xs
xsm
sm
md
lg

สพม.เปิดถกร่าง กม.เลือกตั้ง พร้อมใจค้านเซตซีโร่ ปชป.-พท.รับไพรมารีโหวตทำยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพม. เปิดเวทีถกร่าง กม. เลือกตั้ง นักการเมือง - นักวิชาการ - องค์กรอิสระ ตบเท้าร่วม พร้อมใจค้านเซตซีโร่พรรคการเมือง - กกต. “ตวง” ชี้ กรธ. ยังไม่ให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมของภาค ปชช. ปชป.- พท. มองไพรมารีโหวตดี แต่ทำจริงยาก “โคทม” ค้านลงโทษเหมาเข่ง “ศรีราชา” กร้าวให้ยกเลิกเลือกตั้งนอกไทย ชี้ คนทำมาหากินข้างนอกไม่ควรออกเสียงให้เปลืองงบ

วันนี้ (14 พ.ย.) สภาพัฒนาการเมือง (สพม.) ได้จัดเสวนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “ทิศทางการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับ โดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายโคทม อารียา อดีต กกต. นายตวง อรรถชัย สนช. นายภุชชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขา กกต. นายศรีราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นางนันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการ เป็นต้น

ทั้งนี้ ประเด็นในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นว่าพ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ยังไม่ให้ความสำคัญเพียงพอ ควรแก้ปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงข้อมูลทางการเมืองของภาคประชาชน ขณะที่การจะนำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ยังไม่น่าจะเหมาะสม และไม่เห็นด้วยที่จะมีการเซตซีโร่พรรคการเมือง หรือ กกต.

โดย นายตวง อรรถชัย สนช. กล่าวว่า คิดว่าหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในสังคมไทยอาจมีแค่การให้ความร่วมมือ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในฐานะความเป็นเจ้าของจริง ๆ ในร่างกฎหมายที่จะร่าง ไม่มีที่ยืนของประชาชนเลย ไม่มีการตรวจสอบกระบวนการของการเอาสิทธิ์ของประชาชนไปใช้ ถ้าออกแบบแบบนี้ต่อไปจะเกิดความลำเอียง เพราะ กกต. และ มหาดไทย มีความเป็นราชการสูง การให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเรียนรู้ด้วยตนเอง จะเป็นการสร้างจิตสำนึกในระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่ดีที่สุด และช่วยให้ลดความขัดแย้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องไพรมารีโหวตนั้น พรรคต้องเป็นผู้กลั่นกรองผู้สมัครแล้วให้ประชาชนเลือกอีกที ซึ่งก็ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่พื้นฐานในเขตเลือกตั้ง แต่ความเป็นจริงพรรคที่ทำตามกฎหมายได้จะต้องมีสาขาพรรคทั่วประเทศถึงจะรับข้อมูล และสะท้อนความต้องการของประชาชนในสาขานั้น แต่มีปัญหาเชิงปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้น คือ เวลาเชิญประชุมสมาชิก 2 พันคน มาเพียง 200 คน และมีการล็อบบีที่จะเอาใครเป็นผู้สมัคร ไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริง และการจะเซตซีโร่พรรคการเมืองก็จะเป็นการทำลายกลไกสถาบันหลักของพรรคการเมืองไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย ส่วนการเซตซีโร่ กกต. นั้น เชื่อว่า จะไม่แก้ปัญหา ควรต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการทำไพรมารีโหวต และพรรคเพื่อไทย ก็อยากทำ แต่เพราะบรรยากาศและความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญมันไม่ได้ จะมีการรีเซตสมาชิกพรรคอีกหรือไม่ก็ไม่รู้ การจะเริ่มควรมาจากสมาชิกพรรคมีอดุมการณ์ไม่ใช่จาการยัดเยียดของ กกต. ว่า ประชาธิปไตยคืออะไร และไม่ควรไปเขียนกฎหมายเคร่งครัด ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ และเห็นด้วยที่จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลนักการเมือง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรากำลังกำหนดกติกาที่ขัดความเป็นจริง หรือเร็วเกินไปหรือไม่ ทั้งที่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องวิวัฒนาการ การให้ประชาชนมีส่วนร่วม สิ่งแรกควรส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีสมาชิกให้มากที่สุด แต่เรากลับมีข้อจำกัดมากมาย

