xs
xsm
sm
md
lg

ขู่นปช.เดินสายร้องเรียน ขัดคำสั่งคสช.ห้ามชุมนุมเกิน5คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"แก๊งนปช." ยื่นกสม.สอบกรณีรัฐบาลคสช. ขัดขวางการตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ แถมยังออกหมายเรียกให้ไปพบเจ้าหน้าที่ หาว่าขัดคำสั่งคสช.เรื่องการชุมในุมเกิน 5 คน ชี้สิทธิมนุษยชนคนไทยเข้าขั้นวิกฤตแล้ว ด้าน "วิษณุ" บอกเตือนนปช.แล้วให้ระวังเรื่องเคลื่อนไหว ระบุพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกดูที่เจตนา หากไม่ไปตามกำหนด จะถูกออกหมายจับ คสช. ขู่ซ้ำ เดินสายยื่นหนังสือ ก็เข้าข่ายเคลื่อนไหวทางการเมือง

วานนี้ (23 มิ.ย.) แกนนำกลุ่มนปช. นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร กสม. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบ กรณีรัฐบาลขัดขวางการจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ รวมทั้งกฎหมายประชามติ ที่สร้างบรรยากาศความกลัวให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น การจับกุม นปช. และประชาชนที่ต้องการตรวจสอบการทำประชามติมาดำเนินคดีในศาลทหาร โดยอ้างคำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง

นายจตุพร กล่าวว่า ก่อนที่นปช. จะเปิดศูนย์ปราบโกงฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ไม่มีฝ่ายไหนขัดขวาง แม้แต่นายกรัฐมนตรี หรือ กกต. ก็สนับสนุน การเปิดศูนย์ฯ ก็ราบรื่น แต่มามีปัญหา 2 วันก่อนจะมีการเปิดศูนย์ปราบโกงฯในภูมิภาค วันที่ 19 มิ.ย. โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมวงกลาโหม กลับระบุว่า ทำไม่ได้ และมีเจ้าหน้าตำรวจมาปิดล้อม และไม่ให้เปิดศูนย์ฯ ดังกล่าว และต่อมาก็ได้มีหมายเรียกแกนนำ นปช. 19 คน โดยไม่มีการระบุข้อหาว่า ทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ แต่กลับระบุว่า ผิดประกาศ คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งตนเห็นว่า การออกเสียงประชามติร่างรธน. ที่จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้าน

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนของคนไทยในขั้นตอนที่ลงประชามติ อยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ทั้งที่ในบรรยากาศการออกเสียงประชามติ การแสดงความเห็น ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ แต่ขณะนี้การแสดงความเห็นของประชาชน ถูกควบคุม ลิดรอน จำกัดสิทธิ ทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา ให้เป็นผู้ต้องหา ซึ่งวิกฤตอย่างนี้ กสม.มีบทบาทอย่างไรบ้างในการทำหน้าที่ ท่ามกลางรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร
"ไม่ว่าวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปรายงานตัวตามหมายเรียกนั้น จะเกิดอะไรขึ้นตามแผนที่เขาวางไว้ แต่ให้มั่นใจว่า สิ่งที่พวกผมทำ ไม่มีความผิด เราพร้อมจะเอาชีวิตและอิสรภาพของเรา เดินไปข้างหน้าอย่างไม่ลังเล นี่ไม่ใช่การท้าทาย แต่ต้องวัดหัวใจกันเลย" นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อเนื้อหาของประกาศกกต. ที่กำหนดอะไรทำได้ ทำไม่ได้ เนื่องจากเห็นว่ามีความเคร่งครัด ไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง รวมถึงกรณีที่ให้พลเมืองที่รัฐเห็นว่ากระทำผิด ต้องขึ้นศาลทหาร ส่วนที่มาร้องเรียนก็จะรับไว้พิจารณา และตามกระบวนการอาจต้องมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งก็อาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่ก็จะพยายามเร่งดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงารนว่า ในวันนี้ (24 มิ.ย.) กลุ่มนปช.จะทำบุญ 84 ปีคณะราษฎร์ ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว ในเวลา 13.00 น.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนกองปราบ ออกหมายเรียก 19 แกนนำกลุ่มนปช. จากกรณีเคลื่อนไหวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะเคยพูดกันมาแล้ว เตือนกันมาแล้ว ว่าให้ระวังการเคลื่อนไหว หากทำเป็น ก็สามารถทำได้ แต่เมื่อมีการเผชิญหน้า จึงเกิดความลำบาก เรื่องนี้อยู่ในส่วนของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งต้องดูที่เจตนาของคนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากไม่ดูเจตนา ฝ่ายความมั่นคงก็คงไม่ดำเนินการใดๆ เจตนาดังกล่าวไม่ได้บอกว่า ห้ามชุมนุมเกิน 5-7 คน แต่ดูที่ชุมนุมเพื่ออะไร ต้องการจะสื่ออะไร
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.นั้น ขัดต่อการปล่อยตัวชั่วคราว หากจะดำเนินการต้องให้อัยการไปร้องต่อศาล หากไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดเวลา แกนนำ นปช.จะถูกออกหมายจับ
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. กล่าวถึงกรณีตำรวจออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มนปช. ที่ขัดคำสั่งคสช. ชุมนุมเคลื่อนไหวเกิน 5 คนว่า วเจ้าหน้าที่เห็นองค์ประกอบทางพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าว ที่ได้มีการรวมกลุ่มแถลง เพื่อจะตั้งศูนย์ประบโกงประชามติ เมื่อ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าอาจเข้าข่ายเป็นการดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง เพราะหากมีเป้าหมายเป็นหูเป็นตาให้ภาครัฐนั้น สามารถทำได้ด้วยกลไกปกติเหมือนคนทั่วไป ในกรณีพบความผิดปกติเกี่ยวกับเรื่องใดก็สามารถบอกกล่าวเจ้าหน้าที่ หรือร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เจ้าพนักงานเพิ่งอยู่ในขั้นการออกหมายเรียก จะมีรายละเอียดต่อไปอย่างไร คงต้องดูไปทีละขั้นทีละขั้นตอน

นอกจากนี้ การที่กลุ่มนปช. รวมตัวกันไปร้องเรียนในที่ต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังด้วย และไม่ให้สังคมมองว่า เป็นการรวมตัวกันทำกิจกรรมเช่นกัน เพราะขณะนี้เริ่มมีคนมองว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นไปในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมือง และการอ้างถึงว่ามีการละเมิดสิทธิ์นั้น เชื่อว่าดูไม่ค่อยมีน้ำหนักให้สังคมคล้อยตาม โดยเฉพาะองค์กรต่างประเทศในไทย ยังคงได้รับข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ จากทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น