xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงคิว กกต.โดนขู่ “เซตซีโร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากมีกระแสข่าวการ “เซตซีโร”พรรคการเมือง หรือการยุบพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมแล้วให้จดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ สร้างความหวั่นไหวให้บรรดานักเลือกตั้งมาแล้ว เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน มาคราวนี้ก็ถึงคิว “กรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต.ที่อาจจะถูกเซตซีโร หรือ สรรหาใหม่หมดทั้ง 7 คนด้วยเช่นกัน

กระแสข่าวนี้ออกมาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ที่เห็นว่า ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ที่ผ่านการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้ง กกต.จะมีบทบาทและหน้าที่แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นจึงอาจจะต้องมีการสรรหาใหม่ ให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ

หลังจากมีกระแสข่าวออกมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้ออกมาคัดค้านทันที โดยบอกว่า อยากให้มีการไตร่ตรองให้ดี เพราะการสรรหาใหม่ไม่ทำให้เกิดผลดี เนื่องจากกระบวนการสรรหาต้องใช้เวลา 2 เดือน โดยหลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ จะต้องมีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ภายใน 5 เดือน ถ้าให้มีการสรรหาใหม่หมด กกต.ชุดใหม่ก็จะมีเวลาเตรียมงาน 2-3 เดือนซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง เพราะ กกต.มือใหม่ ก็จะไม่ทันกับฝ่ายการเมือง หรือถ้าจะอ้างว่าคุณสมบัติของ กกต.ชุดเก่าแตกต่างจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด ก็ต้องเปลี่ยนศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ด้วย เพราะใช้หลักคุณสมบัติในข้อเดียวกัน

“อยากถามกลับ กรธ.ว่า กล้าพูดดังๆ ไหมว่าจะเซตซีโรองค์กรอิสระเหล่านี้ด้วย ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้วาระ กกต.หมดพร้อมกัน การเหลื่อมการพ้นวาระเป็นผลดีมากกว่าที่จะออกแบบให้หมดวาระพร้อมกัน เพราะจะทำให้เหลือคนที่รู้งานมีประสบการณ์เอามาส่งต่อให้กับ กกต.ที่มาใหม่ รูปแบบเดิมที่กำหนดให้ กกต.ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนคนเก่าที่หมดวาระ โดยให้วาระการดำรงตำแหน่งเหลือเท่าวาระ กกต.ที่มีอยู่ ไม่จูงใจให้คนมาเป็นกรรมการองค์กรอิสระ”

เมื่อ กกต.ออกตัวแรงอย่างนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ต้องรีบออกมาตัดไฟแต่ต้นลมว่า กรธ.ไม่เคยพูดถึงการเซตซีโร่ กกต.และยังไม่เคยมีแนวคิดคิดดังกล่าว อย่าพึ่งเดากันไปเอง ร่างรัฐธรรนูญกำหนดว่า องค์กรอิสระต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้คิดอะไร ต้องรอสรุปความเห็นในการสัมมนาวันที่ 28 ก.ย.ก่อน

นายมีชัยยังบอกอีกว่า แม้จะมีการตั้ง กกต.เพิ่มอีก 2 คน ให้ครบ 7 คนตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่อาจทำให้ กกต.เปรียบเสมือนปลาสองน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ต่อไปก็ต้องทำงานเป็นปลาหลายน้ำ ต้องช่วยกันทำงานอยู่ดี ทุกวันนี้คนที่ทำงานก็มาจากหลายฝ่าย ไม่ได้จูงมือเข้าพร้อมกัน ก็ยังทำงานกันได้ ซึ่งเวลาเขียนกฎหมายลูกต้องเขียนให้ครอบคลุม

ถึงแม้นายมีชัยได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่มีการเซตซีโร่ กกต.และยังไม่เคยมีแนวคิดดังกล่าว แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของนายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.เมื่อวันที่ 21 กันยายน ก็ให้เบาะแสว่า แนวคิดที่จะเซตซีโร กกต.นั้น มีอยู่อย่างแน่นอน

นายอุดมบอกว่า กรธ.ยังไม่ได้อภิปรายหรือมีข้อยุติในเรื่องนี้ โดยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติได้กำหนดให้คณะกรรมการ อำนาจ หน้าที่ องค์กรอิสระเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ตนไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเซตซีโร่ กกต. เพียงแต่อธิบายถึงคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เนื่องจากภาระหน้าที่และคุณสมบัติจะแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เป็นที่มาของกรรมกรอิสระหลายองค์กร จึงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายลูกอีกครั้งว่า สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าหากมีการปรับเปลี่ยนกรรมการโดยเฉพาะ กกต.แล้ว จะสามารถสรรหา กกต.ชุดใหม่ 7 คน เพื่อมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ส.ส. และจัดทำกระบวนการสรรหา ส.ว.ทันภายใน 5 เดือน ตามที่บทเฉพาะกาลกำหนดไว้หรือไม่ ทั้งหมดจึงเป็นเพียงคำอธิบาย ที่ยังต้องรอการพิจารณา โดยเฉพาะการสัมมนารับฟังความเห็นในวันที่ 28 กันยายนนี้

