ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ท่านผู้นำโชว์ลีลา “ซานต้าตู่” รับเทศกาลใกล้ขึ้นศักราชใหม่ คราวนี้แบกถุงของขวัญแจกกระจาย ผู้มีรายได้น้อยเตรียมเฮรับเงินคนละ 3,000 บาท เข้ากระเป๋าไว้ใช้จ่ายช่วงปลายปีตามสูตรกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะมีเสียงสะท้อนหวั่นรอรับความช่วยเหลือจนเคยชิน ขณะที่พี่น้องเกษตรกร รัฐบาล “ลุงตู่” ก็สร้างทางเลือกทางรอดไว้หลายสายเพื่อให้เข้มแข็งแข่งขันได้
ไม่ว่าจะเรียกประชานิยมแจกเงินคนจนหรือมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ทั้งรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มาถึงรัฐบาล “ลุงตู่” ดูเหมือนว่าการแจกเงินคนจนจะเป็นยาขนานเอกที่ถูกหยิบมากู้วิกฤตเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
คราวนี้ก็เช่นกัน เมื่อวันอังคารที่ 22พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เคาะผ่านมาตรการดังกล่าว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนบนโพเดียมแถลงด้วยตัวเองเลยว่า มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา ถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลเคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ที่ให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียนไว้ วัตถุประสงค์เพื่อต้องการดูแลประชาชนที่มีอาชีพอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากเกษตรกร โดยประชาชนที่อยู่ในข่ายมีรายได้น้อยทั้งหมด8 ล้านคน ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้และหากตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะจ่ายเงินให้
การแจกเงินลงสู่มือคนจนโดยตรงคราวนี้ “ซานต้าตู่” คาดหวังว่าเมื่อมีเม็ดเงินลงไปก็จะมีการใช้จ่ายเงินกันในระบบมากขึ้น จะกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่กระบวนการผลิต จัดจำหน่าย ผู้บริโภค ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีก เช่น การดูแลค่าใช้จ่ายการเดินทาง การใช้ตั๋วร่วม การเชื่อมโยงขึ้นรถเมล์ รถไฟฟรี
นอกจากนั้น “ลุงตู่” ยังให้รอฟังว่าในช่วงปีใหม่จะมีข่าวดีอออกมาอีก ทั้งการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว ฯลฯ พร้อมกับขอให้ทุกหน่วยงานทุกกระทรวงเน้นเรื่องการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และการจัดสัมมนาต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ขอให้จัดภายในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้คึกคักขึ้น
พ.ต.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้รายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในมาตรการการช่วยเหลือ คือ 1.สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือให้ 3,000 บาท โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนจำนวน 3.1 ล้านคน2.ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือให้ 1,500 บาท จำนวน 2.3 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 12,750ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2559ผ่านบัญชีธนาคารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ออมสิน และกรุงไทย ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้
มาตรการดังกล่าว ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27กันยายน 2559 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้นำงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 6,540 ล้านบาท ไปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนคนจน กรณีมีรายได้ไม่เกิน30,000 บาทต่อปี จำนวน 1.51 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐคนละ 3,000 บาท ใช้เงินจากงบกลาง2,010 ล้านบาท และรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวน 1.34ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท ใช้งบกลาง 4,530 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมมาตรการแจกเงิน2 รายการนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 8.3ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 19,290ล้านบาท
นอกจากมาตรการแจกเงินผู้มีรายได้น้อยกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงมาดูชีวิตความเป็นอยู่และรับรู้ปัญหาของเกษตรกรในรายละเอียดชนิดที่เรียกว่าเก็บทุกเม็ด ดังเช่นเรื่องที่เกษตรกรเตรียมจะฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดให้นำเข้าข้าวสาลีแล้วทำให้ราคาข้าวโพดตกต่ำจน เกษตรกรเดือดร้อนกันถ้วนหน้า และเรื่องที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับเอกชนส่งเสริมชาวนาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำนาปรัง
