xs
xsm
sm
md
lg

เดิมพันอนาคตนักการเมือง-จตุพร ตัวเร่งเปอร์เซ็นต์ประชามติ รธน.!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา




หากนับจากวันนี้จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วันเท่านั้น สำหรับกำหนดวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนาทีนี้ก็ยังเชื่อว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้อ่าน ไม่ได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาในร่าง ไม่มีขีอยกเว้นว่าจะเป็นที่มีการศึกษา หรือจบการศึกษาระดับใด รวมทั้งที่ผ่านมาก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นเดียวกัน ที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจว่าจะลงแบบไหน รับหรือไม่รับ เพราะมีตัวแปรและเหตุผลหลายอย่างที่มีผลต่อการตัดสินใจ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมือง มีความรู้สึกพอใจกับคำชี้แจงยืนยันของ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ หรือกรรมการร่างฯคนอื่น ที่อธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวด หรือที่เรียกว่า “ปราบโกง” รวมไปถึงมีการกำหนดเนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามของพวกนักการเมืองเลว ๆ แบบห้ามลงสนามตลอดชีวิต ก็ยิ่งสร้างความพออกพอใจอย่างมาก

อย่างไรก็ดี มันก็ทำให้ลังเลขึ้นมาอีก เมื่อนักการเมืองมาบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เข้มงวดเรื่องปราบโกง ตรงกันข้ามกลับเปิดช่องทำให้พวกโกงได้อานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้หากผ่านประชามติ และประกาศใช้ โดยยกตัวอย่างให้เห็นอีกว่า พวกที่โดนคดีทุจริตจำนำข้าว จะสามารถยื่นอุทธรณ์ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผิดกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนที่ไม่เปิดโอกาสให้ทำแบบนี้

ดังนั้น เชื่อว่า กระแสอารมณ์และความรู้สึกแบบนี้จะยังเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงวันลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากตัวแปรและตัวกระตุ้นสำคัญที่ผลักดันให้ชาวบ้านออกมาลงประชามติในครั้งนี้ ก็คือ นักการเมือง ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็ต้องแยกออกมาสามสี่ส่วนใหญ่ ๆ

ส่วนแรกก็คือ นักการเมือง ที่มีทั้งฝ่ายรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในที่นี้น่าพิจารณา ก็คือ ฝ่ายที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกาศออกมาแล้ว ก็คือ นักการเมืองฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร มีทั้งพรรคเพื่อไทย นปช. คนเสื้อแดง รวมไปถึงบรรดาแนวร่วมโลกสวยที่กินประชาธิปไตยเลือกตั้งเป็นอาหารบำรุงร่างกาย และล่าสุด ยังมี อภิสิทธิ เวชชาชีวะ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาแล้วว่า “ไม่รับ” แม้ว่าในรายละเอียดจะต่างจากกลุ่มการเมืองพวกแรก ซึ่งก็มองได้หลายแบบ ทั้งประเภทเผื่อทางถอยเอาไว้ หรือแทงกั๊กเขี้ยวลากดิน เพราะอ้างร่างฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์สามปัญหาหลัก เช่น เรื่องการถ่วงดุลอำนาจ ไม่แก้ปัญหาทุจริตได้จริง และสร้างปัญหาใหม่ อะไรประมาณนี้แหละ และที่สำคัญ ยังอ้างว่า หากร่างฉบับนี้ไม่ผ่านก็จะเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่างใหม่

น่าสนใจก็คือ เมื่อนักการเมืองพวกนี้ได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนว่า “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าในรายละเอียดของข้ออ้างจะต่างกันก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีวาระซ่อนเร้น เขี้ยวลากดินด้วยกันทั้งนั้น กลายเป็นว่าสร้างความหงุดหงิดให้กับชาวบ้านไม่น้อย จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาต้องออกไปใช้สิทธิลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

ยิ่งล่าสุด จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้ประกาศย้ำอีกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ผ่านประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เขาจะไม่ลงสมัคร ส.ส. มันก็น่าเชื่อว่าจะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิกันมากมาย ส่วนจะออกมาในทางไหนก็ลองเดากันก็แล้วกัน อย่างไรก็ตาม ได้แต่หวังว่า ความหมายของคำพูดดังกล่าวหมายถึงไม่รับตำแหน่งการเมืองใด ๆ รวมทั้งไม่รับตำแหน่ง ส.ส. บัญชีรายชื่ออีกด้วย นั่นคือ ยุติการรับตำแหน่งทุกกรณี เพื่อประท้วงหากชาวบ้านส่วนใหญ่ลงประชามติรับร่างให้ผ่าน เพราะถือว่ามีความเห็นตรงกันข้าม

และจะว่าไปแล้ว ที่จริงน่าจะหมายรวมไปถึงพวกนักการเมืองคนอื่น ๆ ด้วยที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากผ่านเท่ากับชาวบ้านเขาปฏิเสธแนวทางของนักการเมืองพวกนี้

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็คือ ฝ่ายรับ ที่มีแรงกระตุ้นมาจากการสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตัวผู้นำคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เน้นเรื่องการปราบโกงของนักการเมือง ขณะเดียวกัน ก็มีการประกาศจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขา กปปส. ว่าสนับสนุน มันก็ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยเทมาทางนี้ ซึ่งก็มีประเภทลอกความคิดรวมอยู่ในนี้ด้วย

ดังนั้น ถ้าสรุปการออกมาลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นอกจากพวกที่ตัดสินใจมาตั้งนานแล้ว กับพวกที่ตัดสินใจตามกันแล้ว สิ่งสำคัญ ยังมีแรงกระตุ้นให้ออกมาเพิ่ม คือ จากท่าทีของนักการเมืองที่ประกาศไม่รับร่าง โดยเฉพาะการประกาศเดิมพันของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ว่าหากผ่านเขาจะไม่สมัคร ส.ส. อย่างนี้แหละถือว่าได้ลุ้นกันสนุกแน่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น