xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างกฎหมายพรรคใหม่สุดเข้ม-เพื่อแม้วร้องจ๊าก !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



“เมื่อรัฐธรรมนูญ (รธน.) ประกาศใช้ วันรุ่งขึ้น กรธ. ต้องเสนอร่าง พ.ร.ป. ต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ร่างนี้ค่อนข้างตกผลึกที่สุดแล้ว สื่อมวลชนน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ต้องทำความเข้าใจตรงกันกับ กรธ. ก่อน โดยสัปดาห์หน้าวันที่ 14 ธ.ค. กรธ. จะแถลงชี้แจงกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักการเมืองที่ได้รับผลกระทบโดยตรงให้เข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นก่อนส่งให้ สนช.

“ยังมีส่วนที่ปรับแก้ได้ตราบใดที่ยังไม่สงต่อ สนช. หากมีข้อบกพร่อง ถือเป็นร่างกฎหมายลูกฉบับแรกที่ กรธ. จัดทำเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง โดยมีหลักการสำคัญคือ พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือที่รัฐธรรมนูญ หวังให้เป็นเครื่องมือของประชาชน นำพาผู้แทนบริหารจัดการบ้านเมืองแทนประชาชน ถือเป็นตัวเริ่มต้นที่จะคาดหวังว่าจะเป็นการเมืองที่ดี เพราะคนที่จะเป็น ส.ส. ต้องผ่านพรรคการเมือง ถ้าพรรคเริ่มต้นไม่ดี เอาคนไม่ดีมาทำงานแทนกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม สังคมก็จะได้การเมืองอย่างที่ทราบๆ กัน ซึ่ง กรธ. พยายามวางกรอบจากเดิมที่ทำอะไรก็ได้ จะพรรคเล็ก พรรคใหญ่ กำหนดทิศทางนโยบายอย่างไรก็ได้ ต่อไปนี้ต้องตอบสนองภาระหน้าที่ผลประโยชน์ที่รัฐธรรมนูญประสงค์ให้ดำเนินการ เพราะที่ผ่านมา มีพรรคการเมือง และนักการเมือง ออกมาวิจารณ์ตีปลาหน้าไซ ว่า กรธ. ยกร่างมาเพื่อบีบพรรคการเมืองให้ขาดอิสรภาพในความคิด การทำงาน ทำให้ง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะจัดการอะไรไม่ได้”

“การเกิดของพรรคการเมืองสิ่งที่จะต้องทำ คือ ต้องเริ่มจากกลุ่มคนที่มีแรงบันดาลใจที่จะทำให้กิจการบ้านเมืองเติบใหญ่ ต้องรวบรวมสมาชิกให้ได้ 500 คน ในการก่อตั้งพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่เอาแรง และเอาเวลามา แต่ต้องเสียสละปัจจัยด้วย พรรคการเมืองจะทำงานได้ต้องมีเงิน โดยกำหนดให้มีการลงเงินทุนประเดิมอย่างน้อยคนละ 2 พันบาท หรือ 1 ล้านบาท โดยต้องมีรายละเอียดรายงานชัดเจนเปิดเผย สมาชิกก่อตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคที่มีการคัดสรร ในปีแรกต้องมีสมาชิกให้ได้ 5 พันคน ใน 4 ปี ควรได้สมาชิกไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ต้องมีชื่อพรรค โลโก้ ตราย่อ เครื่องหมาย อุดมการณ์ นโยบาย โดยจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง คือ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อประกาศให้ประชาชนรับทราบ

สาขาพรรคต้องมีอย่างน้อย 1 สาขาในแต่ละภาคที่ กกต. กำหนด แต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่อยู่ในภูมิลำเนาอย่างน้อย 500 คน หรืออาจมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด แต่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยว่า 100 คน ในพื้นที่นั้น พร้อมทั้งมีตำแหน่งสำคัญอื่นๆ เช่น หัวหน้า กรรมการบริหาร (กก.บห.) เลขาธิการ เหรัญญิก เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบ เช่น การเงิน การจัดกิจกรรม

ส่วนการหาผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ประกอบด้วย กรรมการบริหารไม่เกินกึ่งหนึ่ง และตัวแทนสาขาและคณะกรรมการตัวแทนจังหวัดรวมกันไม่เกินกึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ในมาตรา 23 บัญญัติว่าการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองอย่างน้อยจะต้องมีกิจกรรมดังต่อไปนี้ 1. เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างมีเหตุผล และมีความรับผิดชอบ 2. เสนอแนวทางการพัฒนาประเทศและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีเหตุผลโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน

