xs
xsm
sm
md
lg

คาดรธน.ผ่านประชามติ เหตุผู้คิดต่างไม่กล้าแสดงความเห็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การทำประชามติร่างรธน. ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่า เท่าที่ติดตามโพลสำนักต่างๆ ส่วนใหญ่ประเมินว่า ร่างรธน.นี้จะผ่าน ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่า ผ่านเช่นกัน เพราะฝ่ายที่เห็นต่างไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เนื่องจากกลัวว่าจะผิดกฎหมาย ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนให้รับร่างรธน. สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีความผิดแต่อย่างใด ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ การส่งข้อความ หรือแชร์ในไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก ในข้อมูลอ้างว่าเป็นตัวสรุปสาระของ ร่าง รัฐธรรมนูญ 6 ข้อ คือ
1. คดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางการเมืองไม่มีวันหมดอายุความ 2. หากนักการเมืองโกงกิน คอร์รัปชัน ผลาญงบประมาณ มีโทษหนัก คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต ไม่รอลงอาญา และมิให้ประกันตัว 3. หากร่ำรวยผิดปกติ มีการฟอกเงิน มีการยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ หรืองบประมาณแผ่นดินไปเป็นของตนเอง หรือพวกพ้อง นักการเมืองต้องโทษจำคุก 15 ถึง 30 ปี และยึดทรัพย์ที่ได้ไปโดยมิชอบนั้น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
4. หากบริหารประเทศผิดพลาดทำให้ประเทศชาติเสียหาย หรือเป็นหนี้มหาศาล ต้องโทษจำคุก 15 ถึง 30 ปี 5. เมื่อมีคดีติดตัวและอยู่ระหว่างการดำเนินการของศาล หรือองค์กรอิสระ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยเด็ดขาด 6. ห้ามมิให้นักการเมืองใช้ช่องทาง VIP มิให้อำนวยความสะดวกให้แก่นักการเมือง ห้ามโดยสารเครี่องบินชั้นเฟิร์ส คลาสฟรี
"ถามว่า ทั้ง 6 ข้อ มีบัญญัติในมาตราใดของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อเท็จจริง ไม่มีระบุไว้เลย แต่มีขบวนการปลุกระดมความคิด ใส่ร้ายให้เกลียดชังนักการเมือง เพื่อให้สังคมเห็นพ้องว่า สิ่งใดที่สามารถลงโทษนักการเมืองได้เวลานี้ ประชาชนจะเห็นด้วย จึงน่าห่วงอารมณ์คนในสังคม เพราะสังคมไทยไม่อ่าน แต่รับฟัง และขยายต่อ จึงง่ายต่อการบิดเบือน หรือแม้จะหาอ่านร่างรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็ยาก เพราะไม่มีแจกจ่าย และคนที่อ่านตามที่โพลระบุว่า 16 เปอร์เซ็น จะมีคนเข้าใจจริงๆ กี่คน หนำซ้ำหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ติดตามลงโทษ การบิดเบือนนี้ ทั้งที่ เข้าข่ายผิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ผมจึงเป็นห่วงในหลายเรื่องในร่างรัฐธรรมนูญนี้ " นายนิพิฏฐ์ กล่าว
**ห่วงประชามติไม่ส่งผลปฏิรูป

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันลงประชามติร่างรธน. จุดยืนทางการเมืองของแต่ละกลุ่มเริ่มชัดขึ้น และเริ่มเห็นเป้าหมายในการโหวต หรือการออกเสียงที่แต่ละกลุ่มจะไม่ปกปิดกันอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การออกเสียงประชามติครั้งนี้ไม่ว่าฝ่ายรับหรือไม่รับร่างรธน. ต่างก็มีเป้าหมายต่างกันออกไป แม้จะโหวตไปในทางเดียวกัน เช่น คนที่รับร่างก็มีหลายเหตุผล มีทั้งเชื่อมั่นในร่างรธน. เชื่อมั่นกลไกปราบโกง โหวตรับเพราะอีกฝ่ายไม่รับ หรือโหวตรับเพราะ อยากสนับสนุนให้กำลังใจคสช.
ในขณะที่ฝ่ายโหวตไม่รับร่างรธน. ก็มีหลายเหตุผล และหลายเป้าหมายด้วยเช่นกัน เช่น ไม่รับเพราะต้องการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านคสช. ไม่รับเพราะ ร่างรธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือไม่รับเพราะอยากให้ คสช. อยู่ต่อ เป็นต้น
เป้าหมายของการโหวตครั้งนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรก็ตาม จะไม่สามารถตีความ หรืออธิบายอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะเงื่อนไขในการโหวตสลับซับซ้อนกว่าการออกเสียงประชามติ รธน. พ.ศ.2550 และเป็นเรื่องยาก ถ้าจะมีใครเอาผลโหวตไปอธิบายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มตัวเอง
ฉะนั้นไม่ว่าผลการประชามติจะออกมาอย่างไร ก็ยังเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะอาจจะไม่เกิดแรงส่งให้กระบวนการปฎิรูปประเทศเดินไปในทิศทางที่พึงประสงค์ หลังประชามติ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร การปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายสังคมการเมืองไทยเช่นเดิมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น