xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จีนลุยพลิกโฉมกลุ่มชาติอินโดจีน ด้วยทางรถไฟ เขื่อน และอสังหาริมทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

-นายกรัฐมนตรีลาว นาย ทองลุน สีสุลิด(ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ขวา) ที่มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. มีการลงนามข้อตกลงการลงทุนฉบับใหญ่มูลค่าถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกรุงพนมเปญ ระหว่าง บริษัท LYP Group ของกัมพูชา และไชน่า หมินเซิง อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป (China Minsheng Investment Group ชื่อย่อ CMIG) เพื่อพัฒนาเมืองบริวารชานกรุงพนมเปญ ซึ่งจะใช้ชื่อ “เมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีน”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นก้าวย่างล่าสุดในกระแสความร่วมมือพัฒนากลุ่มประเทศเล็กในภูมิภาคอินโดจีน อันเป็นชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับจีน และเป็นกลุ่มชาติสมาชิกในสมาคมอาเซียน จึงถือได้ว่าเป็นเขตแนวหน้าในอาเซียนของจีน

พญามังกรเคลื่อนไหวเข้ามาลงทุนอภิมหาโครงการในกัมพูชา ลาว พม่า ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางรถไฟในลาว โครงการอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา และในพม่า แม้โครงการลงทุนระหว่างจีน-พม่า จะสะดุดตอเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทั้งโครงการเขื่อนมิตโสน และเหมืองทองแดงแต่ทั้งสองก็ยังต้องหันมาจับมือกันอีก

จีน จ้าวการค้าแต่ยุคโบราณ ย่อมไม่ระย่อในการผลักดันโครงการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งจีนกำลังผลักดันให้เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ขึ้นของตน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกแหล่งลงทุนที่ใช้ต้นทุนต่ำให้แก่กลุ่มบริษัทจีน ที่กำลังมองหาทางออกไปลงทุนในต่างแดน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียและชาติต่างๆ ที่กำลังปรับตัวสู่ยุคใหม่หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์เผยท่าทีจะเลิกนโยบายแวะข้องกิจการในภูมิภาคเอเชีย และหันไปจัดการปัญหาภายในประเทศตนมากขึ้น

“จีนกำลังเล็งมาที่ประเทศเหล่านี้ พร้อมกับคำนวณว่าจะสามารถนำสินค้าเข้ามาขายได้เท่าไหร่ และจะเป็นแหล่งลงทุนที่ได้กำไรงาม ขณะที่การลงทุนในประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น” เอ็ดวาร์ด ลี นักเศรษฐศาสตร์ประจำสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในสิงคโปร์ กล่าว

โครงการล่าสุดที่จีนได้ผลักดันในเขตแนวหน้าของอาเซียน ได้แก่ โครงการสร้าง“เมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีน”ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร จากรายงานข่าวสื่อทางการจีน ไชน่า เดลี่ ระบุว่า ประธานบริษัท LYP Group นายลี ยง พัด (Ly Yong Phat) วุฒิสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลจากพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกัมพูชา และนาย เผิง ซินค่วง ประธานบริหารของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีน SRE Group บริษัทลูกของ CMIG ได้ลงนามในข้อตกลงโครงการก่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. โดยคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างในปีหน้า

จากการเปิดเผยของนาย แสง นาค กรรมการผู้จัดการ LYP Group เมืองบริวารแห่งนี้จะเป็นเมืองนานาชาติที่ทันสมัย ตั้งอยู่พื้นที่ 2,000 เฮคเตอร์ หรือกว่า 12,200 ไร่ (1 เฮคเตอร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) ประกอบด้วยศูนย์การประชุม โรงแรมระดับห้าดาว โรงเรียน สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ศูนย์โลจิสติกส์ และสวนสนุก เม็ดเงินสำหรับผุดเมืองใหม่นี้สูงถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีกัมพูชาปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 18,200 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเทศลาวที่ไร้ทางออกทะเล เมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว (2558) ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในเวียงจันทน์เพื่อก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ความยาว 414 กิโลเมตร จากเมืองชายแดนหลวงน้ำทาของลาวเข้าสู่นครเวียงจันทน์ มูลค่าโครงการก่อสร้าง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้ารอบโลก “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ที่ ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (1 ธ.ค.) สี จิ้นผิง ยังได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีลาว นายทองลุน สีสุลิด ในกรุงปักกิ่ง ทั้งสองได้ประกาศคำมั่นจะส่งเสริมสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งระหว่างกัน

ด้านเมียนม่าร์หรือพม่า หลังจากที่การเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ยุคประชาธิปไตย ก็ได้เปิดเสรีเศรษฐกิจ และปฏิรูประบบตลาด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจแดนหม่อง จะขยายตัวที่ 8.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ (2559) ซึ่งจัดเป็นอัตราขยายอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลกรองจากอิรัก

