xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อุ้มชาวนา “ประชารัฐ” หนุนปลูกข้าวโพด 2 ล้านไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจาก นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาฝ่าวิกฤตราคาข้าว โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญก็คือ การลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง หันมาส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่เป้าหมาย 35 จังหวัด รวม 2 ล้านไร่ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังกระหึ่มตามมา หาว่ารัฐบาล “ลุงตู่” ที่เชิดชูสานพลัง “ประชารัฐ” รัฐ-เอกชน-ประชาชน เปิดทางให้ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเกษตร เข้ามา “กินรวบ” อีกแล้วหรือไม่

แต่หากมองในมุมใหม่นี่อาจเป็นการ “ปักหมุด” ประชารัฐ ที่ต่าง win - win กันถ้วนหน้า หากสามารถทำให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จได้ตามความตั้งใจจริงของทุกฝ่าย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พืชผลเกษตรแทบทุกชนิดนั้นราคาดำดิ่งหัวปักติดต่อกันมาหลายปี ข้าวก็เช่นกัน ยิ่งปีนี้วิกฤตหนักถึงขั้นมีแคมเปญระบายข้าวช่วยชาวนากันทุกช่องทาง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจึงเป็นเรื่องจำเป็นและนำไปสู่การออกมาตรการปลูกพืชทดแทนข้าวนาปรังที่มีปัญหาทุกปีทั้งราคาตกต่ำและภัยแล้งวนเวียนซ้ำซากไม่รู้จบ

สำหรับมาตรการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ล้านไร่ นั้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินเครื่องมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยกรมฯ ได้ชวนภาคเอกชนมาร่วมทำเอ็มโอยูสานพลังประชารัฐส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/2560 ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด เพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งปีหนึ่งๆ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีความต้องการใช้ในประเทศปีละกว่า 7.2 ล้านตัน

การสานพลัง “ประชารัฐ” ครั้งนี้ รัฐ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นแม่งานหลัก, เอกชน คือ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย, บริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเกษตรกร ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก และมีการเตรียมความพร้อมนำร่องมาก่อนหน้า

โดยกรมพัฒนาที่ดิน ได้วิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่นาในฤดูแล้งในเขตชลประทาน พบว่า มีพื้นที่ความเหมาะสมดินในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก (S1)และเหมาะสมปานกลาง (S2) ในเขตชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นที่มีน้ำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก รวมกันมีกว่า 8 ล้านไร่

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการเกษตร ทดลองนำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวรอบที่ 2 หรือข้าวนาปรังในปีที่ผ่านมา 9 จังหวัด พบว่า เกษตรกรสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 900 - 1,000กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรจากการผลิตไร่ละ 2,000 - 4,000 บาท

หลังจากมีการสำรวจความเหมาะสมของที่ดิน และมีโครงการนำร่องแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กระทรวงเกษตรฯ จึงกำหนดมาตรการออกมาโดยตั้งเป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด และมาขยายเพิ่มเมื่อนำเข้าครม. เป็น 35 จังหวัด ระยะเวลาเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 - มิถุนายน 2560

“ประชารัฐ” ปลูกข้าวโพดฯ ในจังหวัดเป้าหมายได้จัดสรรกัน ดังนี้ 1. บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จํากัด 17 จังหวัด ได้แก่ กําแพงเพชร, เชียงราย, เชียงใหม่,นครสวรรค์, พิจิตร, พิษณุโลก,แพร่, สุโขทัย, อุตรดิตถ์,กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ,บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี,เพชรบุรี และราชบุรี 2. บริษัท เบทาโกร จํากดั (มหาชน) 5 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, ชัยนาท,ลพบุรี และสระบุรี

3. บริษัท ไทยฟู้ด จํากัด (มหาชน) (โรงงานอาหารสัตว์/สุพรรณบุรี) (โรงงานอาหารสัตว์/ปราจีนบุรี) 15 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี, เชียงราย,พะเยา, พิษณุโลก, ตาก,เพชรบูรณ์, ชัยนาท, อุทัยธานี,นครสวรรค์, ลพบุรี, สระบุรี,อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, ราชบุรี และปราจีนบุรี และ 4. บริษัท พนัสโภคภัณฑ์ จำกัด 3 จังหวัด คือ นครนายก ฉะเชิงเทราปราจีนบุรี ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตตามเงื่อนไขที่กำหนดด้วย

การรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดย ธ.ก.ส. และภาคเอกชน จะจ่ายในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ตามมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดฯ ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ณ โรงงานอาหารสัตว์ในเขตจังหวัดของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ

