xs
xsm
sm
md
lg

จีนลุยพลิกโฉมกลุ่มชาติอินโดจีน ด้วยทางรถไฟ เขื่อน และโครงการอสังหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนกำลังทุ่มเม็ดเงินถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปในโครงการผุดเมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีนชานกรุงพนมเปญ ที่จะตั้งบรเนื้อหากว่า 12,200 ไร่  ในภาพ: รูปภาพของเจ้านโรดม สีหนุ บนถนนในกรุงพนมเปญ ขณะที่คนงานกำลังทำงานอยู่ที่เขตก่อสร้าง (แฟ้มภาพ รอยเตอร์ส)
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. มีการลงนามข้อตกลงการลงทุนฉบับใหญ่มูลค่าถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกรุงพนมเปญ ระหว่างบริษัท LYP Group ของกัมพูชา และไชน่า หมินเซิง อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป (China Minsheng Investment Group ชื่อย่อ CMIG) เพื่อพัฒนาเมืองบริวารชานกรุงพนมเปญ ซึ่งจะใช้ชื่อ“เมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีน”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นก้าวย่างล่าสุดในกระแสความร่วมมือพัฒนากลุ่มประเทศเล็กในภูมิภาคอินโดจีน อันเป็นชาติเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับจีน และเป็นกลุ่มชาติสมาชิกในสมาคมอาเซียน จึงถือได้ว่าเป็นเขตแนวหน้าในอาเซียนของจีน

พญามังกรเคลื่อนไหวเข้ามาลงทุนอภิมหาโครงการในกัมพูชา ลาว พม่า ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างทางรถไฟในลาว โครงการอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา และในพม่า แม้โครงการลงทุนระหว่างจีน-พม่า จะสะดุดตอเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ทั้งโครงการเขื่อนมิตโสน และเหมืองทองแดงแต่ทั้งสองก็ยังต้องหันมาจับมือกันอีก

จีน จ้าวการค้าแต่ยุคโบราณ ย่อมไม่ระย่อในการผลักดันโครงการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งจีนกำลังผลักดันให้เป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ขึ้นของตน ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกแหล่งลงทุนที่ใช้ต้นทุนต่ำให้แก่กลุ่มบริษัทจีน ที่กำลังมองหาทางออกไปลงทุนในต่างแดน นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียและชาติต่างๆ ที่กำลังปรับตัวสู่ยุคใหม่หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์เผยท่าทีจะเลิกนโยบายแวะข้องกิจการในภูมิภาคเอเชีย และหันไปจัดการปัญหาภายในประเทศตนมากขึ้น

“จีนกำลังเล็งมาที่ประเทศเหล่านี้ พร้อมกับคำนวณว่าจะสามารถนำสินค้าเข้ามาขายได้เท่าไหร่ และจะเป็นแหล่งลงทุนที่ได้กำไรงาม ขณะที่การลงทุนในประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายสูงมากขึ้น” เอ็ดวาร์ด ลี นักเศรษฐศาสตร์ประจำสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในสิงคโปร์ กล่าว

โครงการล่าสุดที่จีนได้ผลักดันในเขตแนวหน้าของอาเซียน ได้แก่ โครงการสร้าง“เมืองมิตรภาพกัมพูชา-จีน”ห่างจากใจกลางกรุงพนมเปญไปทางทิศเหนือ 10 กิโลเมตร จากรายงานข่าวสื่อทางการจีน ไชน่า เดลี่ ระบุว่า ประธานบริษัท LYP Group นายลี ยง พัด (Ly Yong Phat) วุฒิสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลจากพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลกัมพูชา และนาย เผิง ซินค่วง ประธานบริหารของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จีน SRE Group บริษัทลูกของ CMIG ได้ลงนามในข้อตกลงโครงการก่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ไปเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. โดยคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างในปีหน้า

จากการเปิดเผยของนาย แสง นาค กรรมการผู้จัดการ LYP Group เมืองบริวารแห่งนี้จะเป็นเมืองนานาชาติที่ทันสมัย ตั้งอยู่พื้นที่ 2,000 เฮคเตอร์ หรือกว่า 12,200 ไร่ (1 เฮคเตอร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน) ประกอบด้วยศูนย์การประชุม โรงแรมระดับห้าดาว โรงเรียน สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม ศูนย์โลจิสติกส์ และสวนสนุก เม็ดเงินสำหรับผุดเมืองใหม่นี้สูงถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีกัมพูชาปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 18,200 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายกรัฐมนตรีลาว นาย ทองลุน สีสุลิด(ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (ขวา) ที่มหาศาลาประชาคมในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2559 (ภาพ รอยเตอร์ส)
สำหรับประเทศลาวที่ไร้ทางออกทะเล เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว (2558) ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในเวียงจันทน์เพื่อก่อสร้างโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ความยาว 414 กิโลเมตร จากเมืองชายแดนหลวงน้ำทาของลาวเข้าสู่นครเวียงจันทน์ มูลค่าโครงการก่อสร้าง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้ารอบโลก “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road) ที่ ริเริ่มโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (1 ธ.ค.) สี จิ้นผิง ยังได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีลาว นายทองลุน สีสุลิด ในกรุงปักกิ่ง ทั้งสองได้ประกาศคำมั่นจะส่งเสริมสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งระหว่างกัน

