xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์-ทักษิณ” ถึงคราวแลกหมัดเอาตัวรอดเกมสั้น-ยาวยังสูสี!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ตามภาษาการเมืองเขาเรียกว่า “ลวงพราง” ได้เนียนทีเดียว สำหรับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่โผล่ออกมาส่งสัญญาณให้มวลชน กปปส.ที่สนับสนุนเขา รวมถึงบรรดา “แม่ยก” ทั้งหลายให้โหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในคำแถลงเมื่อวันก่อนชูข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ กันเต็มสูบ ถึงกับพูดว่า “ตรงใจ” กันเลยทีเดียว สร้างความปลาบปลื้มให้กับคณะกรรมการร่างฯยิ่งนัก แต่ที่น่าจะแฮปปี้อยู่ข้างหลังฉากก็น่าจะหนีไม่พ้น “ระดับบิ๊ก” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รวมทั้ง “พี่ใหญ่” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองหัวหน้า คสช. แน่นอน

เพราะหากย้อนกลับไปพิจารณาคำพูดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่หลุดออกมาในงานเลี้ยงฉลองกันภายในหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 ในทำนองว่า “รู้กัน” มาตั้งแต่ต้น ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องการความสนับสนุน เพื่อสร้างความมั่นใจก็ต้อง “ออกมา”

แม้ว่าในคำพูดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “มีความหวัง” ในเรื่องปฏิรูป รวมทั้งเรื่องปฏิรูปตำรวจ โดยเขายังชื่นชมยินดี และยังเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้น ทั้งที่ในรอบเกือบสองปีที่ผ่านมาความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวแทบไม่มี นอกเหนือจากการโยกย้าย “กลุ่มเก่าออกไป” แล้วเอา “พวกตัวเอง” เข้าไปสวมแทน เพื่อความเหมาะสมเท่านั้น

ที่สำคัญ แม้ว่าจะมีคำถามก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องให้ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” แต่มาถึงวันนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็สามารถ “รอให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป” ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเชื่อมั่นในบทเฉพาะกาลที่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นคนคัดกรองสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน และร่วมโหวตกับ ส.ส. เพื่อให้เลือกนายกฯจากคนนอก นั่นคือ “คนนอกที่อยู่นอกบัญชี” ของพรรคการเมืองได้ โดย ส.ว.ในช่วงที่อ้างว่า “เปลี่ยนผ่าน” นี้ นานถึง 4 ปี ขณะที่วาระของ ส.ส.มีแค่ 4 ปี เท่านั้น ความหมายก็คือ ส.ว.สามารถได้เลือกนายกฯ คนนอกเกินสองครั้ง ส่วนจะ “กี่คน” นั้นเป็นเรื่องอนาคตเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันเฉพาะประเด็น “มวลชนสนับสนุน” ข้ามเนื้อหาในร่างรัฐธรรมรัฐธรรมนูญออกไปบ้าง ก็จะทำให้เห็นภาพบางอย่างปรากฏออกมาให้เห็น นั่นคือ หากพิจารณากันแยกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่าย “รับ” กับฝ่าย “ไม่รับ” พิจารณาจากฝ่ายรับก่อน นาทีนี้ นอกเหนือจากฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.แล้ว นาทีนี้ที่เห็นชัดก็น่าจะมาจากการสนับสนุนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. “บางส่วน” ที่บอกว่าบางส่วนก็เพราะว่าน่าแปลกแยกออกไปในแบบ “ไม่รับร่าง” หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ในกลุ่มของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แถลงออกมาก่อนหน้านี้ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่าไม่รับ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานมวลชนของ กปปส.มาจากฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงฝ่าย “ไม่รับ” แล้ว แกนนำหลักก็ต้องเป็น “เครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร” ทั้งนามพรรคเพื่อไทย กลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง รวมทั้งบรรดานักวิชาการ และนักศึกษาฝ่ายซ้ายแนวร่วม โดยเฉพาะในส่วนของเครือข่ายทักษิณแท้ๆ กลุ่มนี้ยังถือว่าหนักแน่นมั่นคง ประกาศชัดเจนกันไปแล้วว่า “ไม่เอา” ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มนี้ยังมีพลัง และหากมาผสมกับกลุ่มอื่นที่รับไม่ได้ และ “รู้ทัน” กับพฤติกรรมและผลงานของคนในรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางคนที่พยายามสร้างเครือข่าย “อำนาจใหม่” ขึ้นมาอยู่ในเวลานี้ มันก็ยิ่งน่ากลัว โอกาสที่จะไม่ผ่านก็มีอยู่ไม่น้อย ไม่เช่นนั้นคงไม่ทำให้ฝ่ายอำนาจรัฐมีอาการ “ซีเรียส” กันแน่นอน ถึงขนาดห้ามทุกฝ่ายเคลื่อนไหว โดยเฉพาะ “กลุ่มไม่รับ” นั้นห้ามขาดเลย

