โฆษก กรธ.ย้อน “อภิสิทธิ์” ร่าง รธน.คงสิทธิสาธารณสุข การศึกษา ยกปราบโกงนโยบายเด่น แจงเปิดช่องคดีนักการเมืองอุทธรณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน ปัดเอื้อกลุ่มใด ตรวจสอบ ป.ป.ช.เป็นระบบเปิด ร้อง ปธ.รัฐสภาแทน ช่วยเหลือเสี่ยงถูกเอาผิด ป้อง ส.ว.แต่งตั้งเข้ามาให้เกิดปฏิรูปแท้จริง ย้ำต้องใช้เวลาปรับให้มีแนวคิดร่วมกัน ลั่นยึดอำนาจเสียของแบบครั้งก่อนไม่ได้ ชี้ไม่ใช่ประเด็นรับไม่รับนายกฯ อยู่ยาว
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงของ สนช.พร้อมให้เหตุผล 3 ข้อว่า กรธ.เห็นว่าช่วงใกล้ถึงเวลาออกเสียงประชามติ กรธ.ต้องชี้แจงโดยเฉพาะเสียงวิจารณ์และความคิดเห็นโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองที่แสดงจุดยืนในประเด็นที่ไม่ตรงกับความถูกต้อง ประเด็นที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญลดทอนสิทธิและเสรีภาพนั้น ยืนยันว่าสิทธิการรักษาพยาบาลและสิทธิการรับเบี้ยงยังชีพคนชราและสิทธิในการศึกษายังคงอยู่เช่นเดิม แม้จะมีรายละเอียดแตกต่างไปบ้างแต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิ ขณะที่การบัญญัติข้อความในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ก็ไม่เคยบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้บังคับโดยตรงเช่นกัน
นายอุดมกล่าวว่า ส่วนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีประสิทธิภาพในการปราบโกง ยืนยันว่าการปราบโกงเป็นนโยบายที่ชัดเจนของ กรธ. โดยเฉพาะการทุจริตจากการใช้อำนาจรัฐ และการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรธ.ว่าหลักการเหล่านี้อย่างชัดเจน ส่วนที่ กรธ.เปิดช่องให้จำเลยสามารถอุทธรณ์ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นั้น เราเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ระดับนานาชาติและสากลที่ กรธ.จะต้องเคารพเป็นข้อเสนอแนะที่เสนอเข้ามา โดยเฉพาะศาลยุติธรรมก็เห็นชอบแนวทางนี้ เราไม่สามารถทำได้โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรมได้ ดังนั้นการมองว่าเป็นช่องโหว่หรือช่วยเหลือกลุ่มการเมืองใดนั้น กรธ.ยืนยันว่าไม่ได้คิดถึงกลุ่มการเมืองใดเป็นการเฉพาะ อีกทั้งกระบวนการเหล่านี้ของศาลฎีกาฯยังครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบองค์กรอิสระอีกด้วย
นายอุดมกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่จะตรวจสอบการทุจริตคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยง่าย ยืนยันว่าหากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกตรวจสอบในเรื่องทุจริต หรือฝ่าฝืนจริยธรรม เราจึงจำเป็นคือวางมาตรฐานเฉพาะโดยเปลี่ยนจากการร้องเรียนไปที่ประธานวุฒิสภา ไปเป็นร้องไปที่ประธานรัฐสภา เพื่อตั้งกรรมการไต่สวนอิสระ กรธ.ยืนยันว่าเป็นกระบวนการที่เปิดเผย ไม่ปิดลับ การตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปช่วยเหลือกันง่ายๆ กรธ.เห็นว่าเป็นมาตรฐานที่เพียงพอที่จะอุดช่องว่างที่มีการกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช. อีกทั้งหากเป็นห่วงว่าประธานรัฐสภาจะช่วยเหลือกรรมการ ป.ป.ช. ตัวประธานรัฐสภาก็ต้องระวัง ถูกผู้ที่พบเห็นและร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยเช่นกัน
