รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม นปช. เชิญยูเอ็นเข้ามาสังเกตการณ์ศูนย์ปราบโกงประชามติ เชื่อหวังผลทางการเมือง ไม่มีประโยชน์ และผลประชามติไม่ทำให้ คสช. สะเทือน ชี้ใช้ชื่อศูนย์ปราบโกงบังหน้า แต่ใช้เงินทุน มีการระดมทุน มองโลกในแง่ดีไว้ก่อนไม่เห็นทักษิณเกี่ยวข้อง เชื่อคนไทยกว่า 90% ไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ แนะ กรธ. ชี้แจงเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนก่อน
วันนี้ (14 มิ.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เชิญต่องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาสังเกตการณ์ การตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติของกลุ่ม นปช. ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ในเรื่องนี้ ไม่รู้ทำไปแล้วได้ประโยชน์อะไร เข้าใจว่าการตั้งศูนย์นี้คงจะมีหวังผลทางการเมือง มากกว่าจะให้มีการสอดส่องการปราบการโกงประชามติจริง ๆ เพราะตนเชื่อว่า การโกงประชามตินั้นคงจะไม่มีประโยชน์อย่างไรเลย และไม่เข้าใจว่าจะทำไปทำไม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ ตนคิดว่าก็คงจะไม่ส่งผลเสียกับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อถึงกรณีที่ในตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่าสามารถตั้งศูนย์ปราบโกงฯ ได้ แต่ต่อมาทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า การตั้งศูนย์ปราบโกงนี้ทำไม่ได้นั้นตนเข้าใจว่าตอนแรกนายกรัฐมนตรีคงไม่ได้คิดว่าการตั้งศูนย์ปราบโกงนี้จะกลายมาเป็นขบวนการใหญ่โต ท่านคงอยากจะให้คนออกมาแสดงความเห็น ไม่อยากปิดกั้นอะไร แต่พอมีการเคลื่อนไหวออกมา ก็ปรากฏว่า ดูเป็นเรื่องที่หวังผลทางการเมืองมากเกินไป เลยต้องออกมาห้าม
“การตั้งศูนย์ปราบโกงฯ นั้นเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม นปช. โดยเอาชื่อศูนย์ปราบโกงฯ มาบังหน้า ต้องยอมรับว่า เมื่อเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องมีการใช้เงินทุน มีการระดมทุนเพื่อดำเนินการ” นายนิพิฏฐ์ กล่าว
เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการก่อตั้งศูนย์ปราบโกงนี้หรือไม่ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ถ้าจะไปคิดแบบนั้นก็อาจจะเอาเปรียบมากเกินไป เพราะขณะนี้ยังไม่เห็นว่านายทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้อง การเคลื่อนไหวระดับทั่วประเทศนี้ต้องใช้เงิน ส่วนจะใช้เงินของใครนั้นตนไม่ทราบ ประชาชนก็คงจะมองออกเอง
ส่วนที่ สวนดุสิตโพล ทำผลสำรวจออกมาระบุว่าประชาชนร้อยละ 53 ยังไม่รู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกตนกังวลมาตั้งแต่ต้นแล้ว ตนเชื่อว่า ส่วนใหญ่แล้วคนไทยร้อยละ 90 คงไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ พอถึงเวลาลงประชามติ ก็ลงไปตามความเชื่อมากกว่าฐานของความรู้ เชื่อใครก็ลงไปอย่างนั้น แม้แต่นักกฎหมายที่อ่านร่างรัฐธรรมนูญยังตีความต่างกันเลย แล้วประชาชนจะเข้าใจในรายละเอียด ว่า ตรงไหนดีและไม่ดีได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยากมากอีกเช่นกัน ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญจะชี้แจงอย่างไรให้ประชาชนตัดสินใจได้ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งตนเห็นด้วยกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ควรจะชี้แจงเนื้อหาในส่วนเกี่ยวข้องยังไงกับชีวิตประชาชนก่อน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่