3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินกิจการทางการเมือง รวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล 4. สร้างเสริมให้สมาชิกและประชาชนมีความสามัคคีปรองดอง รู้จักยอมรับความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่าง และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชน ถือเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ย้ำเตือนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ให้ทะเลาะเบาะแว้งจนเสียหายอย่างที่ผ่านมา หากไม่ทำหน้าที่นี้ถูกยุบพรรคได้ ตามมาตรา 97 โดย กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคนั้น และเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น

“คนอาจสงสัยว่าพวกพรรคเก่าจะอยู่อย่างไร จะเซตซีโร่ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผมเรียนว่า เราไม่เคยรู้สึกว่าสถาบันการเมืองเดิมจะต้องถูกโละอย่างที่พูดกัน เราเข้าใจดีว่าคนที่ทำงานอยู่เดิมย่อมรู้สึกว่าจะมีเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ถ้าเขาทำดีอยู่แล้วเราคงไม่ไปทำอะไร เรื่องที่ให้ดำรงอยู่เราก็คิดอยู่ เพียงแต่อยากให้เข้ามาร่วมจรรโลงสังคมตามกฎกติกา การจะมีสมาชิก 500 คน ในเวลาที่เหมาะสม คิดว่าไม่ยากสำหรับพรรคใหญ่ แค่ไปเคลียร์สมาชิกเดิมที่มีหรือบางคนอาจล้มหายตายจากไปแล้ว หรือชื่อซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ส่วนพรรคเล็กที่อาจจะต้องทำงานเหนื่อยหน่อย ต้องพยายามไประดมให้ได้ ตามเวลาที่กำหนดแต่ต้องมีความอดทนถ้ายังทำไม่ได้ก็อย่าสมัครรับเลือกตั้งเลย ถ้าเป็นกุฏิ หรือสภากาแฟ ไม่ต้องเป็นพรรคการเมืองหรอก แค่เป็นชมรมก็ได้ แต่เมื่อไหร่ที่อยากส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ต้องมีกำลัง องคาพยพที่ใหญ่พอสมควร พยายามทำงานมวลชนให้คนที่มีความคิดทางการเมือง มาทำงานร่วมอุดมการณ์ ต้องมีการลงทุนเงินและแรง กำลัง ส่วนพรรคเก่าต้องมีทุนประเดิมเท่าพรรคใหม่”

การจะไปหานายทุนมาสนับสนุนพรรคก็ต้องระวัง เพราะอาจจะกลายเป็นชนักติดหลังว่าทำจริงหรือไม่ เพราะการเป็นสมาชิกจะต้องมีการส่งเงินบำรุงพรรค เมื่อไหร่ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงจะมีความผิด และ มีโทษทางอาญาด้วย ที่ผ่านมา ต้องเป็นเรื่องการดำเนินการของพรรคไม่ใช่ตัวบุคคล แต่เมื่อมีการยุบผลที่ตามมา คือ กรรมการบริหารจะทำงานต่อไปได้หรือไม่ เรามีข้อที่ทำให้เห็นว่าถ้าศาลสั่งยุบกรรมการบริหารห้ามไปจดทะเบียนพรรคขึ้นมาใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหาร หรือมีส่วนร่วมจัดพรรคใหม่ 10 ปีนับแต่ถูกยุบ จะไปครอบงำพรรคอื่นไม่ได้ เพราะมีชนักติดหลัง

การทำหน้าที่ของพรรคการเมืองจะต้องมีเรื่องเงิน ส่วนหนึ่งมาจากพรรคการเมืองเอง และอีกส่วนมีการสนับสนุนจากรัฐ คือ มีการตั้งกองทุนสนับสนุน โดย กกต. ระดมตั้งกองทุนซึ่งส่วนใหญ่มาจากงบประมาณแผ่นดิน และจากนักการเมืองที่ทำผิดต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือผู้ประสงค์จะบริจาคให้พรรคการเมือง โดยบุคคลสามารถบริจาคให้พรรคการเมืองจะสามารถหักภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท สำหรับภาษีบุคคลธรรมดา และ 5 หมื่นบาท สำหรับนิติบุคคล"