ผู้นำฝ่ายค้านพม่า อองซานซูจี ก็ได้เข้าหาจีนอย่างรวดเร็วหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล รวมทั้งการเยือนปักกิ่งพบปะกับสี จิ้นผิง

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพม่า โดยการค้าจีน-พม่าคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของการค้าแดนเจดีย์ทองทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว(2558) นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมมือระหว่างกันได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึกในชายฝั่งตะวันตก

ส่วนเศรษฐกิจกัมพูชา คาดว่าจะโต 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 นี้ ขณะที่เศรษฐกิจลาวก็คาดว่าจะขยาย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยอัตราเติบโตเศรษฐกิจขนาดนี้จะดันรายได้ของประชาชนสูงขึ้น และภาวะยากจนลดต่ำลง
จากสถิติของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า จำนวนกลุ่มประชากรที่รายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญ ในกัมพูชา ลดลงเหลือ 2.2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในปี 2555 โดยลดจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2537 ขณะที่ในลาวนั้นอัตรายากจนอยู่ที่ 16.7 เปอร์เซ็นต์ ลดจาก 22.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2535

สำหรับเม็ดเงินของจีน ที่ไหลไปยังกัมพูชา ลาว และพม่านั้น เป็นเงินกู้ผ่อนปรนสำหรับโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทจีน โดยเฉพาะในลาว จากการเปิดเผยของ นาย ดีเร็ค ซิสเซอร์ (Derek Scissors) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ China Beige Book International ผู้ชำนัญการศึกษาการลงทุนระหว่างประเทศ

เม็ดเงินลงทุนและการก่อสร้างจีนจากปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีลาว การก่อสร้างในภาคพลังงานนั้น พึ่งพิงความช่วยเหลือจีนเป็นหลัก

กัมพูชา ลาว และพม่า ต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน (Supply Chain) จีนมากขึ้น ทั้งซื้อสินค้าจากโรงงานจีน และสินค้าบริโภคอย่างเช่นเสื้อผ้า และรองเท้า ก็ผลิตจากกลุ่มบริษัทที่ชาวจีนเป็นเจ้าของหรือได้รับทุนจากจีน ทั้งนี้ตัวเลขไอเอ็มเอฟระบุการนำเข้าจากสามประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงจีนสูงเช่นนี้ก็มีความเสี่ยง จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดของกัมพูชา ตัวเลขไอเอ็มเอฟระบุว่าหนี้ราว 43 เปอร์เซ็นต์ ของหนี้สินทั้งหมดของประเทศ ส่วนใหญ่มาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน ส่วนลาวก็คล้ายกัน เส้นทางรถไฟจีนในลาวคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งของจีดีพีลาวในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“โรงงานเสื้อผ้าส่วนใหญ่ในกัมพูชาเป็นบริการแบบตกแต่งสินค้า (cut-make-trim) ซึ่งเป็นห่วงโซ่มูลค่าขั้นต่ำสุด และเป็นส่วนเล็กๆของการผลิต ผลที่ตามมาก็คือ บริษัทในกัมพูชามีอำนาจและการต่อรองที่จำกัด ค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยของกัมพูชา เท่ากับ 121 เหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของจีน ซึ่งเท่ากับ 613 เหรียญ จากตัวเลขขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในเจนีวา

“ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของกลุ่มชาติแนวหน้าอาเซียนก็คือกระแสทุนจากจีนจะสร้างกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มขึ้น” ซง เซ็ง วัน (Song Seng Wun) นักเศรษฐศาสตร์แห่ง CIMB Private Banking ในสิงคโปร์ ชี้
-อองซานซูจี ยืนถ่ายภาพข้างโปสเตอร์รณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนมิตโสน บนแม่น้ำอิรวดี ที่เป็นแม่น้ำสายหลักของพม่า รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ระงับโครงการเขื่อนไฟฟ้าที่จีนให้การสนับสนุนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์แห่งนี้ หลังมีเสียงคัดค้านจากประชาชน ด้านจีนหวังว่าเขื่อนแห่งนี้จะกลับมาดำเนินการต่ออีกครั้ง (ภาพแฟ้มเอเอฟพีปี 2554)
จีนกำลังทุ่มเม็ดเงินถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปในโครงการผุดเมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีนชานกรุงพนมเปญ ที่จะตั้งบนเนื้อที่กว่า 12,200 ไร่  ในภาพ: รูปภาพของเจ้านโรดม สีหนุ บนถนนในกรุงพนมเปญ ขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่ที่เขตก่อสร้าง (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น