รองนายกรัฐมนตรี ชี้ประธาน กรธ.แฉพวกตามถ่ายคลิปแจง รธน.แค่บอกตำรวจให้คุ้มครอง ไม่วิจารณ์สหประชาชาติหนุนไทยทำประชามติ ไม่พูดอนุญาตให้สังเกตการณ์โหวตหรือไม่ บอกพวกคุณก็รู้ ระบุไม่ได้จัดงบไว้ต้อนรับ ย้ำเข้าคูหาไม่ได้
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีที่มีการติดตามการทำงานของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่างใกล้ชิด ในระหว่างการลงพื้นที่ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ หรือ ครู ค.(ระดับหมู่บ้านตำบล) โดยมีการบันทึกภาพในการปฏิบัติงานนั้นจะเป็นการกดดันการทำงานหรือไม่ ว่าเรื่องนี้ตนไม่ทราบเรื่องว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร แต่เท่าที่ฟังนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.พูดนั้นก็ไม่ได้ต้องการพูดให้สาธารณชนฟัง แต่เป็นการพูดกับตำรวจว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้ช่วยกันดูแลหน่อย ให้ความปลอดภัย คุ้มครอง หากมีเหตุใดเกิดขึ้นไม่ใช่ว่าจะมาให้ กรธ.เป็นเจ้าทุกข์ร้อง ใครก็เป็นเจ้าทุกข์ได้ ใครพบใครเห็นก็เป็นเจ้าทุกข์ไป ถ้า กรธ.เห็นก็จะเป็นเจ้าทุกข์ให้ แต่ถ้าไม่เห็นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ส่วนกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็ต้องหนักหน่อยเพราะตาม พ.ร.บ.ประชามตินั้น ให้ประธาน กกต.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ถือเป็นความรับผิดชอบเต็ม
นายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศูนย์ข่าวสหประชาชาติเผยแพร่ข่าวหลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างนายบัน คีมูน เลขาธิการยูเอ็น กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเตรียมความพร้อมเพื่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยว่า “ผมไม่มีความเห็นอะไร คนเราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นทุกเรื่องหรอก หรือเห็นก็อาจสงบปากสงบคำบ้างก็ได้ เรื่องจะได้เรียบร้อย”
เมื่อถามว่า ภายหลังแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นหนังสือต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) เพื่อร้องเรียนต่อสถานการณ์ ภายหลังการเปิดศูนย์ภายหลังการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ และการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ มีความจำเป็นที่จะให้ตัวแทนยูเอ็นเข้ามาสังเกตการณ์ในไทยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ตอบหรอกครับ เพราะคุณก็รู้ดีว่าผมจะตอบอย่างไร”
เมื่อถามย้ำว่า หากตัวแทนยูเอ็นจะเข้ามาสังเกตการณ์จริงๆ ต้องติดต่อกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เขาเข้ามาโดยไม่ต้องติดต่อใครก็ได้ พอเข้ามาก็แค่ไปเดินเหินเหมือนพวกนักท่องเที่ยวก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนถ้าจะมาอย่างเป็นทางการ หมายถึงการเชิญใครมา เหมือนการมาสังเกตการเลือกตั้ง คำนี้หมายถึงการออกค่าใช้จ่ายให้ ดูแลทุกอย่าง รวมถึงอำนวยความสะดวก รับรองความปลอดภัย และหากต้องการเอกสารอะไรเราก็อำนวยความสะดวกให้นี่คือการส่งคนมาดูแล เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วซึ่งเราจะทำในลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้งคราวหน้า ส่วนประชามตินั้นไม่ได้มีความคิดและตั้งใจ รวมถึงการจัดงบเอาไว้ตั้งแต่ต้น ตอบได้แค่นี้
“มองว่าประชาชนทั่วไปก็สามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาก็ดีอยู่แล้ว ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่จะมาขอเข้าไปในคูหานั้นไม่ได้ ขนาดจัดเลือกตั้งแล้วมีคนหันหลังขึ้นมาทำให้คนอื่นส่องดูรู้ สุดท้ายเลือกตั้งกลายเป็นโมฆะไปเลย เขาจึงเกรงว่าจะมีการแปลกปลอมอะไรขึ้นมาอีก เดี๋ยวจะถูกมองว่าหาเรื่องทำให้เกิดการโมฆะในหน่วยนั้นรึเปล่า ทำให้เจ้าหน้าที่ความผิดด้วย” นายวิษณุกล่าว