xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงสังคมไม่ยอมรับผลประชามติ การเมืองหลัง7ส.ค.ส่อวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามจะเอาผลประชามติร่างรธน. วันที่ 7 ส.ค. เป็นวันชี้ชะตาการเมืองไทย หรือเป็นการเดิมพันอะไรบางอย่างทางการเมือง เพื่อผูกเรื่องให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ หลังประชามติ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะเหตุผลหลักของการรับ หรือไม่รับร่างรธน. เป็นเหตุผลทางการเมือง มากกว่าเหตุผลในตัวร่างรธน.
ทั้งนี้ การประชามติที่มีเป้าหมาย และเหตุผลที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปเช่นนี้ อาจเกิดปัญหาใหม่ตามมา เพราะผลประชามติ จะไม่สามารถสร้างฉันทามติในสังคมการเมืองหรือการยอมรับของผู้แพ้ได้ จนกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ และนำการเมืองไทยเข้าสู่ความเสี่ยงได้ในที่สุด
ฉะนั้น การเมืองไทยหลังวันประชามติ อาจมีความสำคัญมากกว่าวันประชามติ 7 ส.ค.ก็ได้ ยิ่งหากประชาชนหลงไปติดกับดัก หรือกลเกมการเมืองบางอย่าง และกลุ่มเคลื่อนไหวสามารถหยิบฉวยผลประชามติ ไปรับใช้เจตจำนงค์ทางการเมืองของตนเองได้ จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ตามมา
ที่สำคัญหลังการลงประชามติ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ยังเป็นวาระทำสังคมและเป็นสิ่งที่ คสช.จะผลักภาระหรือปฏิเสธไม่ได้ และจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องติดตามตรวจสอบ เช่น การผลักดันกฎหมายประกอบรธน. ในกรณีที่ร่างรธน.ผ่าน หรือหากไม่ผ่าน ก็ต้องมาดูกันว่ากระบวนการร่างรธน.ฉบับใหม่ หน้าตาควรเป็นอย่างไร ถึงจะมีความชอบธรรมและในรับการยอมรับในวงกว้าง

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่รัฐบาลจัดให้เปิดเวทีให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรธน.ทั่วประเทศ ระหว่าง 29 ก.ค. - 4 ส.ค.ว่า เป็นเพียงการแก้ภาพความเสียหายก่อนหน้านี้ แต่ก็แก้ไม่ทันแล้ว เพราะคนร่วมไปร่วมน้อย ทั้งคนร่วมถกแถลงและคนฟัง อีกทั้งบรรยากาศยังไม่มีเสรีภาพ ยังมีการข่มขู่ คุกคามอยู่ตลอด และกกต. ก็ไม่รู้จักทักท้วง รวมทั้งกรณีที่บิดเบือนในทางให้รับร่างรธน.อย่างโจ่งแจ้ง กกต.ก็เฉย เพราะฉะนั้นไม่สามารถกู้ภาพการทำประชามติอย่างเสรี และเป็นธรรมได้
ส่วนเรื่องพรรคการเมือง ที่ออกมาแสดงท่าทีในการไม่รับ ร่างรธน.กันมากขึ้นนั้น ทางคสช.มักจะพูดในทางสบประมาท หรือเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่วิตกว่าคนส่วนใหญ่จะไม่รับ ความจริงแล้วพรรคการเมือง กับนักการเมือง คงไม่ได้มีอิทธิพลต่อความคิดของคนโดยตรง แบบสั่งซ้ายหัน ขวาหัน แต่อย่างหนึ่งที่คสช. ไม่เข้าใจ ก็คือ ประเทศไทยได้มีพัฒนาทางการเมืองที่สำคัญในช่วง 10 - 15 ปีที่ผ่านมานี้ โดยที่มีกระบวนการที่พรรคการเมือง ต้องพัฒนานโยบายตามความต้องการเรียกร้องของประชาชน และเมื่อผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนเป็นผู้เลือกรัฐบาล เลือกคนมาเป็นนายกฯ และเลือกนโยบายมาบริหารประเทศติดต่อกันมา ประชาชนแต่ละส่วนมีความนิยมพรรคการเมือง นักการเมือง นโยบายที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็ต้องการเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการ และมีประสบการณ์อย่างชัดเจนว่า กระบวนการเลือกตั้ง และระบบรัฐสภา ที่พรรคการเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชน เป็นกระบวนการที่ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน เ พราะฉะนั้น สิ่งนี้ต่างหากที่มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการลงประชามติ
ในเมื่อร่างรธนงนี้กำลังทำลายกระบวนการทั้งหมด ประชาชนผู้ลงคะแนนในการเลือกตั้งที่รอการเลือกตั้ง จะฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าร่างรธน.นี้ผ่าน จะกระทบต่อพัฒนาทางการเมืองนี้อย่างไร เพราะฉะนั้นการที่นักการเมืองมาพูดกันหลายๆคน จะว่ามีผลโดยตรง ก็ไม่แน่ แต่ผลทางอ้อมโดยเฉพาะประชาชนที่มีพื้นฐานความเข้าใจมากแล้ว ก็จะกลายมีผลมากได้
กำลังโหลดความคิดเห็น