นั่นเป็นเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ที่แถลงโดย อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม แม้ว่าจะยังไม่ใช่เป็นข้อสรุปสุดท้าย แต่เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้วเนื่อหาสำคัญแทบทั้งหมดไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้แล้ว เพราะเขาย้ำว่า เป็นเนื้อหาที่“ตกผลึก”ที่สุดแล้ว

เมื่อตกผลึกมันก็หมายความว่าต้องเดินไปตามแนวทางที่ว่า ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อพิจารณากันแบบนึกภาพตามไปด้วยก็ต้องยอมรับว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว ทั้งในเรื่องของการก่อตั้ง จดทะเบียนพรรค สมาชิกพรรค ค่าบำรุงพรรค เงินบริจาค การคัดเลือกผู้สมัครของพรรค รวมไปถึงบทลงโทษหากมีการกระทำผิด

แน่นอนว่า หากพิจารณากันอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องยอมรับว่าพรคการเมืองใหญ่ในปัจจุบัน รวมไปถึงพรรคต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ นั่นคือในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้

ขณะเดียวกัน หากโฟกัสกันไปเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ สองพรรคนั่นคือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ย่อมได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย นี่ถือว่า“กระอัก”ที่สุด เพราะจะว่าไปแล้วพรรคการเมืองนี้หากพิจารณาตามรูปแบบแล้วก็ต้องบอกว่า“ไม่ใช่พรรค” แต่น่าจะเป็น“บริษัทพรรค”มากกว่า เนื่องจากถูกชี้นำโดย“เจ้าของ”ซึ่งก็คือ คนในครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ เพราะทั้งในเรื่องทุนสนับสนุน เงินอุดหนุน เงินค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่รับรู้กันว่ามาจากไหน

รวมไปถึงการกำหนดทิศทางพรรค นโยบายพรรค การกำหนดวางตัวผู้สมัครล้วนมาจาก “นายใหญ่”ของพวกเขา หรือแม้กระทั่งหลังการเลือกตั้งหากชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ก็มีการกำหนดตัวรัฐมนตรี หรือแม้แต่คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ล้วนมาจากคนในครอบครัวนี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องได้รับความเห็นชอบ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีหลายคนต้องเดินทางไปพบกับเจ้าของพรรคถึงต่างประเทศทุกครั้ง

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่หากเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยก็ถือว่ายังน้อยกว่ามาก อาจมีปัญหาในเรื่องของจำนวนสมาชิกที่ต้องมีการตรวจสอบกันใหม่ รวมทั้งการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต่อไปนี้ ต้องผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาที่มีตัวแทนจากทั่วประเทศ ก็อาจมีความเข้มข้นกว่าเดิม แต่ที่ผ่านมาสำหรับพรรคนี้ก็มีการริเริ่มมาบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าสุดท้ายก็อยู่ที่การตัดสินใจของคณะผู้บริหารพรรคที่เป็น “ขาใหญ่” เป็นคนชี้ขาด แต่เมื่อให้เปลี่ยนไปก็ต้องเปลี่ยน แต่ถึงอย่างไรระบบความเป็นพรรคการเมืองก็ยังมีอยู่มากกว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ดี

พรรคการเมืองอื่นก็เหมือนกัน แม้จะเป็นพรรคขนาดกลาง หรือเล็ก อย่างพรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา ที่มีรูปแบบเป็นพรรคของครอบครัว มันก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน นอกเสียจากพวกเขาถอดใจไม่ดำเนินการต่อนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่หากยังดำเนินกิจกรรมต่อไป มันก็ถือว่าเป็นงานหิน จนแทบหาอนาคตไม่เจอเลยทีเดียว

ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่บรรดาพรรคการเมือง นักการเมือง โดยเฉพาะจากค่ายเพื่อไทยจะออกมาโวยวายว่านี่คือแผนทำลายพรรคการเมือง เพราะมันเหมือนกับการตัดทางทำมาหากิน ขัดขวางทางลัดในการเข้าสู่อำนาจ ทำลายวงจรธุรกิจการเมืองแบบเหี้ยนเตียน ประกอบกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีการกำหนดสัดส่วนคะแนนการเลือกตั้งทำให้ได้ ส.ส. กระจายออกไป จนเชื่อว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด มันก็ยิ่งอ้วก

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาจากสังคมในเวลานี้ เชื่อว่า ถึงนักการเมืองจะโวยวายอย่างไรก็ไม่มีผล เพราะชาวบ้านยังเหม็นเบื่อ ต่อให้กดหัวหนักกว่านี้ก็คงไม่มีใครมาสนใจ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น