เมืองไทย 360 องศา
เป็นเรื่องน่าแปลกใจไม่น้อย สำหรับการออกโรงหนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. โดยถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน ที่เป็นวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เป็นวันเคลื่อนไหวผ่านทางช่องทางสื่อสมัยใหม่โซเชียลมีเดีย ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ โดยเขาประกาศว่าจะทำในช่องทางนี้ต่อเนื่องกันทุกวันจนถึงวันลงประชามติ วันที่ 7 สิงหาคม 2559
แน่นอนว่า การออกมาแสดงตัวแบบนี้ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยในทางการเมือง และถูกจับตามองกันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายผู้มีอำนาจในตอนนี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีท่าทีอย่างไร แม้ว่าจนถึงตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายนจะยังไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา แต่ในที่สุดเชื่อว่าก็ต้องพูดอะไรสักอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้เกิดขึ้นตามมาก็คือ มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในลักษณะเดียวกันทันที นั่นคือ การแถลงของ จตุพร พรหมพันธุ์ ที่ประกาศว่าจะเดินตามรอย สุเทพ เทือกสุบรรณ ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในลักษณะเดียวกันต่อเนื่องกันไป โดยนอกจากตัวเขาแล้วก็ยังมี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่จะทำแบบเดียวกันด้วย ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่จะตามมา ตามแต่ความสามารถของแต่ละคนในการพูดจูงใจคนให้เห็นคล้อยตามได้
เมื่อมองเห็นความกระเพื่อมทางการเมืองที่ตามมาแล้ว และคาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องจนไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้าว่ามันจะส่งผลสะเทือนได้ขนาดไหน แต่คำถามก็คือ ทำไม สุเทพ เทือกสุบรรณ ถึงต้องมีการแสดงออกแบบนี้ และมีเหตุและเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรถึงต้องออกมา
ข้อสงสัยแรกก็คือ มันถูกตั้งคำถามถึงเรื่อง “หมิ่นเหม่” ต่อกฎหมาย ในเรื่องการทำผิดกฎหมายการลงประชามติ แน่นอนว่า สำหรับสุเทพคงมีการศึกษาทบทวนมาอย่างดีแล้วว่า “คงไม่ผิด” และล่าสุดทางประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศุภชัย สมเจริญ ก็ออกมาพูดว่า ถ้าไม่ใช่พูดความเท็จ บิดเบือน หยาบคาย ปลุกระดม ก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่หากใครเห็นว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็สามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแล้วให้ศาลเป็นผู้ตัดสินว่าผิดหรือไม่
แน่นอนว่า สำหรับกรณีของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คงไม่ผิด และคงผิดไม่ได้ เพราะเขาได้ชู “ประชารัฐ” สุดเจ๋ง ชูร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบบ “โดนใจ” เพราะแบบนี้หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าเป็นเรื่องผิด และสั่งห้ามอย่างเปิดเผย มันก็น่าติดตามเหมือนกัน
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ การออกมาในช่วงนี้ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ มันมีอะไรกันแน่ เพราะอย่างที่รูักันก็คือมันย่อมมี “แรงกระเพื่อม” ตามมาแน่นอน อย่างน้อยก็จะกลายเป็นเงื่อนไขให้อีกฝ่าย นั่นคือฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร ที่มีทั้งพรรคเพื่อไทย พวก นปช. ที่เพิ่งถูกเบรกเด็ดขาดไม่ให้ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติจนหัวทิ่มกันมาแล้ว ก็จะใช้เป็นเหตุผลในการประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เช่นเดียวกัน
ดังนั้น เมื่อสุเทพพูดได้ พวกเขาก็ต้องอ้างว่าพูดได้เหมือนกัน แม้ว่าจะมีเบื้องหลังหรือที่มาต่างกันก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่ทางฝ่ายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า การออกมาแสดงท่าทีแบบนี้ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ มันน่าจะมาจากสาเหตุอะไรกันแน่
หากย้อนกลับไปตรวจสอบสถานการณ์ก่อนหน้านี้ก็จะพบว่า ฝ่ายที่ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญของ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายเริ่มดำเนินการเข้มข้นขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในทางลับ หรือ “กึ่งลับ” แม้ว่าจะถูกระงับการตั้งศูนย์ปราบโกงฯ ไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งมันก็แสดงเจตนาให้สังคมโดยเฉพาะมวลชนที่สนับสนุนได้เห็นท่าทีที่ชัดเจน และจะว่าไปมันก็เหมือนกับการโปรโมตกระจายข่าวในวงกว้างแบบโฆษณาแฝง แบบไม่ต้องลงทุนมากนัก
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากมองว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาคราวนี้มีความผิดปกติ เหมือนกับว่า ถึงเวลาที่ต้องออกมา เพราะเห็นว่า “เริ่มไม่ชัวร์” นั่นคือ เริ่มไม่มั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงต้องการแรงหนุนที่ไว้ใจได้ ซึ่งมวลชนกลุ่ม กปปส.นี่แหละ ที่ยังเป็นกลุ่มก้อน แม้จะรู้ว่าการออกมาแบบนี้จะเกิดแรงกระเพื่อมตามมาก็ตาม แต่อาจเป็นเพราะถึงเวลาที่ต้องเสี่ยงครั้งสำคัญก็ต้องเสี่ยง!