เชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่คงไม่ได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาทั้งฉบับ หรือเนื้อหาสำคัญ ส่วนใหญ่จะพิจารณาบางเรื่อง หรือเฉพาะเรื่องเท่านั้น อาจเป็นเพราะเป็นภาษากฎหมาย เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก หรือน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นการตัดสินใจตามคนที่ตัวเองเชื่อถือ ศรัทธา ถูกชี้นำมาตั้งแต่ต้น ให้โหวตลงคะแนนไปทางใดทางหนึ่งอยู่แล้ว
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2559 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาในสำคัญ และกลายเป็นจุดชี้ขาดที่ให้ชาวบ้านต้องตัดสินใจก็มีไม่กี่ประเด็นเท่านั้น แม้ว่าจะมีประเด็นอื่น ๆ มากมายก็ตาม ซึ่งคราวนี้ที่น่าจับตามอง ก็คือ มาตรการที่เกี่ยวกับการควบคุมนักการเมืองอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการทุจริต และการใช้อำนาจ ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ออกแบบมาให้เน้นแบบประชาธิปไตยตะวันตก ที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องตัดสินในแทบทุกเรื่อง แต่จะมีการกลั่นกรอง มีการควบคุมในเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองอย่างเข้มงวด ประเภทนักการเมืองที่เคยทุจริต จะถูกห้ามลงสนามการเมืองตลอดชีวิต คดีทุจริตจะไม่มีอายุความ เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ การเปิดทางให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยมีการการกำหนดในบทเฉพาะกาล 5 ปี เรื่องการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คน ให้มีอำนาจร่วมโหวตเลือก ซึ่งการโหวตแบบนี้ อาจมีขยักอยู่นิดหนึ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องจากคำถามพ่วงในวันลงประชามติด้วย ซึ่งผลการลงประชามติคราวนี้ก็ย่อมมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง
อย่างไรก็ดี หากทำความเข้าใจให้ดีจะเห็นว่าการลงประชามติคราวนี้ น่าจะเป็นการชี้ชะตานักการเมืองมากกว่าใคร เพราะเนื้อหาสำคัญในร่างเป็นการควบคุมนักการเมือง ถูกจำกัดบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม ชนิดที่เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ เช่น ฉบับปี 40 หรือแม้แต่ฉบับปี 50 ชนิดที่เรียกว่าเข้มข้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
เนื้อหาแบบนี้ย่อมมีที่มาที่ไป ส่วนสำคัญที่สุดล้วนมาจากความ “เสื่อมศรัทธา” ต่อนักการเมือง นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่บรรดานักการเมืองถูกรังเกียจจากชาวบ้าน มีปฏิกิริยาในทางลบแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน หากเทียบกับก่อนหน้านี้ก็เคยมีการแสดงอาการรังเกียจในทางลบกันมาบ้างแล้ว แต่ไม่เคยเอาจริงหรือตั้งข้อรังเกียจตำหนิกันรุนแรงแบบในยุคนี้ สาเหตุเป็นเพราะได้เห็นพฤติกรรมการใช้อำนาจมิชอบ การทุจริตแบบเต็มตาภายใต้ยุคการสื่อสารยุคใหม่ที่มีหลักฐานกันให้เห็นแบบจะจะ ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งพวกข้าราชการที่ทุจริต ทำให้คนพวกนี้ในอนาคตอยู่ลำบากมากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่มีนักการเมืองส่วนใหญ่จะปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตย ซึ่งก็เป็นครั้งแรกเช่นเดียวกันที่นักการเมืองคนละขั้วที่เคยขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด แต่พอมาถึงผลประโยชน์ในทางอำนาจพวกเขาก็กลับสามัคคีกันได้แบบไม่น่าเชื่อ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ พรรคประชาธิปัตย์และ พรรคเพื่อไทย ที่ต่างออกมารณรงค์ไม่รับร่าง แม้ว่าในรายละเอียดของเหตุผลจะต้องทำให้ดูต่างกัน แต่ก็มีเป้าหมายเดียวัน คือ ไม่รับ หรือ “คว่ำ” นั่นแหละ
เพราะผลของประชามติหมายถึงการชี้อนาคตของพวกเขา เป็นเดิมพันที่สูงยิ่ง ซึ่งตอนแรกคนอาจเข้าใจว่านี่อาจเป็นการชี้ชะตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่มาถึงนาทีนี้ ถือว่าสถานการณ์และบรรยากาศเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นว่าเป็นการชี้อนาคตของพวกนักการเมืองมากกว่า เพราะถ้าผ่านพวกเขากระอักแน่
สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้นได้ออกตัวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า หากไม่ผ่าน ก็ร่างใหม่ และมีการเลือกตั้งตามโรดแมป คือ ในปี 60 และหากไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะหนักกว่าเดิมสำหรับนักการเมืองก็ได้ มันถึงบอกว่ามีเดิมพันสูง
แม้ว่าหากไม่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจเจอแรงกดดันมากกว่าเดิม แต่ก็น่าเอาอยู่ หากเดินตามโรดแมปเลือกตั้งปี 60 !!