xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “เซตซีโร” สู่ “นายกฯคนนอก” ยังไง “ลุงตู่” ก็นอนมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไปๆมาๆไม่หมูอย่างที่คิดแฮะ!!

แม้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับบทเป็นดีไซน์เนอร์ออกแบบให้ตามใจ “แป๊ะ” ผนวกกับคำถามพ่วงประชามติที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมลงมติเลือกนายกฯในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชงเข้ามา จะได้ตราประทับผ่านการออกเสียงประชามติไปแบบสบายๆก็ตาม

เสียงโหวตเยส 61% ไม่มากไม่มาย แต่เพียงพอที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ+คำถามพ่วง เตรียมประกาศใช้เป็น “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” รอแค่กระบวนการทางเทคนิคเล็กน้อย

ที่ว่าไม่หมูก็ประเด็นสำคัญที่ว่า “ฝ่ายกุมอำนาจ” ปูพรมแดงรอ “นายกฯคนนอก” ในรัฐบาลชุดต่อไปหลังการเลือกตั้ง อ่านตามตัวอักษรทางทฤษฎีนี่ล็อกไว้หมด แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ง่ายปานปอกกล้วยอะไรอย่างที่คิด ยิ่งฝ่ายที่ต้องค้านแบบหัวชนฝาเป็น “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” ที่พร้อมสามารถเล่นแร่แปรธาตุ หาช่องหลบ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองยิ่งน่ากลัว

อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใครต่อใครขนานนามกันว่า เป็นฉบับบล็อกระบอบทักษิณ ที่สุดแล้วนักการเมืองยังหาวิธีซอกแซกกันได้เลย จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เมือง นำมาสู่ 22 พฤษภาคม 2557

ก่อนการลงประชามติ “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” เล่นบทเด็กดื้อ ไม่พูดพร่ำทำเพลง ซัดโครมๆว่า “ร่างมีชัย” ไม่เป็นประชาธิปไตย แจกแจงโช๊ะๆว่ามี “ร่องรอยเผด็จการ” พรึ่บพรั่บไปหมด แต่เมื่อพังพาบในเวทีประชามติก็ปรับบทจากเด็กน้อยที่เคยพูดว่า “ไม่อาวๆ” กลายเป็น “กูรูกฎหมาย” เลกเชอร์หลักการเป็นเรื่องเป็นราว ดักทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และองคาพยพ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนยัดคำถามพ่วงลงในร่างรัฐธรรมนูญ

ดักคอกันโต้งๆว่า ได้คืบอย่าเอาศอก

ย้อนกลับไปดูคำถามพ่วงที่ผ่านการประชามติที่ระบุว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำลังง่วนอยู่กับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามคำถามพ่วงที่ผ่านการประชามติ
จู่ๆ “สายเชลียร์ คสช.” ออกมาเคลมเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นชอบเป็นฉันทมติให้ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯตั้งแต่ “นัดแรก” อย่างที่ ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ของ สนช. ออกมาประสานเสียงกับ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เสนอให้ ส.ว.ที่สรรหาโดย คสช.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้เลยตั้งแต่การประชุมรัฐสภานัดแรก

ซึ่งค่อนข้างเพี้ยนไปจากมาตรา 272 ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลที่ระบุว่า “ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

โดยที่ มาตรา 159 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันระบุว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”

ถอดรหัสมาตรา 159 รวมกับมาตรา 272 แล้วก็เท่ากับ ส.ว.จะเข้ามามีบทบาทร่วมเลือกนายกฯได้ก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรตกลงกันไม่ได้ แล้วเข้าเงื่อน “เดดล็อก” ก็จะถึงคิว ส.ว. 250 คนในฐานะ “สมาชิกรัฐสภา” ที่ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งอาจจะไม่อยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้

ครั้นจะไปเคลมเสียงโหวตเยสคำถามพ่วง แล้วลาก ส.ว.เข้าไปร่วมลงมติเลือกนายกฯตั้งแต่แรกนั้นก็เท่ากับต้องย้อนไปแก้มาตรา 159 และมาตรา 272 ก็เท่ากับไปแก้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้ว
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ค้านแนวคิดแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเกินกว่าคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ
แน่นอนว่า ฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยนั้นไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค และ วิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมายของพรรค ก็พูดในทำนองเดียวกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ที่เพิ่งผ่านประชามติไปนั้น การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อเลือกนายกฯตามบัญชี แต่ถ้าเลือกกันไม่ได้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ต้องให้เสียงกึ่งหนึ่งของ ส.ส.หรือเกิน 250 คน เสนอต่อประธานรัฐสภา ให้รัฐสภามีมติยกเว้น ไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อ จากนั้น จึงใช้เสียงของรัฐสภา คือ ส.ส. และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีรายชื่อ

“ถือเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่เสนอให้ประชาชนลงคะแนนผ่านประชามติ ดังนั้น เรื่องนี้จะแก้ไขกันอย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้ว ใครจะไปตัดตอน เพิ่มเติม ให้ขาด หรือเกินไปจากนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถือว่าไม่เคารพเสียงของพี่น้องประชาชน”

