xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้เสียงแตก “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญ - “หมวดเจี๊ยบ” ป้องเด็กฉีกรายชื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (ภาพจากแฟ้ม)
“สุริยะใส กตะศิลา” ระบุจุดยืนโหวตร่างรัฐธรรมนูญแต่ละกลุ่มชัดขึ้น แต่เป้าหมายในการโหวตต่างกันมาก สลับซับซ้อนกว่า แม้แต่ไม่รับเพราะอยากให้ คสช.อยู่ต่อก็มี ด้าน “หมวดเจี๊ยบ” ออกโรงป้องเด็ก 8 ขวบฉีกบัญชีรายชื่อ เพราะความซุกซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ควรถูกดำเนินคดี หวั่นกระทบอนาคตของเด็ก เหน็บพวกฉีกรัฐธรรมนูญยังชูคอ ได้นิรโทษกรรมตัวเอง

วันนี้ (24 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โค้งสุดท้ายก่อนวันลงประชามติรัฐธรรมนูญ ว่าจุดยืนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มเริ่มชัดขึ้น และเริ่มเห็นเป้าหมายในการโหวตหรือการออกเสียงที่แต่ละกลุ่มจะไม่ปกปิดกันอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การออกเสียงประชามติครั้งนี้ไม่ว่าฝ่ายรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต่างก็มีเป้าหมายต่างกันออกไป แม้จะโหวตไปในทางเดียวกัน เช่น คนที่รับร่างก็มีหลายเหตุผล มีทั้งเชื่อมั่นในร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อมั่นกลไกปราบโกง โหวตรับเพราะอีกฝ่ายไม่รับ หรือโหวตรับเพราะอยากสนับสนุนให้กำลังใจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในขณะที่ฝ่ายโหวตไม่รับร่างก็มีหลายเหตุผลและเป้าหมายด้วยเช่นกัน เช่น ไม่รับเพราะต้องการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้าน คสช. ไม่รับเพราะร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่รับเพราะอยากให้ คสช.อยู่ต่อ เป็นต้น

“เป้าหมายของการโหวตครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรก็ตาม จะไม่สามารถตีความหรืออธิบายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะเงื่อนไขในการโหวตสลับซับซ้อนกว่าการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และเป็นเรื่องยากถ้าจะมีใครเอาผลโหวตไปอธิบายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตัวเอง” นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวว่า ไม่ว่าผลการประชามติจะออกมาอย่างไร ก็ยังเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะอาจจะไม่เกิดแรงส่งให้กระบวนการปฎิรูปประเทศเดินไปในทิศทางที่พึงประสงค์ หลังประชามติไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสังคมการเมืองไทยเช่นเดิมต่อไป

ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้มีอำนาจไม่ควรสร้างตราบาปในชีวิตของเด็ก 8 ขวบ รวมทั้งเด็ก ม.1 และ ม.2 ที่ฉีกทำลายบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ เพราะความซุกซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ เด็กๆ ทั้งหมดไม่ควรถูกดำเนินคดี และไม่ควรจะถูกสั่งฟ้อง เพราะเด็กๆ อาจไม่มีเจตนาเล็งเห็นผล คือ ไม่ได้เล็งเห็นว่าการฉีกทำลายกระดาษเหล่านั้นจะส่งผลกระทบอย่างไร เช่น ไม่ทราบว่าจะทำให้มีผู้เสียสิทธิในการออกเสียงประชามติ เป็นต้น ดังนั้น ในเมื่อเด็กไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มหรือขัดขวางการลงประชามติ แต่ฉีกกระดาษเพียงเพราะความซุกซน จึงอาจไม่ครบองค์ประกอบความผิดอาญาตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงไม่ควรสั่งฟ้องเด็ก เพราะแม้จะไม่มีการลงโทษเด็กจริงๆ ก็ตาม แต่เมื่อเกิดเป็นคดีแล้ว เด็กก็จะมีคดีความติดตัวไปตลอดชีวิต

ทั้งนี้ รัฐควรดำเนินการเรื่องนี้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่ออนาคตของเด็ก และควรใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาด้วย ไม่ใช่ยึดหลักนิติศาสตร์อย่างเดียว ทั้งยังไม่ควรปิดคดีแบบง่ายๆ หรือปัดสวะให้พ้นตัว โดยโยนบาปไปให้เด็ก หรือบีบให้ผู้ปกครองยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้เรื่องจบๆ ไปง่ายๆ ผู้ปกครองก็ไม่ควรจะยอมด้วย และควรยื่นอุทธรณ์ในเรื่องนี้ เพราะมันไม่เป็นธรรมต่อเด็ก

ที่สำคัญสิ่งที่เกิดขึ้นจะโทษเด็กฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่สะท้อนว่าการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เกี่ยวกับการลงประชามติอาจทำไม่ทั่วถึง เพราะผลสำรวจโพลก็ระบุว่าคนส่วนใหญ่ไม่ทราบเช่นกันว่าจะมีการทำประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค. ดังนั้น การที่เด็กยืนยันว่าไม่รู้ว่ากระดาษที่ฉีกคือเอกสารอะไร จึงเป็นคำชี้แจงที่มีเหตุผลและเป็นไปได้ นอกจากนี้ ก็ต้องดูด้วยว่าสถานที่ติดประกาศดังกล่าว อยู่ในจุดที่เหมาะสมหรือไม่ ตั้งอยู่ในจุดที่ลับตาคนเกินไปไหม เหตุใด เด็กจึงนำประกาศออกมาฉีกเล่นได้ตั้งนาน โดยไม่มีใครเห็น ดังนั้นอย่าเพิ่งโทษเด็กอย่างเดียว

“หากรัฐบาลมีความจริงใจและมีความปรานีต่อเด็ก ก็น่าจะหาทางออกที่ดีกว่าการทำให้เด็กมีคดีติดตัวไปชั่วชีวิต และรัฐบาลก็อย่ามาอ้างเลยว่าต้องทำไปตามกฎหมาย เพราะจะถูกชาวบ้านย้อนได้ว่า แค่เด็กฉีกกระดาษไม่กี่แผ่นเพราะความไม่รู้ ผู้มีอำนาจกลับจะเอาเป็นเอาตาย ถึงกับจะส่งเด็กไปเข้าสถานพินิจฯ แต่ทีพวกผู้ใหญ่ฉีกรัฐธรรมนูญ สร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศ กลับได้นั่งชูคอหน้าสลอน แถมยังนิรโทษกรรมให้ตัวเองไม่ต้องรับโทษได้อีก ก็ไม่เห็นมีใครถูกจับส่งโรงเรียนดัดสันดานสักหน่อย ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ในอนาคตด้วย มิฉะนั้นจะเป็นการทำร้ายเด็กเกินกว่าเหตุ” ร.ท.หญิง สุณิสากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น