ในเรื่องที่เกษตรกรจะฟ้องกระทรวงพาณิชย์ นายกฯ “ลุงตู่” ให้กลุ่มที่ตั้งท่าจะฟ้องกลับไปพิจารณาว่า ฟ้องร้องแล้วได้อะไร และต้องดูด้วยว่าการนำเข้าเป็นไปตามข้อตกลงทางการค้าหรือไม่ เพราะขณะนี้มีการกำหนดอัตราการผสมข้าวโพดนำเข้า กับข้าวโพดที่มีในประเทศ ในสัดส่วน 1 ต่อ 3 คือต้องใช้ข้าวโพดในประเทศมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมาก แต่ต้องดูว่าข้าวโพดในประเทศมาจากการปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่หรือไม่ รัฐบาลไม่ส่งเสริมให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าในการปลูกข้าวโพด ดังนั้น ขอให้ภาคเอกชนช่วยซื้อข้าวโพดให้ได้ตามแผน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแบบครบวงจร ทั้งพื้นที่ปลูก การผลิต การแปรรูป การนำเข้าส่งออกสู่ตลาด
อันที่จริงเรื่องนี้เกษตรกรที่เดือดร้อนคงอยากจะบอก “ลุงตู่” ว่า การนำเข้าข้าวสาลี ตามข้อกำหนดใน WTO ไทยผูกพันการเก็บภาษีนำเข้าข้าวสาลีอยู่ที่ 27% การลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีให้พ่อค้าอาหารสัตว์เหลือศูนย์ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังนั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพ่อค้าอาหารสัตว์ โดยปีนี้ราคาข้าวสาลีนอกจากราคาถูกเป็นประวัติการณ์แล้วยังได้ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์อีก ทำให้พ่อค้าอาหารสัตว์ได้ประโยชน์มหาศาล การกำหนดนโยบายที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนแล้วส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดภายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรคิดไตร่ตรองให้มากๆ ส่วนที่ว่ามีเกษตรกรบางส่วนบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกข้าวโพดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่วนกรณีเรื่องกรมส่งเสริมการเกษตรที่ร่วมกับบริษัทเอกชนในการช่วยเหลือชาวนาเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นายกรัฐมนตรีบอกว่า เป็นทางเลือกอยู่แล้ว โครงการนี้ส่วนหนึ่งมีปัญหาการผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาไม่เพียงพอ เกษตรกรทำเองก็ไม่เพียงพอ สุดท้ายต้องไปซื้อจากเอกชน จึงได้มีการทำสัญญาว่าให้เกษตรกรได้ซื้อในราคาถูก และเป็นธรรม ไม่ได้ไปเอื้อประโยชน์ใคร แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยภาคธุรกิจ เจตนารมณ์ของ MOU ฉบับนี้คือให้ประชาชนได้ใช้เมล็ดพันธุ์ราคาถูก เป็นทางเลือกไม่เอื้อประโยชน์ผู้ใดทั้งสิ้น
ประเด็นที่ว่าเอื้อหรือไม่เอื้อประโยชน์ใครหรือไม่ หากพิจารณาจากข้อกำหนดในโครงการว่าต้องเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเกษตร 6 รายใหญ่เท่านั้น บางที “ลุงตู่” อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งเมื่อเทียบกับว่าไหนๆ รัฐบาลก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรลืมตาอ้าปาก สร้างทางเลือกใหม่ให้เกษตรกร รัฐบาลก็ควรหาทางได้ส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุน โดยการเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมี สารเคมี มาเป็นเกษตรยั่งยืน เกษตรชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนได้มากกว่า ยั่งยืนกว่า
นั่นเป็นเรื่องระดับไมโครที่นายกฯ “ลุงตู่” เอาใจใส่เกษตรกรที่เดือดร้อนอยู่ในเวลานี้ ขณะที่ภาพใหญ่ในการแก้ไขปัญหาโดยรวมพล.อ.ประยุทธ์ ยังย้ำ ถึง ไทม์ไลน์ว่า ระยะที่ 1 ต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศเอาไว้ให้ได้เอาปัญหาที่หยุดชะงักมาเดินหน้าในปี 2557 -2558 จากนั้นปี 2559 - 2560 ต้องสร้างความเข้มแข็งเพิ่มขีดความสามารถ หลังจากนี้ งบประมาณปี 2560-2561 จะมุ่งเน้นเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลพยายามทำเกษตรแปลงใหญ่ รัฐวิสาหกิจชุมชน บริษัทประชารัฐ และจะส่งเสริมให้ทำยุ้งฉางขึ้นมาอีก และจะวางแผนเชื่อมโยงสร้างไซโลต่อในอนาคต เพื่อเก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้น แต่เป็นของประชาชนโดยร่วมกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ ส่วนธุรกิจเอกชนก็ทำไป
“สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก สามารถถ่วงดุลราคาในวันข้างหน้า ไม่ใช่คิดแต่จะให้เงินเพราะไม่ยั่งยืน แต่ก็จำเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้มีปัญหาทั้งโลก”นายกฯ ลุงตู่สรุปทิ้งท้าย