นัยว่าเพราะกังวลจะเกิดกระแสลุกลามจนควบคุมได้ยาก ดังนั้น จึงต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม คุมเข้มทุกทุกกระเบียดนิ้ว อย่างไรก็ดี เชื่อว่านาทีนี้มีคนไม่น้อยที่ตัดสินใจแล้ว โดยกลุ่มนี้จะตัดสินใจโหวตไปตามผู้นำกลุ่มที่ตัวเองชื่นชอบและเชื่อถือ ขณะที่อีกกลุ่มยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งก็เชื่อว่า มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรหากพิจารณากันจาก “ความรู้สึก” แบบที่ไม่มีอะไรรองรับ ถึงอย่างไรในที่สุดแล้ว “น่าจะผ่าน” ไปได้ ยกเว้นเกิดการป่วนขึ้นมาก่อน จนต้องยกเลิกการลงประชามติ แต่ก็น่าจะยาก

สำหรับความเชื่อที่ว่าผ่านนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความกังวล หรือไม่มั่นใจว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติแล้ว ตามกฎหมายเปิดช่องให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นประกาศใช้เลย ซึ่งนั่นเท่ากับว่า “มีความเสี่ยง” ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบไหน เปิดออกมาแล้วจะ “หงายหลัง” กันเลยก็ได้ นั่นคือเลวร้ายกว่าเดิมก็ได้ รวมไปถึงพวกที่อยากเลือกตั้งเร็วๆ เสียที

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากจำนวนมวลชนทั้งสองฝ่ายแล้วนาทีนี้ยังไม่มีใครกล้าฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะจำนวนมวลชนนั้นยังถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ฝ่าย ทักษิณ นั้นถือว่านิ่งกว่าลักษณะว่าไงว่าตามกันยังสูง ขณะที่อีกฝ่ายถือว่ามีความอ่อนไหวสูงกว่า สนใจพฤติกรรมและผลงานของรัฐบาลและคนใน คสช. ประกอบด้วย หากผลงานผ่านมาสองปียังไม่เข้าตาประเมินแล้วไม่คุ้มค่ากับการเสียสิทธิ์เสรีภาพหลายอย่าง มองเห็นว่ามีระดับบิ๊กบางคนกำลังน่าสงสัยว่ากำลังสร้างเครือข่ายอำนาจเพื่อคิดการใหญ่วันหน้า โอกาสพลิกผันก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

ยิ่งหากชาวบ้านเริ่มมองเห็นแนวโน้มว่า “เสียของ” มันก็อาจจะยุ่งเหมือนกัน จะด้วยสาเหตุนี้ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเริ่ม “แลกหมัด” กันรุนแรงมากขึ้น เหมือนกับล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกมาฟันเปรี้ยงใส่หน้า ทักษิณ ชินวัตร ว่า อยู่เบื้องหลังป่วนชาติ ก็ถือว่าชัดเจน แต่สำหรับคนที่ติดตามการเมืองมานานกลับ “หัวร่อ” มีการตั้งคำถามว่าทำไมความรู้สึกช้าจัง เพราะชาวบ้านเขาออกมาไล่ เจ็บตายกันนับไม่ถ้วนแล้ว แต่ทำไมเพิ่งตื่น มันก็น่าคิดเหมือนกัน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น