xs
xsm
sm
md
lg

เกิดอะไรขึ้นถ้าร่างรธน.ไม่ผ่าน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

แม้โพลเกือบทุกสำนักจะออกผลมาว่า เสียงข้างมากจะรับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวผมแล้วผมยังเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านยาก แม้ว่าจะมีการรณรงค์ข้างเดียวก็ตาม

ครั้งที่แล้วคนมาลง 57% ชนะกัน 4 ล้านเสียงตอนนั้นมีกระแสรับไปก่อนค่อยแก้ทีหลังด้วย แต่ตอนนี้ไม่มีและคนน่าจะมาลงมากกว่าเก่า เที่ยวนี้คนไม่รับเยอะแน่พวกเสื้อแดง พวกต้านรัฐประหาร ชาวบ้านที่โดนไล่ที่ทำกิน พ่อค้าแม่ค้า นักการเมืองท้องถิ่นที่โดนแขวน ผู้พิพากษา ปชป.ฝั่งอภิสิทธิ์ที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าไม่รับ เอ็นจีโอ พันธมิตรฯ กลุ่มสู้เรื่องพลังงาน พวกต้าน ม. 178ฯลฯ

แล้วยังจะมีเสียงแตกอีกจากพวกที่คิดว่า อยากให้ คสช.อยู่ไปนานๆ แล้วเชื่อตามไพศาล พืชมงคล ผู้ช่วยกรรมการรัฐมนตรีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณที่ชวนให้ฉุกคิดว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะเป็นรัฐบาลต่อไปอีก ก็เลยออกไปไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แบบลืมคิดไปว่า คสช.จะอยู่ไปแบบอมตะนิรันดร์กาลไม่ได้หรอก เพราะต้องทานกับกระแสสากลที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็รู้จึงต้องท่องคำว่าโรดแมปไว้ตลอดเวลา สุดท้ายพวกนี้ก็จะเข้าทางฝ่ายที่ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญพอดี

ทั้งๆ ที่นายไพศาลออกมาประกาศว่าจะไม่รับร่างนั้น เป็นเพียงกลอุบายของนายไพศาลเท่านั้น นายไพศาลน่าจะประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านก็เลยยอมเป็นฟืนเผาตัวเองเพื่อขู่ฝ่ายไม่รับว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะได้ประโยชน์ หวังจะสะกิดให้ฝ่ายไม่รับลังเลใจว่า ถ้าไม่รับอาจจะเข้าทาง คสช. แต่ซวยคืออาจมีฝ่ายเดียวกันเชื่อตามออกไปไม่รับจริงๆ

ผมเชื่อว่าครั้งนี้ฝ่ายไม่รับนั้นไม่ลังเลแบบครั้งเก่าแล้ว เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียการเลือกตั้งก็ไม่ช้าไปกว่านี้ หรือถ้าจะช้าไปอีกหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะฝ่ายโน้นเขาไม่กลัวการเลือกตั้งแล้วรู้แน่ว่ายังไงก็หนีการเลือกตั้งไปไม่พ้น

จะให้รับได้อย่างไร เห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้ คสช.สืบทอดอำนาจไปอีก 2 สมัยเลือกตั้ง 8 ปี จากการกุมอำนาจผ่าน ส.ว.ที่เป็นคำถามพ่วงว่าให้ คสช.แต่งตั้ง 250 คนมีอายุ 5 ปีแล้วให้มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ด้วย อำนาจของนักการเมืองก็ไม่เหลืออะไร ต่อให้ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วยก็เป็นรัฐบาลยาก

นั่นหมายความว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านนักการเมืองก็จบเห่ คือต้องรอไปอีก 8 ปี แต่ถ้าคว่ำรัฐธรรมนูญได้แล้วต้องรอเลือกตั้งก็รอน้อยกว่า เห็นทางเลือกข้างหน้าว่ามันอับจนก็สู้เสี่ยงไปข้างหน้ากับทางเลือกใหม่ดีกว่าแม้ยังไม่เห็นก็ตาม แล้วคงหวังกันว่ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านความชอบธรรมของ คสช.ที่น้อยอยู่แล้วในทางสากลก็จะยิ่งน้อยลงอีก

ต่อให้ประยุทธ์จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้าฉบับมีชัยไม่ผ่านก็ไม่น่ากลัวเท่า เพราะยังไงรัฐธรรมนูญที่มาจาก คสช.ก็มีความศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ถ้าวันไหนกลับไปเลือกตั้งความชอบธรรมที่จะแก้รัฐธรรมนูญก็มีมากกว่า

ดังนั้น เที่ยวนี้ฝ่ายทักษิณต้องสู้สุดฤทธิ์ ต้องระดมคนออกมาใช้สิทธิถ้าถือกันแบบวันแมนวันโหวตจากคะแนนเลือกตั้ง ฝ่ายทักษิณเขาเป็นต่ออยู่แล้ว ผมเลยเชื่อว่าถ้าคนออกมาใช้สิทธิมากโอกาสจะไม่ผ่านก็มีสูง

