ประชาธิปัตย์ระบุ คสช.ใช้ ม.44 ยุติสรรหาองค์กรอิสระ สะท้อนขัดแย้งของผู้มีอำนาจ ทำเกิดความแตกแยกใน สนช. เชื่อยิ่งใกล้วาระจะไม่มีใครกลัวใคร “วิรัตน์” แนะใช้ ม.44 คืนสิทธิที่ดินชาวบ้านเขาบูโด ซึ่งมีทั้ง ส.ค.1 มี น.ส.3 ก. และโฉนดที่ดิน แต่กรมอุทยานฯ กลับไม่คืนที่ประชาชน
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คสช.ใช้มาตรา 44 สั่งยุติการสรรหาองค์กรอิสระว่า ดีที่รัฐธรรมนูญเขียนมาตรา 44 เอาไว้ เข้าใจว่ารัฐบาลมองว่าเป็นเรื่องลึกจริงๆ และเป็นช่องว่างซึ่งมีความขัดแย้งเกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ได้เรียบร้อยแต่มีความแตกแยก ดังนั้น สิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องระวังอย่างมาก คือ ยิ่งใกล้ที่ คสช.จะลงจากอำนาจมากเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้จะเกิดมากขึ้น ทั้ง สนช.และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยิ่งนานไปก็ยิ่งบริหารยากขึ้น
“จะเห็นความไม่ลงรอยหรือแตกแยกกันขึ้น เพราะใกล้หมดวาระก็จะไม่มีใครกลัวกันแล้ว หากจำกันได้ว่าช่วงก่อนที่ สปท.จะถูกยุบจะมีความเห็นต่างของคนออกมา มีการด่ากันวุ่นวาย ขนาดผู้ตรวจการแผ่นดิน สรรหาขึ้นมาใหม่เป็นครั้งที่ 2 สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยก ในกระบวนการของผู้มีอำนาจ ดังนั้นหากปล่อยให้ สนช.เลือกผมคิดว่าเละแน่นอน”
ด้านนายวิรัตน์ กัลยศิริ ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มาตรา 44 ที่รัฐบาลใช้หากมีเหตุผลและความจำเป็นโดยไม่มีกฎหมายอื่นเข้ามาแก้ไขให้ทันก็จำเป็นต้องใช้ นอกเหนือไปจากเรื่องอื่นๆ เช่น การสรรหาองค์กรอิสระ, สื่อ, การบุกรุกพื้นที่ป่า ตนคิดว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลควรต้องทำ เช่น กรณีป่าบูโด 3 จังหวัด 9 อำเภอที่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีโฉนดที่ดิน น.ส 3.ก. มีราษฎรอยู่ก่อนประกาศเขตป่า (ปี 2542) ประมาณ 300 ปี ราษฎรที่กล่าวมานี้มีทั้ง ส.ค.1 มี น.ส.3 ก และโฉนดที่ดิน ซึ่งมาตรา 6 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติบัญญัติว่าที่ตรงนี้เป็นที่ของราษฎร แต่กรมอุทยานฯ ก็ไม่คืน มีราษฎรที่เดือดร้อนอยู่อย่างนี้ เฉพาะที่ภาคใต้ประมาณแสนคนที่เดือดร้อน ตนจึงคิดดว่านายกรัฐมนตรีควรจะใช้มาตรา 44 คืนสิทธิให้แก่ราษฎร จะได้รับการชื่นชมจากประชาชน เพราะฉะนั้นการใช้มาตรา 44 อยู่ที่ทำเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมแล้วประชาชนก็รู้
“ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลออกมาตรา 44 เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายที่ล่าช้า หรือข้อกฎหมายไปไม่ถึง แต่ไม่ควรนำมาตรา 44 มาใช้แก้ปัญหาการเมือง เพราะจะมีประเด็นโต้แย้งและประเด็นอื่นๆ จำนวนมาก แต่หากใช้ในกรณีทุจริต ข้าราชการไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก็เชื่อว่าหลายคนชื่นชม”