นั่นเป็นรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีประเด็นที่นำมาสู่คำถามที่ว่าสานพลังประชารัฐ คราวนี้ ใครได้ ใครเสี่ยง รัฐบาลทำเพื่อชาวนาหรือว่าเพื่อกลุ่มทุนอุตสาหกรรมการเกษตร

แน่นอน รัฐบาล ไม่มีอะไรต้องเสี่ยง เพราะการดำเนินโครงการนี้ ธ.ก.ส.จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงิน 8,000 ล้านบาท แก่เกษตรกร ไร่ละ 4,000 บาท ผ่านบัญชี ธ.ก.ส. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 โดยรัฐบาลควักเงินงบประมาณ 103.76 ล้านบาท ไปอุดหนุนดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี พูดง่ายๆ ก็คือ เกษตรกร จ่ายดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ร้อยละ 4 ที่เหลืออีก 3% นั้น รัฐบาลจ่ายให้ เท่ากับว่ารัฐบาลใช้เงินเพียงร้อยกว่าล้านสำหรับโครงการนี้ และหากทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง รัฐบาล “ลุงตู่” ก็ได้ใจชาวนาไปเต็มๆ

ส่วนเอกชน เริ่มจาก ธ.ก.ส. ถือได้ไปเต็มๆ ไม่มีอะไรต้องเสี่ยง เพราะเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์นั้นมีเงื่อนไขชัดเจนและดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ร้อยละ7 นั้น ถือว่าสูง เมื่อเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ห่างกันถึง4-5% เรียกว่าเป็นโครงการที่รัฐหาลูกค้าให้ ธ.ก.ส.กินแบบหวานๆ

เช่นเดียวกับสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยและบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ไม่มีอะไรต้องเสี่ยง โดยผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามเงื่อนไขที่ถูกดึงเข้าร่วมโครงการนี้ตาม “คู่มือโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ” ของกรมส่งเสริมฯ ได้แก่ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จํากัด, บริษัท มอนซานโต้ไทยแลนด์ จํากัด, บริษัท บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จํากัด, บริษัท ซินเจนทาซีดส์ จํากัด, บริษัท ไพโอเนียไฮ-เบรด (ไทยแลนด์) จํากัด และบริษัท เมล็ดพันธุ์เอเซีย จํากัด

ส่วนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์และบริษัทที่รับซื้อผลผลิต ถึงแม้จะมีการกำหนดราคารับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาท แต่ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% ณ หน้าโรงงานในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดของเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ และยังมีข้อกำหนดมาตรฐานด้วยว่า มีเมล็ดเสียไม่เกิน 4%, เมล็ดแตกไม่เกิน 8%, สิ่งเจือปนไม่เกิน1%, เมล็ดราดำต้องไม่มี,แมลงที่มีชีวิตต้องไม่มี, เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่คลุกสีต้องไม่มี

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศ และเพาะปลูกด้วยองค์ความรู้จากหน่วยงานรัฐและบริษัททำให้ได้ผลผลิตออกมาตามเป้าหมาย มีผลกำไรตกไร่ละ 2,000 - 4,000 บาท อย่างที่กรมส่งเสริมการเกษตรฯ นำร่องแล้วได้ผลมาก่อนหน้าก็ถือเป็นโชคดีของเกษตรกร แต่ถ้าไม่ได้ตามความคาดหมาย เกษตรกรก็ต้องแบกรับหนี้หัวโตกันไป

“อาจจะสงสัยว่าทำไมข้าวโพดราคาตกแล้วรัฐบาลยังจะไปสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดอีก ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ทุกปีประเทศไทยจะมีความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าที่ผลิตได้อยู่แล้ว แต่ปีนี้สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ข้าวโพดราคาตก คือ บริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่เริ่มมีนโยบายจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่บุกรุก เนื่องจากคาดการณ์ว่าต่างประเทศ จะมีมาตรการตอบโต้เช่นเดียวกับกรณีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ประกอบกับปีนี้ฝนล่าช้า ทำให้ข้าวโพดมีความชื้นสูง ราคาจึงตก แต่ครั้งนี้ได้ประสานกับภาคเอกชนไว้แล้ว จะรับซื้อหน้าโรงงานในราคา 8 บาทต่อกิโลกรัม” นายณัฐพร แถลงหลังครม.เห็นชอบกับโครงการ

การสานพลัง “ประชารัฐ”ที่วาดฝันจะช่วยชาวนาลืมตาอ้าปากจากโครงการนี้ จะลงเอยเช่นใดอีกไม่นานคงรู้ และได้แต่หวังว่าจะไม่จบลงด้วยหนี้สินของชาวนาที่พอกพูนขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น