รองนายกรัฐมนตรีบอกเตือน นปช.แล้วให้ระวังการเคลื่อนไหว หลังถูกออกหมายเรียก โยนฝ่ายมั่นคงดูเจตนา โบ้ยอัยการร้องศาลหากขัดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว ไม่มีปัญหาศาลเมินให้ สนช.แจงเพิ่ม ระบุทำให้เร็วจะได้จบไป ยันประชามติเดินต่อได้ หากเสีย ม.61 วรรค 2 ไปก็ยังมีวรรค 1 อยู่ แถมอันตรายกว่ามาก ย้ำอย่าทำอะไรที่เสี่ยง พวกสมัครใจก็ต้องพร้อมจะยอมรับผล รับประชามติชาวบ้านเห็นประโยชน์ไม่ชัดเจนท่าเลือกตั้ง เผยรัฐธรรมนูญที่ดีไม่มี แต่เมื่อใช้ไปสักระยะจะรู้ว่าดีจริงหรือไม่
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพนักงานสอบสวนกองปราบออกหมายเรียก 19 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หลังจากเคลื่อนไหวเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติว่า ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะเคยพูดกันมาแล้ว เตือนกันมาแล้วว่าให้ระวังการเคลื่อนไหว แต่เมื่อมีการเผชิญหน้าจึงเกิดความลำบาก เรื่องนี้อยู่ในส่วนของฝ่ายความมั่นคงซึ่งต้องดูที่เจตนาของคนที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากไม่ดูเจตนาฝ่ายความมั่นคงก็คงไม่ดำเนินการใดๆ เจตนาดังกล่าวไม่ได้บอกว่าห้ามชุมนุมเกิน 5-7 คน แต่ดูที่ชุมนุมเพื่ออะไร ต้องการจะสื่ออะไร ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาบอกว่าการเคลื่อนไหวของ นปช.นั้นขัดต่อการปล่อยตัวชั่วคราว หากจะดำเนินการต้องให้อัยการไปร้องต่อศาล หากไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดเวลา แกนนำ นปช.จะถูกออกหมายจับ
ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอความเห็นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ประชามติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 4 หรือไม่ โดยจะลงมติในวันที่ 29 มิ.ย. และระบุเอกสารสำนวนมีจำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยโดยไม่ต้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาลด้วยวาจานั้น นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา ทำให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น ประเด็นนี้จะได้จบไปไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร ส่วนการลงประชามติสามารถเดินต่อได้โดยไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ทั้งสิ้น ต่อให้มาตรา 61 วรรคสองทั้งวรรคเสียไป มาตรา 61 ก็ยังอยู่ อีกทั้งยังมีมาตรา 61 วรรคหนึ่งจนถึงวงเล็บเจ็ดก็เพียงพอที่จะนำมาใช้ ซึ่งมาตรา 61 วรรคสองเป็นการขยายความมาตรา 61 วรรคหนึ่งเท่านั้น หากเสียไปก็ยังมีมาตรา 61 วรรคหนึ่งอยู่ซึ่งสามารถแปลความได้มากและอันตรายกว่ามาก ดังนั้น อย่าทำอะไรที่เสี่ยงจะดีที่สุด ส่วนความเสี่ยงที่ผ่านมา มาจากเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่พร้อม สมัครใจ ยินดี สนุกที่จะเสี่ยง เมื่อทำเช่นนั้นก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา ผิดหรือถูกไปว่ากันอีกครั้ง ซึ่งสุดท้ายท่านอาจจะถูกก็ได้
“ยืนยันว่ารัฐบาลได้ให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความเห็น ยังไม่เห็นว่ามีอะไรที่เป็นการห้าม พวกที่ทำโดยสุจริต ไม่มีปัญหาเรื่องคำเตือนหยาบคาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างคอลัมน์ที่เขียนกันอยู่ ถ้าไม่มีปัญหาเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวถึงการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกพื้นที่ของ กกต.ว่า ตัวเลขที่ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกพื้นที่ยังถือว่าน้อยอยู่ แต่การลงประชามติกับการเลือกตั้งนั้นต่างกัน เพราะประชาชนจะไม่ค่อยนิยมการลงประชามติเท่าการเลือกตั้ง ยิ่งถ้าให้ไปลงทะเบียนก่อนเพื่อใช้สิทธินอกพื้นที่ความอยากหรือสิ่งจูงใจก็จะลดน้อยถอยลง ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่ประชาชนรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของ สามารถเสียเงินเสียทองเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แม้เราจะบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แต่ความรู้สึกของคนไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถึงจะอธิบายว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญแต่มองไม่เห็นภาพชัดเจนเหมือนการเลือกตั้ง
“รัฐธรรมนูญที่ดีไม่มีหรอก ถ้าดูในปัจจุบัน แต่จะดีเมื่อผ่านไปในระยะหนึ่งแล้วย้อนกลับมาดูเพื่อเปรียบเทียบ วันนี้ยังเทียบไม่ได้ เพราะของในอดีตที่เหมือนจะดูดีจะเทียบกับฉบับใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้ไม่ได้ แต่เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีจริงหรือไม่ วันนี้ที่เราถวิลหารัฐธรรมนูญปี 40, 50 เพราะได้เห็นว่าใช้แล้วได้ผลหรือไม่ ผมไม่ได้หมายความว่าจะให้ลองใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน” นายวิษณุกล่าว