โฆษก กรธ.กล่าวอีกว่า ทิศทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในข้อเท็จจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทิศทางการปฏิรูปที่มีการกำหนดไว้ รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ และเพียงพอที่จะตอบโจทย์ที่สังคมแสวงหาด้วย ส่วนที่กำหนดว่า ให้ ส.ว.มาควบคุมการปฏิรูป อาจมีการวิจารณ์ว่า ส.ว.ที่เข้ามาไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากการแต่งตั้ง กรธ.ยืนยันว่าเป็นเพียงระยะเปลี่ยนผ่านและเข้ามาปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เพราะเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วจะไม่มี คสช. ดังนั้น พลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง จำเป็นที่จะมีกลไกนั้นคือ ส.ว.ทำงานในรูปแบบสภาที่จะมีส่วนในการผลักดันการปฏิรูปได้สำเร็จ แตกต่างจาก คปป.ที่เกิดวิพากษ์วิจารณ์มากในสังคม อีกทั้งก็ไม่เห็นด้วยว่า ส.ว.สรรหาจะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น เพราะในทางการเมืองในเรื่องความขัดแย้งหรือการเห็นต่างๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย
“กรธ.อยากให้ประชาชนกลับไปย้อนในสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนมีการยึดอำนาจ 22 พ.ค. 2557 เหตุการณ์ในบ้านเมืองมีความวุ่นวายมีความแตกแยกจนไม่สามารถปกครองหรือดำเนินการไปตามระบียบของบ้านเมืองได้ การที่เราร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นความหวังที่จะนำสังคมกลับคืนสู่ระบบปกติ เราต้องใช้เวลาปรับระบบเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมีที่ยืน มีแนวคิดอยู่ร่วมกันได้ และ กรธ.ยืนยันว่าสิ่งที่ร่างมามีความประสงค์ที่ดีและปรับตัวให้ไปสู่อารยประเทศได้”
เมื่อถามว่า การปิดกั้นการแสดงความเห็นประชามติจะมีปัญหาถ้ารัฐธรรมนูญผ่านว่าประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นได้ นายอุดมกล่าวว่า กลุ่มต่างๆ ที่ออกมาแสดงความเห็นก็ไม่เห็นจะถูกห้าม แม้ความเห็นจะต่างแต่เราก็ไม่เคยไปจับกุมดำเนินคดี เว้นแต่จะรุนแรงหรือก้าวร้าว
เมื่อถาม หากรัฐธรรมนูญอาจทำให้ คสช.ใช้ช่องทาง ส.ว.ในการสืบทอดอำนาจ นายอุดมกล่าวว่า ที่ผ่านมานักการเมืองก็มีความเห็นต่างในรายละเอียด ซึ่งการดำเนินการสรรหา ส.ว.250 คนก็ต้องเปิดเผยต่อสาธรณะ ไม่ได้แอบทำ การกระทำของ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คนอาจมองว่านานไป แต่เราจะให้การยึดอำนาจเสียของเหมือนครั้งที่แล้วหรือไม่ หลายคนกังวลว่าจะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ แต่เรายังมี ส.ส.500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจากระบอบประชาธิปไตย การเมืองอย่ามองแค่คณิตศาสตร์แต่ต้องมองที่ประโยชน์ของประชาชน
เมื่อถามว่ามีการประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 7 ส.ค. เช่นถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ร่าง นายอุดมกล่าวว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น เราจะเดินตามโรดแมปเลือกตั้งปี 2560 การที่ใครจะบอกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้นายกฯ อยู่ยาว ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นที่จะเอามาคิด
เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ออกมาชี้นำเช่นนี้จะทำให้ผลการออกเสียงประชามติจะออกมาเชิงลบหรือไม่ นายอุดมกล่าวว่า เราไม่กังวลใจ ส่วนจะมีคนเห็นเหมือนเห็นต่างๆ สิ่งเหล่านั้นเขาใช้สิทธิของเขาตามปกติซึ่งเราก็รับฟัง