“ไพรมารีโหวตของอเมริกาดูดี แต่เราไม่ดูว่าเขาใช้เวลา ใช้เงินไปเท่าไหร่กว่าที่จะได้ตัวแทนมา ไพรมารีแบบไทยๆ ทำแบบสาขาพรรคเสนอมาคุยกันรู้เรื่อง บางทีคนที่คนในเขตส่งมาก็ไม่ใช่แบบที่พรรคการเมืองอยากได้”

ส่วนการเซตซีโร่ กกต. นั้น ตัวร่างรัฐธรรมนูญเองไปเขียนให้มีปัญหา เขียนให้ กกต. เป็นลูกไก่ในกำมือของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หากทำตัวดีก็อยู่ แต่ถ้าทำตัวไม่ดีก็ถูกเซตซีโร่ ขณะนี้สามารถไปได้ทั้ง 2 ทาง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า หากคนเก่าไม่มีคุณสมบัติตามกฎหมายใหม่ก็ไม่ควรอยู่ ส่วนการเซตซีโร่พรรคการเมือง ตนเห็นว่าพรรคการเมืองตั้งใหม่คนที่ชี้แนวทาง ก็คือ ผู้ก่อตั้ง แต่เมื่ออยู่นานแล้วอำนาจของผู้ก่อตั้งก็ลดลงไปอยู่ที่คนใหม่ ดังนั้น หากเซตซีโร่พรรคการเมือง เท่ากับทำให้พรรคถอยหลังกลับไปอยู่ในมือผู้ก่อตั้ง อีกทั้งการกำหนดให้สมาชิกพรรคเสียค่าสมาชิกรายปีก็ยิ่งทำให้สมาชิกพรรคน้อยลง ไม่เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตย

ด้าน นายโคทม อารียา อดีต กกต. กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษพรรคการเมืองแบบพ้นตำแหน่งทั้งคณะ หรือเหมาเข่ง ซึ่งคิดว่าแรงเกินกว่าเหตุ และไม่เห็นด้วยกับการเซตซีโร่พรรคการเมือง เพราะกว่าจะได้สมาชิกมาก็ลำบากอยากพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมือง ก็กลับถูกฆ่าตัดตอน ต้องตั้งพรรคใหม่ มองว่าควรให้เป็นไปตามครรลองปกติ ส่วนการเซตซีโร่ กกต. นั้น ตนไม่ขอออกความเห็น แต่ถ้าจะบอกว่าเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการทำงานก็เห็นว่าเป็นคนละเรื่องกับการเซตซีโร่

นายศรีราชา วงศารยางค์กูร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ไม่ควรเซตอะไรใหม่แล้วทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมขึ้น เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ อยากให้ กสทช. จัดสรรเวลาให้ผู้สมัครทุกคนหาเสียงสั้นๆ ได้เท่าเทียมกันในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนฟังและเปรียบเทียบ ในส่วน กกต. คิดว่า ไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางทาง อาจทำให้มีปัญหาความรู้ประสบการณ์เตรียมรับเลือกตั้งจะมีปัญหา อาจไปเซตซีโร่หลังผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ส่วน กกต. จังหวัดมีการเมืองแทรกเยอะ ไม่ควรจะมี และอยากจะเสนอให้ยกเลิกการเลือกตั้ง นอกราชอาณาจักร เพราะประชาชนที่ทำมาหากินข้างนอกไม่ควรส่งเสียงเข้ามา เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ






กำลังโหลดความคิดเห็น