หากคิดตีกินแล้วรวบรัดกันแบบนี้ ก็ต้องเจอกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่ทันประกาศใช้กันเลย เสียงคำรามจาก “นักเลือกตั้งค่ายสีฟ้า” ว่าไว้

ประเด็นการล็อกตัวนายกฯคนใหม่หลังเลือกตั้งที่คิดว่าแน่นหนารัดกุมแล้ว กลับมี “ช่องโหว่” เกิดขึ้น ยิ่งเมื่อ ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการรัฐศาสตร์คนดังออกมาวิเคราะห์ว่า การสู้กับอิทธิพล ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ทำได้ง่ายนิดเดียวหาก 2 พรรคการเมืองใหญ่มีเสียง ส.ส.ถึง 376 จาก 500 ที่นั่ง แล้วจับมือกันเสนอชื่อนายกฯ ให้จบตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 88

เพียงแต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ต้องก้าวข้ามสูตรเลือกตั้งที่วางหมากกลผิดทางการผูกขาดที่จะชนะหลุดลุ่ย ต้องเกลี่ยคะแนนไปให้ “พรรคขนาดกลาง - พรรคขนาดเล็ก” เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะนับทุกคะแนน ต่อให้พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กจะไม่ได้ส.ส.เขตเลยแม้แต่คนเดียว แต่หากนับคะแนนทั้งประเทศรวมกันแล้วถึงเกณฑ์ ก็มีสิทธิ์ที่ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ จะได้ที่นั่งเข้ามา

เพราะ “พรรคขนาดกลาง - พรรคขนาดเล็ก” นี่แหละที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการเสนอชื่อ “นายกฯคนนอก”

ก่อนหน้านี้หลายคนมองออกว่า การที่กรธ. ออกแบบๆ นี้ เพื่อเป็นการให้อำนาจพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กในการต่อรองกับพรรคขนาดใหญ่ หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 พรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ชนะขาดลอย ทำให้มีอำนาจในการเกลี่ยเก้าอี้ใน ครม. ไปให้พรรคร่วมรัฐบาล แบบไม่ต้องเกรงใจว่า จะต้องจัดสรรกระทรวงเกรดเอมาให้

อีกทั้ง ตอนนั้นการนำพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กมาก็เพื่อสร้างเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ใช่เพราะคะแนนเสียงขาดเยอะจนตั้งไม่ได้ เหมือนกับที่พรรคไทยรักไทย เคยชนะขาดลอยจนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวแต่สุดท้ายไม่รอด เพราะไม่มีพรรคพวกในสภาฯ มีแต่พวกตัวเอง พอกลับมาเป็นพรรคพลังประชาชนเลยแก้เกมใหม่ ดึงพรรคร่วมมาด้วยเพื่อลดศัตรู

แต่คราวนี้รูปการณ์เปลี่ยนไป เพราะพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กจะทรงคุณค่ามาก ต่อให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถโกยคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำในการเลือกตั้ง จนได้เข้ามาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอสำหรับการตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” โดยไม่ง้อคนอื่น

สูตรนี้อย่างไรก็ต้องง้อพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กเพื่อเอาเสียงมาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในทางการเมืองย่อมต้องต่อรองเก้าอี้กัน ครั้งนี้ภาพที่พรรคใหญ่ควบกระทรวงสำคัญๆ แล้วเจียดกระทรวงเกรดบี เกรดซี ไปให้พรรคเล็ก ไม่น่าจะเกิด แต่ต้องจัดสรรกันให้ทั่วถึงจนเป็นที่พอใจ

พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน พวกนี้ “เล่นตัว” เรียกราคาได้!
ไพบูลย์ นิติตะวัน ว่าที่แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯคนนอกหลังเลือกตั้ง
ไม่ใช่แค่เรื่องกระทรวงเท่านั้นที่ต้องจัดสรรปันส่วนกัน ด้วยความที่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กที่เกิดใหม่จะผุดอีกจำนวนมาก เพื่อมาหารคะแนนพรรคใหญ่แล้ว อย่างเช่น “พรรคประชาชนปฏิรูป” ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. จะทำให้พรรคเหล่านี้มีอำนาจถึงขั้นเสนอชื่อ “นายกฯคนนอก”

ต่อให้ตามกติกาจะให้โอกาสพรรคอันดับหนึ่งเสนอชื่อคนมาเป็นนายกฯคนนอก แต่ถ้าครั้งนี้พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กปฏิเสธทั้งหมด ในความเป็นจริงก็จะทำไห้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทางเดียวที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้คือ ยอมให้พรรคมินิพวกนี้เสนอชื่อนายกฯ

ที่สุดหากพรรคใหญ่ต้องการเป็นรัฐบาล ก็อาจต้องโอนอ่อนยอมตามใจพรรคมินิ ดังนั้น พลังอำนาจของพรรคเหล่านี้คือ ตัวแปรในการกำหนดว่าใครควรจะเป็นนายกฯ

