xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” ป้อง “มาร์ค” แย้ง กรธ.ด้วยเหตุผล ย้ำอุทธรณ์คดีการเมืองทำปราบโกงอ่อนลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.ป้อง “อภิสิทธิ์” แนะ ปธ.กรธ.เปิดใจกว้าง ฟังคำท้วงติง ดูที่เหตุผล อย่าเหมาร่วมนักการเมืองเชื่อไม่ได้ ชี้อ้างหลักสากลให้อุทธรณ์คดีการเมืองฟังไม่ขึ้น เอื้อประโยชน์จำเลยชัดเจน เป็นประเด็นปัญหาทำให้ปราบโกงอ่อนลง ทำให้หัวหน้า ปชป.ต้องออกมาแย้งด้วยเหตุผล ไม่ใช่เพื่อนักการเมือง

วันนี้ (2 ส.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นการเปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ได้อีกครั้งของคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า เราเห็นใจ กรธ.ที่ได้ทำงานหนัก แต่ควรเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดใจกว้างรับฟังคำท้วงติงต่างๆ ด้วยเหตุผล เราไม่ได้มีการชี้นำหรือพูดโกหกบิดเบือนแต่อย่างใด แต่ได้พูดอยู่บนพื้นฐานของสาระ ด้วยเหตุและผลในร่างรัฐธรรมนูญ การที่บอกว่าการเชื่อนักการเมืองจะเป็นอันตรายได้นั้น ทาง กรธ.ก็ต้องแยกแยะ เพราะนักการเมืองก็มีที่เชื่อได้และเชื่อไม่ได้ มีทั้งทำลายประเทศและสร้างสรรค์ประเทศ เช่นเดียวกับข้าราชการและคนในวงการอื่นๆ ที่มีเชื่อได้และเชื่อไม่ได้

“เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรเหมารวมว่าสิ่งที่นักการเมืองพูดแล้วเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้เท่านั้น แต่ควรดูที่เนื้อหาสาระน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า กรธ.ควรเปิดใจกว้างรับฟังข้อโต้แย้งมากกว่าที่จะตีขลุม ด่ากราดเพียงเพราะไม่ถูกใจที่มีคนที่รู้จริงออกมาจี้ใจดำ”

สำหรับประเด็นการให้สิทธิอุทธรณ์อีกชั้นหนึ่งได้โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ โดยอ้างว่าให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น นายองอาจกล่าวว่า เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะปกติแล้วรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ได้กำหนดให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้อยู่แล้ว แต่ฉบับของนายมีชัยเอื้อประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะ 1. สามารถยื่นอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ 2. สามารถต่อสู้คดีได้ในอีกองค์คณะหนึ่งทั้งตั้งขึ้นมาใหม่ 3. หากศาลฎีกาตัดสินครั้งแรกแล้วจำเลยมีโทษจำคุกก็จะมีปัญหาในเรื่องการประกันตัว เพราะจำเลยอาจจะอุทธรณ์แล้วหาช่องทางหลบหนีก็ได้

และ 4. การพิจารณาของศาลฎีกาชั้นเดียวกัน องค์คณะก็มีศักดิ์และสิทธิเท่ากัน แล้วหากคำพิพากษาที่ขัดแย้งกัน แล้วจะฟังองค์คณะชุดใด ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราได้ท้วงติงด้วยหลักเหตุและผลว่าจะเป็นประเด็นปัญหาที่จะทำให้การปราบปรามทุจริตอ่อนแอลงได้เด็ดขาดเหมือนที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์พูดไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของหลักการซึ่งตามหลักสากลก็ได้เปิดโอกาสให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย ข้อเห็นแย้งชี้ให้เห็นว่าไม่จำเป็นว่าเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ เพราะหากพวกเรากระทำความผิดก็ไม่ได้รับการยกเว้นเช่นกัน

“หาก กรธ.บัญญัติเรื่องนี้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะถือให้เกิดความเข็ดหลาบแก่นักการเมืองทุจริตมากกว่า แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การปราบปรามเอาผิดต้อผู้ทุจริตอ่อนแอลง จึงเป็นความจำเป็นที่นายอภิสิทธิ์ต้องออกมาแสดงให้เห็นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองแต่อย่างใด” นายองอาจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น