xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” หนุนร่าง กม.ลูกพรรคการเมือง คาดบังคับใช้อนาคตเหลือไม่เกิน 10 พรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“กกต.สมชัย” เชียร์ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ทำพรรคเข้มแข็งทำกิจกรรมมีคุณภาพปูทางเป็นสถาบัน มองสอดคล้องหลักการ 3 ยากของ กกต. เชื่อบังคับอนาคตเหลือไม่เกิน 10 พรรค รับตั้งพรรคใหม่ยาก แต่มองเป็นหลักการที่ดีจะได้คนมีอุดมการณ์เสียสละ แนะจับตาความเท่าเทียมพรรคการเมืองเก่า-ใหม่ แต่ย้ำไม่จำเป็นต้องเซตซีโร่พรรคการเมือง เหตุทำให้ยุ่งยาก

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างแล้วเสร็จว่า จากการพิจารณาเนื้อหาเบื้องต้นเห็นว่า กฎหมายพรรคการเมืองต้องการให้พรรคเข้มแข็งทำกิจกรรมการเมืองได้อย่างมีคุณภาพและนำไปสู่การพัฒนาเป็นสถาบัน ดังนั้น กฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาต้องเสริมสร้างหลักการเหล่านี้ไม่เป็นปัญหาอุปสรรคจนทำให้พรรคการเมืองทำงานยาก

“การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองที่ทำให้ยากในการจัดตั้งพรรคต้องมีสมาชิกก่อตั้งและเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาทขึ้นไป และมีการเก็บเงินบำรุงรายปีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อคน หากดูผิวเผินจะคิดว่าเป็นภาระพรรคการเมืองในการจัดตั้งพรรค แต่ถ้าดูลึกๆ ไปแล้วจะเห็นว่ารากฐานของการก่อตั้งพรรคการเมืองคือสมาชิกที่แท้จริงที่รวมตัวด้วยอุดมการณ์ เสียสละทำงานเพื่อพรรค และต้องมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการกิจกรรมของพรรค จึงเห็นว่าแม้จะมีความยากลำบากแต่ก็เป็นหลักการที่ดีเพราะทำให้การจัดตั้งพรรคต้องมีคนที่ร่วมอุดมการณ์เสียสละมาทำงาน”

ส่วนในแง่การดำเนินการของพรรคกฎหมายกำหนดว่าในเวลา 4 ปีแรกต้องมีสมาชิกพรรค 2 หมื่นคน กระจายสาขาพรรคให้ได้ 4 สาขาในทุกภูมิภาค มีสมาชิกแต่ละสาขาไม่น้อยกว่า 5,000 คน เป็นกระบวนการที่ทำให้พรรคมีความเข้มแข็ง ท้ายสุดสาขาพรรคจะมีส่วนร่วมสำคัญในการคัดผู้สมัครของพรรคการเมืองตามกติกาที่ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เท่ากับว่าพรรคจะอยู่ยากขึ้นไม่ใช่ว่าอยู่ง่ายเพราะต้องมีกิจกรรมและหาสมาชิกพรรคอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การสิ้นสภาพของพรรคการเมืองในเรื่องการยุบพรรคมีกฎเกณฑ์ที่ทำให้ยุบพรรคยากขึ้น ใครทำผิดก็เป็นผลต่อตัวเองคนเดียว จึงเห็นว่าเนื้อหาเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่ กกต.เสนอไปในหลักสามอย่างคือ ตั้งยาก อยู่ยาก และยุบยาก

“แต่จุดที่ต้องช่วยกันดูให้ดีคือจะมีความเท่าเทียมและเป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองเก่ากับใหม่หรือไม่ ซึ่ง กรธ.ต้องดูให้ดีว่ากฎกติกาที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือไม่ เช่น การเก็บเงินจากสมาชิกก่อตั้ง 500 คนเป็นเงิน 1 ล้านบาท แต่พรรคการเมืองเก่าไม่ต้องไปหาใหม่สามารถแปรสินทรัพย์ที่มีเป็นเงินก่อตั้งได้ ถ้ามีเงินเดิมอยู่ก็นำมาใช้ได้เลยไม่ต้องไปเก็บเพิ่ม ซึ่งอาจทำให้ไม่เกิดความหลากหลาย ไม่ได้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ก่อตั้งจริง” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวด้วยว่า ตนได้แนะนำเจ้าหน้าที่ให้ศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวและทำข้อกำหนดตามกฎหมายว่า ทั้งพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่มีเงื่อนไขอะไร ต้องทำอะไรให้เสร็จภายในกี่วัน และเปรียบเทียบว่ามีอะไรที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันหรือไม่ หากมีก็จะเสนอและชี้ประเด็นให้เห็นต่อไป อย่างไรก็ตาม เห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทุกพรรคไปจดทะเบียนใหม่เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันเพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากกว่า แต่ต้องทำให้สมาชิกที่มีอยู่เป็นสมาชิกที่แท้จริงต้องดำเนินการอย่างเท่าเทียมกัน เช่น พรรคการเมืองเก่าก็ต้องเก็บเงินค่าสมาชิกให้ได้ 5,000 คนภายในเวลา 180 วัน เพื่อให้จำนวนสมาชิกแน่นอน และฐานข้อมูล กกต.จะลดภาระลง เนื่องจากบางพรรคการเมืองแจ้งจดสมาชิกกว่า 1 ล้านคน จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีมากขนาดนั้น ก็ต้องไปจัดการในการที่จะเก็บเงินจากสมาชิกและสมาชิกที่ชำระค่าธรรมเนียมจะปรากฏในฐานข้อมูลจริงๆ แต่ทาง กกต.ยังไม่ได้มีมติที่จะดำเนินการอะไร หากมีประเด็นสำคัญ กกต.ก็จะพยายามทำให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งนี้เห็นว่า หลังจากกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ภายในเวลา 3-4 ปีพรรคการเมืองจะเหลือไม่เกิน 10 พรรค เพราะในเวลาดังกล่าวพรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 2 หมื่นคนต้องเก็บเงินค่าบำรุงสมาชิกเป็นรายปี รวมประมาณปีละ 2 ล้านบาท หากดูจากตัวเลขการบริจาคเงินที่ผ่านมาโดยนำเงิน 2 ล้านบาทมาเป็นเกณฑ์ก็มีอยู่ไม่เกิน 10 พรรค ดังนั้น ในอนาคตก็คาดการณ์ได้ว่าจะเหลือพรรคการเมืองในระบบไม่เกิน 10 พรรค เป็นผลดีที่ว่าจะมีพรรคการเมืองจำนวนจำกัด ประชาชนก็จะมีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจพรรคเพื่อเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกได้ แต่ปัญหาคืออาจมองว่าไม่หลากหลาย ไม่เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงินเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องปรับตัว โดยภาพรวมจึงคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีขึ้น

ส่วนร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจะช่วยแก้ปัญหาการครอบงำพรรคการเมืองได้หรือไม่นั้น มองว่าในกฎหมายมีเขียนไว้แต่ต้องพิสูจน์ว่ามีการครอบงำจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ ก็ต้องหาหลักฐานมายืนยัน แต่กระบวนการก็ซับซ้อนการจะหาหลักฐานยืนยันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเขียนไว้เป็นการป้องปรามทำให้ไม่ส่งเสริมให้มีการกระทำดังกล่าว ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายด้วยว่าจะดำเนินการได้อย่างเต็มที่หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น