นี่คือจุดประสงค์ของทีมงานแป๊ะที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ หากจะพูดว่า สร้างมาเพื่อ “นายกฯคนนอก” คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ คสช. เอาหินทับหญ้าด้วยการสั่งบล็อกนักการเมืองห้ามเคลื่อนไหว ก็มีข่าวว่า ไปกวาดต้อนพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กที่ต้องการเป็นรัฐบาลเอาไว้หมดแล้ว พร้อมทั้งเตรียมตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาซัพพอร์ตกันในเรื่องนี้

ดูไปไม่น่าจะมีปัญหาอะไรสำหรับบันไดสู่นายกฯคนนอก กระนั้นก็มีรูเบ้อเร่อ หากเกิดกรณีฝนตกขี้หมูไหล พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ หันไปรวมการเฉพาะกิจเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทีนี้ล่ะไม่ต้องง้อพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กเลย 2 พรรคใหญ่จัดตั้งรัฐบาลสบาย เพราคะแนนเสียงเพียงพอ

มองข้ามไม่ได้ เพราะวันนี้ในใจคนประชาธิปัตย์หลายคนเองไม่ค่อยพอใจกับกติกาฉบับนี้ ขนาดประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงประชามติยังทำมาแล้ว อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน

อย่ามองข้ามประวัติศาสตร์ในอดีต พรรคประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบรู้รอดเป็นยอดดีมาหลายหน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร ที่ตอนแรกเกาะๆ แกะๆ กับทหาร แต่พอน้ำผึ้งขม สามารถแก้เกมเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจได้แบบเนียนๆ หรืออีกจุดคือ พรรคเพื่อไทย ปฏิบัติการ “ผึ้งแตกรัง” แตกสาขากระจายที่นั่ง ส.ส. ตรงนี้ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นกัน โดยให้แกนนำพรรคแต่ละคนกระจายไปตั้งพรรคนอมินีขนาดเล็กและพรรคขนาดกลาง ไม่รวมกันเป็นกระจุกเหมือนเก่า ซึ่งอยู่ครบทุกภาค จากนั้นไปเจอกันในสภา

พรรคการเมืองเริ่มคิดการใหญ่หาทางหลบเลี่ยงโรดแมปอำนาจของ คสช. จึงเป็นที่มาของไอเดียเพี้ยนที่จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญแบบที่ให้ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.เข้าไปล็อคการเลือกนายกฯตั้งแต่แรก รวมทั้งทำให้ประเด็น “เซตซีโร่” ล้างกระดานพรรคการเมืองผุดขึ้นมาอีกครั้ง ทางหนึ่งก็เพื่อสลายขั้วการเมืองไม่ให้แข็งแกร่งจนยากควบคุม อีกทางก็ตีกลุ่มก้อนทางการเมืองให้แตก เพื่อที่จะจูง “นักเลือกตั้ง” บางส่วนมาเสริมให้พรรคขนาดกลาง-เล็ก หรือกระทั่ง “พรรคนอมินี” ที่พร้อมยัดชื่อ “คนนอก” ไว้ในบัญชีนายกฯ

และก็เป็น ไพบูลย์ นิติตะวัน สายเชลียร์ คสช.คนดัง และว่าที่แกนนำพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ออกมาเล่าแผนการปั้น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้หวนกลับมาเป็นนายกฯอีกคำรบ หลังการเลือกตั้งไว้เป็นฉากๆ แม้จะดูเพ้อฝัน แต่เมื่อไล่เรียงติดตามก็จะรู้ว่า “ไพบูลย์” ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ดูลู่ทางนายกฯคนนอกมาเป็นอย่างดี ถึงขนาดฟันธงว่า แม้พรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์จะจับมือกัน แต่สุดท้ายก็ “ฮั้วแตก” เปิดทางนายกฯคนนอกอยู่ดี

ตามคิวคนในข่าว “ลุงตู่” จากที่เคยฮึ่มๆว่า ไม่เอาแล้ว ดูฉุนเฉียวทุกครั้งที่ถูกถามเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรือโอกาสในการมาสวมรอยเป็นนายกฯคนนอกตามกลไกที่วางไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็เสียงอ่อยแผ่วเบาลง

“อย่ามาถามในสิ่งที่ยังมองไม่เห็นเหมือนที่ผมเคยบอกอย่ากลัวผีที่มองไม่เห็น กลัวทำไม วันนั้นใครก็ได้ มีคนดีกว่าผมอีกเยอะแยะในประเทศนี้ ถ้าหาไม่ได้ค่อยมาพูดกับผม" นายกฯลุงตู่พูดถึงโอกาสในการกลับมาเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง หากได้รับการเสนอชื่อ

ดูเหมือนว่า ทุกอย่างจะปูทางไว้สำหรับ “นายกฯคนนอก” หมดแล้ว

ทำนายทายทักล่วงหน้าไว้เลยว่า ผู้นำประเทศหลังเลือกตั้งจะมีชื่อย่อ “ป.ปลา” อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็น “ป.ประยุทธ์” หรือ “ป.อื่น” ก็คงเป็นเรื่องที่พี่น้องเขาจะไปคุยกันเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น