นายอุดมบอกอีกว่า ประเด็นการเซตซีโร่องค์กรอิสระไม่ได้ยุติที่ กรธ. แต่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่จะพิจารณาอีกครั้งก่อนประกาศใช้ เข้าใจว่ากรรรมการองค์กรอิสระแต่ละท่านมีความปรารถนาอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้บ้านเมืองดีขึ้น แม้จะมีที่มาตามรัฐธรรมนูญเดิมก็ตาม แล้วจึงกังวลว่า เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ กรธ.จะใจร้ายตัดอนาคตการทำหน้าที่ แต่เรื่องผลประโยชน์ของบ้านเมือง เราจะคำนึงถึงด้านนี้ด้านเดียวไม่ได้ เพราะหากมองด้านนี้เพียงด้านเดียว กรธ.ก็ต้องเขียนให้อยู่จนครบวาระ

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยถึงการประชุม กมธ.เมื่อวันที่ 20 กันยายน ว่า กมธ.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของ กกต. 7 เรื่อง ได้แก่

1. ให้ กกต.สร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่างที่จะไม่กระทำการใดอันเป็นประโยชน์ส่วนตน 2. ให้ทำงานอย่างเป็นระบบมีความสัมพันธ์ประสานเชื่อมโยงระหว่างความเป็น กกต.ด้วยกัน 3. การบริหารงานในองค์กรให้รับผิดชอบการทำงานร่วมกัน และไม่ควรแบ่งความรับผิดชอบเป็นส่วนๆ

4. ให้สร้างวัฒนธรรมองค์กรต่อการทำงานของ กกต.ร่วมกัน 5. ไม่กระทำการใดอันอาจทำให้ประชาชนขาดความศรัทธา อันอาจนำไปสู่ความไม่เชื่อถือต่อการเลือกตั้ง 6. ให้มีการใช้งบประมาณด้วยความประหยัดและจำเป็น และ 7. การสับเปลี่ยนตำแหน่งประธานหรือกรรมการ โดยมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายเป็นการกระทำอันไม่สมควร

ทั้ง 7 เรื่องนี้ กมธ.จะเสนอต่อที่ประชุมวิป สปท.ในสัปดาห์หน้าเพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สปท.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอต่อ กรธ.ต่อไป

ส่วนกรณีการเซตซีโร่ กกต.นั้น นายเสรีบอกว่า ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดปัญหาและความไม่ต่อเนื่องขององค์กร ซึ่งจะทำให้เกิดความวุ่นวายมาก อย่างไรก็ตาม วาระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรก็ต้องไปพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ซึ่งได้กำหนดวาระแต่ละองค์กรไว้ก็ต้องพิจารณาตามนั้น

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความคิดเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเมื่อวันที่ 22 กันยายน ถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ที่เกี่ยวกับวาระขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ กกต.ว่าขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ กำลังรวบรวมความเห็นของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ ว่าแต่ละภาคส่วนมีความเห็นอย่างไรในแต่ละเรื่อง เพื่อที่จะนำข้อมูลไปสังเคราะห์ อาจจะต้องมีการจัดเวทีสัมมนา เป็นเวทีร่วมกันระหว่าง สนช.กับ กรธ. เพื่อเก็บข้อมูลมาพร้อมกันและตรงกัน

อย่างไรก็ตาม นายสุรชัยบอกว่า ความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนที่เสนอมายังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะประเด็นเซตซีโร่มีการพูดกันมาก ทั้งในส่วนของพรรคการเมือง และองค์กรอิสระ แต่ประเด็นที่เรากำลังคิดอยู่ว่าจะไปกระทบสิทธิของคนที่มีสิทธิอยู่เดิมหรือไม่ โดยหลักของการออกกฎหมายใหม่ถ้าไม่มีความจำเป็นก็อย่าไปกระทบสิทธิของคนที่มีอยู่เดิม แต่ประเด็นที่ต้องคิดควบคู่ คือ การบังคับใช้กฎหมายใหม่จะทำให้รอบของการดำรงตำแหน่งของคนที่อยู่ในองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ตรงกันหรือไม่ แล้วจะทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น ตนขอเวลาไปคิดเรื่องเหล่านี้เพื่อชั่งน้ำหนักของความได้เสีย เพราะที่สุดเรื่องนี้จะเข้าสู่คณะกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะนำความเห็นเหล่านี้กระจายให้สมาชิก สนช.ใช้พิจารณากฎหมาย โดยเฉพาะในขั้นตอนของการแปรญัตติ

นั่นเท่ากับว่า ถึงเวลานี้ กกต.ก็ยังลูกผีลูกคนว่าจะโดนเซตซีโรหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้หรือไม่ และขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของ สนช.ที่จะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งในขั้นตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น