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 75.03% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 15,744,190 คะแนน และรองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,501 คะแนน

แล้วครั้งนี้ ปชป.แตกออกเป็นเสี่ยงๆ อภิสิทธิ์ไปทางหนึ่งเทพเทือกไปทางหนึ่ง 11 ล้านเสียงของ ปชป.แม้อาจจะเชื่อเทพเทือกมากกว่า แต่มีแค่ส่วนหนึ่งสวิงมาฝั่งไม่รับตามอภิสิทธิ์ก็เหนื่อยแล้ว

คสช.เองก็คงรู้ว่าโอกาสแพ้มีมากกว่าชนะ เลยกลัวกระทั่งกาแฟยี่ห้อ “กาโน”

ผมคิดว่าฝ่ายต่อต้าน คสช.นั้นเขาไม่ได้สนใจเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญหรอกเขามีธงเรื่องโหวตโนอยู่แล้ว แต่เขาต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญมาชำแหละมาตีรายประเด็นก็เพื่อดึงมวลชนที่ยังลังเลมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในบัตรทอง สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชนอะไรบ้างที่หายไป เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับคนยากคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียด้วย

ขณะที่ คสช.ไล่ชาวบ้านออกจากป่า ทำลายไร่สวนชาวบ้านที่บุกรุกทำกิน แต่จะเอาป่าชุมชน ป่าสงวนมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วจะให้ต่างชาติมาเช่า 99 ปี เรื่องแบบนี้มันเป็นเชื้อไฟอยู่แล้ว

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุน คสช.เขาก็ไม่อ่านหรอกครับ เขาก็รับอยู่แล้ว โดยเฉพาะมวลชน กปปส.ที่เทพเทือกออกมารณรงค์ทุกวันนั้น เขาตั้งธงไปลงมติรับร่างอยู่แล้ว แม้จะฟังดูแปลกๆ เพราะเทพเทือกบอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติจะตรงกับเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนที่อยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งฟังแล้วก็งงเพราะเกิดคำถามว่า คสช.เขาปฏิรูปอะไรไปแล้วบ้าง แล้วถ้ารัฐธรรมนูญผ่านก็ต้องไปเลือกตั้งไม่ใช่เหรอ

แล้วมันจะหมายถึงการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของมวลมหาประชาชนไปได้อย่างไร

คิดแล้วตลกดีเที่ยวนี้ฝ่ายที่ควรอยากจะไปเลือกตั้ง โดยเฉพาะนักการเมืองต้องมารณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญชวนประชาชนไม่รับ ทำให้โอกาสในการเลือกตั้งช้าลงไปอีก แต่ฝ่ายที่เคยบอกว่าไม่อยากเลือกตั้งอยากให้ คสช.อยู่ไปนานๆ อยากให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเคยขัดขวางการเลือกตั้งต้องออกมารณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำให้การเลือกตั้งมีเร็วขึ้น

แล้วอย่าลืมว่าตอนเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ กปปส.ออกมาขัดขวางการเลือกตั้งมีคนไปเลือกตั้ง 20 ล้านคน มีบัตรดี 14.6 ล้านใบ โหวตโน 3.4 ล้าน บัตรเสีย 2.4 ล้าน โหวตโนกับบัตรเสียนี่คงไม่เอาเพื่อไทยแต่อยากไปใช้สิทธิไม่เห็นด้วยกับการบอยคอตขัดขวางของ กปปส.แต่ 14.6 ล้านเสียงนี่แสดงว่าไม่เอากับ กปปส.แน่ แล้วคิดว่าเที่ยวนี้คนพวกนี้จะรับหรือไม่รับล่ะ

นั่นแสดงว่าเสียงชัดๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2554 ที่ยิ่งลักษณ์ชนะกับเลือกตั้งครั้งสุดท้าย เขามีประมาณ 15 ล้านเสียงแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเสียงเรียกร้องของพลเมืองผู้ห่วงใยก็จะดังขึ้น แม้ คสช.จะถืออำนาจอยู่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีมาตรา 44 อยู่ในมือ แต่ก็ไม่มีความหมายหรอกครับ ถ้าวันที่ความชอบธรรมลดต่ำอำนาจต่อให้แข็งแกร่งกว่านี้ก็ไม่มีความหมาย อำนาจของ คสช.ก็อาจสั่นคลอนได้ไม่กล้าหรอกที่จะทำรัฐธรรมนูญแย่กว่าเก่า

ผมจึงไม่เชื่อว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น เว้นเสียแต่ว่า คสช.จะยังคงยืนยันในอำนาจที่มีอยู่โดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลย ถ้าเป็นอย่างนั้นเส้นทางขาลงของ คสช.ก็อาจจะไม่ราบเรียบก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น