แกนนำแดงเดินสายร้อง ถึงคิว กสม.สอบรัฐขวางตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ย้อนก่อนหน้าไม่มีใครขวาง พอใกล้เปิด “ประวิตร” กลับอ้างทำไม่ได้จนถูกปิดและเจอคดี จี้ควรเปิดให้แสดงความคิดเห็นเต็มที่แบบอังกฤษ ชี้สิทธิอยู่ในขั้นวิกฤต ย้ำครู ค.ถูกละเมิดสิทธิหนักยัดเยียดเนื้อหาให้หนุนร่างฯ เชื่อยิ่งใกล้ใช้สิทธิยิ่งเข้ม กม.
วันนี้ (23 มิ.ย.) แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา โตจิราการ พร้อมคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีรัฐบาลขัดขวางการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ กฎหมายประชามติที่สร้างบรรยากาศความกลัวให้กับประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น การจับกุม นปช.และประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำประชามติมาดำเนินคดีในศาลทหารโดยอ้างคำสั่งทางคสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยจตุพรกล่าวว่า ก่อนที่ นปช.จะเปิดศูนย์ปราบโกงฯ วันที่ 5 มิ.ย. ไม่มีฝ่ายไหนขัดขวางแม้แต่นายกรัฐมนตรี หรือ กกต. ก็สนับสนุนการเปิดก็ราบรื่น แต่มามีปัญหา 2 วันก่อนจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯ ในภูมิภาควันที่ 19 มิ.ย. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าทำไม่ได้ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาปิดล้อมและไม่ให้เปิดศูนย์ดังกล่าว จนเมื่อวานนี้ได้มีหมายเรียกแกนนำ นปช. 19 คน โดยไม่มีการระบุข้อหาว่าทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับระบุว่าผิดประกาศ คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน เห็นว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ขนาดประเทศอังกฤษที่จะมีการทำประชามติแยกอังกฤษออกจากอียูยังให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ แต่ของประเทศไทยการแสดงความเห็นของประชาชนอยู่ในบรรยากาศความกลัว
ด้านนายณัฐวุฒิมองว่าสิทธิมนุษยชนของคนไทยในขั้นตอนที่ลงประชามติอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ทั้งที่ในบรรยากาศการออกเสียงประชามติการแสดงความเห็นต่างควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ แต่ขณะนี้การแสดงความเห็นของประชาชนถูกควบคุม ลิดรอน จำกัดสิทธิ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา เป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลย เป็นผู้ต้องขัง วิกฤตอย่างนี้ กสม.มีบทบาทอย่างไรบ้างในการทำหน้าที่ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร
นอกจากนี้ นายณัฐวุฒิยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ครู ค.ที่เป็นอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากครู ก.และครู ข.ที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้ไปทำหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน ถูกคุกคามละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง เพราะถูกยัดเยียดเนื้อหาให้ไปพูดสนับสนุนให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ครู ค.บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นค่อนข้างแน่ใจว่าใกล้วันประชามติจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรมกับคนที่เห็นต่างมากขึ้น
“ไม่ว่าวันที่ 30 มิ.ย.ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกนั้น จะเกิดอะไรขึ้นตามแผนที่เขาวางไว้ แต่ให้มั่นใจว่าสิ่งที่พวกผมทำไม่มีความผิด เราพร้อมจะเอาชีวิตและอิสรภาพของเราเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ลังเล นี่ไม่ใช่การท้าทาย แต่ต้องวัดหัวใจกันเลย”
ขณะที่นางธิดาเรียกร้องให้กรรมการสิทธิกู้เกียรติภูมิ เพราะกรรมการสิทธิฯ ชุดเก่าก็ไปเข้าข้างกับฝ่ายละเมิดสิทธิ โดยขอให้กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้แสดงท่าทีเรื่องในเรื่องดังกล่าว พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่าการที่นายกรัฐมนตรีโทรศัพท์คุยกับนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยเชื่อว่าเลขาฯ ยูเอ็นคงพูดเพียงสั้นๆ และเห็นว่าการที่ที่นายกรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปหา ยิ่งกว่าไปฟ้อง นินทาพรรคการเมือง ซึ่งไม่ควรเอาเรื่องในประเทศไปฟ้องใคร ที่ผ่านมาเราร้องเรียนแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่จะไปร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งและประชามติ
ด้านนางอังคณากล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาของประกาศ กกต.ที่กำหนดอะไรทำได้ไม่ได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความเคร่งครัด ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง รวมถึงกรณีที่ให้พลเมืองที่รัฐเห็นว่ากระทำผิดต้องขึ้นศาลทหาร ส่วนที่มาร้องเรียนก็จะรับไว้พิจารณา และตามกระบวนการอาจต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่ก็จะพยายามเร่งดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ทางกลุ่ม นปช.จะมา ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 (บกน.2) ได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 1 หมวด หรือ 48 นาย มาดูแลความเรียบร้อย เนื่องจากทางการข่าวได้รับรายงานว่าทา งนปช.จะเดินทางมาจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหามือที่ 3
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) กลุ่ม นปช.จะทำบุญ 84 ปีคณะราษฎร ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ในเวลา 13.00 น.