ด้านเมียนม่าร์หรือพม่า หลังจากที่การเมืองเปลี่ยนผ่านสู่ยุคประชาธิปไตย ก็ได้เปิดเสรีเศรษฐกิจ และปฏิรูประบบตลาด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจแดนหม่อง จะขยายตัวที่ 8.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ (2559) ซึ่งจัดเป็นอัตราขยายอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลกรองจากอิรัก

ผู้นำฝ่ายค้านพม่า อองซานซูจี ก็ได้เข้าหาจีนอย่างรวดเร็วหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล รวมทั้งการเยือนปักกิ่งพบปะกับสี จิ้นผิง

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของพม่า โดยการค้าจีน-พม่าคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของการค้าแดนเจดีย์ทองทั้งหมดเมื่อปีที่แล้ว(2558) นอกจากนี้ยังมีโครงการร่วมมือระหว่างกันได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึกในชายฝั่งตะวันตก

ส่วนเศรษฐกิจกัมพูชา คาดว่าจะโต 7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2559 นี้ ขณะที่เศรษฐกิจลาวก็คาดว่าจะขยาย 7.5 เปอร์เซ็นต์ ด้วยอัตราเติบโตเศรษฐกิจขนาดนี้จะดันรายได้ของประชาชนสูงขึ้น และภาวะยากจนลดต่ำลง

จากสถิติของธนาคารโลกที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า จำนวนกลุ่มประชากรที่รายได้ต่ำกว่า 1.90 เหรียญ ในกัมพูชา ลดลงเหลือ 2.2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในปี 2555 โดยลดจากระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2537 ขณะที่ในลาวนั้นอัตรายากจนอยู่ที่ 16.7 เปอร์เซ็นต์ ลดจาก 22.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2535

สำหรับเม็ดเงินของจีน ที่ไหลไปยังกัมพูชา ลาว และพม่านั้น เป็นเงินกู้ผ่อนปรนสำหรับโครงการก่อสร้างที่ดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทจีน โดยเฉพาะในลาว จากการเปิดเผยของ นาย ดีเร็ค ซิสเซอร์ (Derek Scissors) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ China Beige Book International ผู้ชำนัญการศึกษาการลงทุนระหว่างประเทศ

เม็ดเงินลงทุนและการก่อสร้างจีนจากปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีลาว การก่อสร้างในภาคพลังงานนั้น พึ่งพิงความช่วยเหลือจีนเป็นหลัก
อองซานซูจี ยืนถ่ายภาพข้างโปสเตอร์รณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนมิตโสน บนแม่น้ำอิรวดี ที่เป็นแม่น้ำสายหลักของพม่า รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ระงับโครงการเขื่อนไฟฟ้าที่จีนให้การสนับสนุนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์แห่งนี้ หลังมีเสียงคัดค้านจากประชาชน ด้านจีนหวังว่าเขื่อนแห่งนี้จะกลับมาดำเนินการต่ออีกครั้ง (ภาพแฟ้มเอเอฟพีปี 2554)
กัมพูชา ลาว และพม่า ต้องอาศัยห่วงโซ่อุปทาน หรือซัพพลายเชน (Supply Chain) จีนมากขึ้น ทั้งซื้อสินค้าจากโรงงานจีน และสินค้าบริโภคอย่างเช่นเสื้อผ้า และรองเท้า ก็ผลิตจากกลุ่มบริษัทที่ชาวจีนเป็นเจ้าของหรือได้รับทุนจากจีน ทั้งนี้ตัวเลขไอเอ็มเอฟระบุการนำเข้าจากสามประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้เพิ่มเป็นเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงจีนสูงเช่นนี้ก็มีความเสี่ยง จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดของกัมพูชา ตัวเลขไอเอ็มเอฟระบุว่าหนี้ราว 43 เปอร์เซ็นต์ ของหนี้สินทั้งหมดของประเทศ ส่วนใหญ่มาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาจีน ส่วนลาวก็คล้ายกัน เส้นทางรถไฟจีนในลาวคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งของจีดีพีลาวในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“โรงงานเสื้อผ้าส่วนใหญ่ในกัมพูชาเป็นบริการแบบตกแต่งสินค้า (cut-make-trim) ซึ่งเป็นห่วงโซ่มูลค่าขั้นต่ำสุด และเป็นส่วนเล็กๆของการผลิต ผลที่ตามมาก็คือ บริษัทในกัมพูชามีอำนาจและการต่อรองที่จำกัด

ค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยของกัมพูชา เท่ากับ 121 เหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของจีน ซึ่งเท่ากับ 613 เหรียญ จากตัวเลขขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในเจนีวา

ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของกลุ่มชาติแนวหน้าอาเซียนก็คือกระแสทุนจากจีนจะสร้างกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มขึ้น ซง เซ็ง วัน (Song Seng Wun) นักเศรษฐศาสตร์แห่ง CIMB Private Banking ในสิงคโปร์ ชี้


กำลังโหลดความคิดเห็น