xs
xsm
sm
md
lg

"มีชัย"ยึดหลักสากลปราบโกง เย้ย"มาร์ค"แล้วจะขอบคุณที่ให้อุทธรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ส.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 ส.ค. ในเวลา 16.00 น. หลังจากที่สมาชิกกรธ.ทุกคนได้ลงคะแนนประชามติกันแล้ว กรธ.จะมีการนัดเจอกันเพื่อไปดูหน่วยประชามติที่ใกล้รัฐสภา ว่าจะมีการนับคะแนนอย่างไร สำหรับแนวโน้มสถานการณ์นั้น กรธ.จะพยายามให้ประชาชนทุกคน ได้เห็นในเนื้อหาในร่างรธน.มากที่สุด แต่ยอมรับว่ามีตั้ง 40 ล้านครอบครัว ก็คงมีตกหล่นบ้าง
ส่วนความเห็นจากแกนนำพรรคการเมืองที่ออกมา จะมีผลต่อคะแนนประชามติหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เดายากว่าจะมีผลหรือไม่ แต่ตนสังเกตว่า คนในยุคนี้ มีช่องทางรับรู้ข่าวสารมากขึ้น ดังนั้นอย่าไปประมาทความรู้สึกนึกคิดของประชาชน เพราะเขาไม่เดินตามใครง่ายๆ ดังนั้นต้องรอดูหลังจาก 16.00 น.วันที่ 7 ส.ค.
นายมีชัย ยังกล่าวถึงพวกที่สร้างวาทกรรม ว่า ไม่ใช่แค่สร้างวาทกรรมอย่างเดียว แต่สร้างสิ่งที่ทำให้เกิดความสงสัยในเชิงหลอกลวงกับประชาชน อาทิ อยู่ๆ ก็ยกบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ลงพระปรมาภิไธยพ.ร.บ. หรือไม่พระราชทานพ.ร.บ.คืนมา ให้ประกาศใช้พ.ร.บ.นั้นได้เลย เขาก็มากล่าวหาว่า เนื้อหาส่วนนี้ของร่างรธน.ไปลดพระราชอำนาจ ตนขอเรียนว่าไม่จริง เพราะนี่คือระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์ จะมีอำนาจวีโต้ แต่ไม่มีโดยเบ็ดเสร็จ ซึ่งหลักการนี้ ถูกบัญญัติมาตั้งแต่ปี 2475 แล้ว อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อความตามระยะเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปแต่เนื้อหาก็ยังคงเดิม
ส่วนกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์ว่าร่างรธน. ทำให้กลไกในการปราบโกงอ่อนแอลงนั้น ตนขอถามว่า ทำให้กลไกปราบโกงอ่อนแอตรงไหน ที่ผ่านมานั้นนักการเมืองรวมไปถึงอดีตคณะกรรมการป.ป.ช. ยังมาต่อว่า ว่ากรธ.จงใจเขียนเนื้อหาเพื่อเล่นงานนักการเมือง ซึ่งตนขอเรียนว่า ไม่ใช่ เพราะป.ป.ช.ยังอยู่ และมีอำนาจปราบข้าราชการมากขึ้น ไม่ใช่แค่ปราบนักการเมืองเพียงอย่างเดียว
ส่วนเรื่องการอุทธรณ์ในคดีทุจริตในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ขอเรียนที่มาที่ไปว่า มาจากความตกลงระหว่างประเทศ ที่ทำกันมาในปี 2539 ใช้ต่อมาถึง 2540 ต่อมาเมื่อรธน.ฉบับปี 50 ออกมา เนื้อหาร่างรธน.ฉบับนั้น ก็เริ่มเขียนให้ทำท่าเหมือนอุทธรณ์ได้ แต่ความจริงไม่ใช่การอุทธรณ์ เพราะต้องหาพยานหลักฐานใหม่ เพื่อให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม พอมาถึงร่างรธน.ของ กรธ. ในร่างแรกกรธ.ก็เขียนว่า อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย ต่อมา ครม. ก็ยื่นข้อเสนอมาว่า ขอแก้ตรงนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยพิจารณาได้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ขอเรียนว่าการบัญญัติแบบนี้นั้น ไม่ได้คิดจะเล่นงานใครโดยเฉพาะเจาะจง แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ รธน.ปี50 ก็มีหลายคดี ที่ศาลฎีกาตัดสินว่า ไม่ผิด ก็หงายหลังกันเลย เพราะคนทั่วไปก็รู้สึกว่า น่าจะผิด คราวนี้ กรธ. จึงเขียนว่าให้สามารถอุทธรณ์ได้ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านมาศาลฎีกาเห็นว่า หลักฐานอ่อนก็ยกประโยชน์ให้จำเลย ซึ่งฝ่ายโจทก์ มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้เพื่อให้พิจารณาได้อีกชั้นศาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นไปตามระบบยุติธรรมตามหลักสากลที่เราไปเซ็นกับเขาไว้ ซึ่ง กรธ.ได้นึกถึงตอนร่างรธน.
"อย่านึกว่าคนที่เราไม่ชอบจะเป็นพวกเดียวที่ไปสู่ศาล วันดีคืนดี คนที่เราชอบ ก็อาจจะไปที่ศาลนั้นได้เหมือนกัน ทุกคนในยังอยู่ในวงการการเมือง ว่ามีโอกาสไปสู่ศาลนั้นได้ทั้งนั้น ถึงวันนั้นอาจจะนั่งนึกขอบคุณกรธ.ว่าได้คิดมาไกลเผื่อเขา" นายมีชัย กล่าว
ส่วนท่าทีต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่รับร่างรธน. จะเป็นผลเสียต่อการลงคะแนนออกเสียงประชามติ หรือไม่นั้น นายมีชัย กล่าวว่า เชื่อว่าประชาชนตัดสินบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ต้องเข้าใจว่ารธน.นั้นไม่ได้บังคับใช้กับประชาชนอย่างเดียว แต่บังคับใช้กับนักการเมืองด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะเชื่อนักการเมืองเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจเนื้อหา ก็อาจจะอันตรายได้ เพราะนักการเมืองถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับร่างรธน.ด้วย ตนไม่เชื่อว่าร่างรธน. จะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต ถ้าหากทุกฝ่ายคิดอ่านตรงกันว่า ร่างรธน.นั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เขาก็สามารถแก้รธน.ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างรธน.ฉบับนี้ เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับนักการเมืองได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า "ที่ผู้สื่อข่าวถามมาก็ดี แต่ว่าอย่าพูดเลย มันจะทำให้บ้านเมืองแตกแยก" นายมีชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น