xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ” ซัดรัฐลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีทำชาวไร่เจ๊ง มัดมือชกปลูกข้าวโพดเอื้อนายทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ชี้พาณิชย์ลดภาษีนำเข้าข้าวสาลี 0% ทำข้าวโพดราคาตกเหลือกิโลละ 3 บาท เอื้อนายทุนอาหารสัตว์ระดับชาติ แถมของยูเครนยังส่อปนเปื้อนนิวเคลียร์ด้วย จวกนโยบาย ก.เกษตรฯ ให้ปลูกข้าวโพดแทนข้าวมัดมือชกชาวนาซื้อเมล็ดพันธุ์แบบน่าเกลียด จี้สั่งยุตินำเข้า เยียวยาชาวไร่ด่วน ทบทวนให้ปลูกตามใจ ขู่ยังเงียบจะฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ป.ป.ช.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (3 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีเป็น 0% โดยเปิดโอกาสให้มีการนำเข้าข้าวสาลีมาทดแทนข้าวโพดได้เสรีจนทำให้ราคาผลผลิตข้าวโพดภายในประเทศตกลงมาอย่างรุนแรง ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเป็นหนี้เป็นสิน โดยระบุว่าสมาคมฯ เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการทำลายอาชีพชาวไร่ข้าวโพดของเกษตรกรโดยชัดแจ้ง แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ของประเทศที่มีส่วนพัวพันและสนับสนุนรัฐบาลนี้มาโดยตลอดนั่นเอง

โดยการลดภาษีการนำเข้าข้าวสาลีจาก 27% มาเหลือเพียง 0% ทำให้มีการนำเข้าข้าวสาลีมาแทนข้าวโพดทะลักมากถึง 2.9 ล้านตันในปี 2558 และจะมากกว่า 3.5 ล้านตันในปี 2559 นี้ ในขณะที่ก่อนการลดอัตราภาษีในปี 2557 มีการนำเข้าเพียง 6 แสนตันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณการใช้ข้าวโพดของไทยในแต่ละปีมีเพียงประมาณ 4.7 ล้านตัน ซึ่งสมดุลกับปริมาณการผลิตภายในประเทศที่มีประมาณ 4.7 ล้านตัน แต่เมื่อรัฐบาลลดภาษีนำเข้าข้าวสาลี จึงเป็นเหตุทำให้ราคาข้าวโพดที่เกษตรกรเคยขายได้ในราคากว่า 9-10 บาทต่อกิโลกรัมร่วงลงมาเหลือเพียง 3 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดขาดทุนเป็นหนี้เป็นสินกันทั้งประเทศในขณะนี้

นอกจากนั้นยังพบว่า ข้าวสาลีที่นำเข้ามาผลิตอาหารสัตว์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศยูเครนซึ่งเคยมีปัญหาการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี จากการรั่วไหลของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จนประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป-อเมริกาไม่กล้านำเข้า แต่กลับประเทศไทยกลับอนุญาตให้นำเข้ามาได้ จึงขอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังด้วยเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของคนไทย

ส่วนกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเอกชนลงนามส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60 ตั้งเป้าปรับลดพื้นที่ 2 ล้านไร่ ใน 31 จังหวัด โดยอ้างว่าจะมีการรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกร โดย ธ.ก.ส.และภาคเอกชน ในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท สำหรับข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5% นั้น ชี้ให้เห็นว่าเป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจเอกชนที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดโดยตรง เพราะเงื่อนไขของ ธ.ก.ส.และเอกชน คือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น และจะไม่รับซื้อผลผลิตหากไปใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทอื่น ซึ่งราคาเมล็ดพันธุ์ของบริษัทคู่ค้าของ ธ.ก.ส.มีราคาที่แพงมากกิโลกรัมละ 180-200 บาท (1 ถุง 10 กก. = 1,800-2,000 บาท) นโยบายดังกล่าวไม่ตรงกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร หากแต่เป็นนโยบายมัดมือชก ที่น่าเกลียดที่สุดของรัฐบาลชุดนี้

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงใคร่ขอเรียกร้องมายังรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ได้โปรดสั่งให้ยุติการนำเข้าข้าวสาลีมาแทนข้าวโพดภายในประเทศโดยพลัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2559 ที่กำหนดให้ “ข้าวสาลี” เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2552 และขอให้มีการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการขายผลผลิตข้าวโพดในราคาที่ตกต่ำเสียหายอยู่ในขณะนี้เป็นการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนนโยบายเอื้อเอกชนส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60 เสียใหม่ให้เป็นไปตามความสมัครใจของเกษตรกรมากกว่าการมัดมือชกเช่นนี้ด้วย

อนึ่ง หากข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นผลรัฐบาลยังคงเดินหน้าไม่ปกป้องอาชีพเกษตรกรไทย สมาคมฯ และตัวแทนเกษตรกร จะยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. และ ป.ป.ช. ในสัปดาห์หน้าทันที พร้อมนำคำร้องขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อระงับนโยบายดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น