xs
xsm
sm
md
lg

ราคาข้าวตกต่ำในรอบ 10 ปี จุดอ่อนของ"ประยุทธ์"ยังแก้ไม่ตก !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**แม้ว่ายังอยู่ในช่วงของอารมณ์เศร้าหมองเพียงใด แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องรับรู้ความเป็นจริงที่น่าเศร้าไม่แพ้กันก็คือ ข่าวคราวที่ต้องรายงานเกี่ยวกับเรื่อง "ปากท้อง"ของพี่น้องคนไทยโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งเท่าที่รับทราบมาในตอนนี้ก็คือ "ข่าวร้าย" ที่ซ้ำเติมเข้ามาจากรายงานที่ระบุว่า ในปีนี้ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีหรือในรอบ 50 ปีกันเลยทีเดียว
พิจารณาจากรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อสองสามวันก่อนระบุว่า จากการสำรวจราคาข้าวเปลือกในแต่ละจังหวัดของสมาคมโรงสีข้าวไทย พบว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า 5% ได้ปรับตัวลดลงจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกมาแล้วในบางจังหวัด ปรับตัวลดลงถึง 1,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคา ณ วันที่ 26 ต.ค.59 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 15% จ.บุรีรัมย์ ราคาอยู่ 9,000 บาทต่อตัน ลดลงจากวันที่ 19 ต.ค. 59 ที่มีราคา 10,000 บาทต่อตัน ส่วนที่ จ.นครราชสีมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้น 30% วันที่ 26 ต.ค. ราคาอยู่ที่ 6,800-7,000 บาท/ตัน ขณะที่ราคา ณ วันที่ 19 ต.ค. ที่ความชื้น 15% อยู่ที่ 9,800-10,000 บาทต่อตัน
สำหรับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยราคา ณ วันที่ 26 ต.ค. ข้าวเปลือกเจ้า 5% ความชื้น 15% ที่ จ.สุพรรณบุรี ราคา 7,400-7,700 บาทต่อตัน ปรับลดลงจากวันที่ 19 ต.ค. ที่มีราคา 8,700 บาทต่อตัน หรือลดลง 1,000 บาทต่อตัน เช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาซื้อขายข้าวล่วงหน้า ณ เดือนธ.ค.59 โดยเป็นราคาที่ผู้ส่งออกซื้อข้าวสารหอมมะลิจากผู้ประกอบการโรงสี จะอยู่ที่ 15,800 บาทต่อตัน หรือ 15.80 บาท/กิโลกรัม (กก.) เมื่อทอนเป็นราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ จะอยู่ที่ 8,000 กว่าบาทต่อตัน เนื่องจากราคาส่งออกข้าวหอมมะลิที่ซื้อขายล่วงหน้าต่ำกว่า 500 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว หรืออยู่ที่ประมาณ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ถือว่าเป็นราคาต่ำสุดมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากตลาดเกิดภาวะตื่นตระหนกจากผลผลิตข้าวที่เพิ่มมากขึ้นเกือบทุกประเทศ ทำให้มีการกดราคาซื้อข้าว
ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ได้ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยราคาซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 347 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากการที่ผู้ส่งออกบางรายขายให้กับประเทศญี่ปุ่น ในราคาที่ต่ำมาก และน่าจะเป็นราคาต่ำสุดในรอบ 2 ปี โดยราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งแทบจะไม่ห่างกันหรือราคาเท่ากัน คือ ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนาม 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน อินเดีย 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน และปากีสถาน 345 เหรียญสหรัฐต่อตัน
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าราคาข้าวหอมมะลิที่โค้ดราคาขายล่วงหน้าเดือนธ.ค.น่าจะเป็นราคาต่ำสุด และราคาน่าจะเริ่มกลับตัวขึ้นมาได้ หลังจากที่มาตรการของรัฐเริ่มดำเนินการ ทั้งการเก็บสต๊อกข้าว และการที่ผู้ส่งออกได้เข้าไปช่วยรับซื้อข้าว รวมทั้งมีการหาตลาดส่งออกข้าวเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศผู้ซื้ออย่างฮ่องกง สิงคโปร์ สหรัฐฯ ที่จะมีการซื้อข้าวไปเตรียมไว้ใช้ในช่วงตรุษจีนปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กำลังดำเนินโครงการซื้อข้าวสารหอมมะลิมาเก็บสต๊อกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ปริมาณ 2 แสนตัน ในราคาตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ร้องขอ โดยคาดว่าจะช่วยพยุงราคาได้ระดับหนึ่ง โดยขณะนี้สมาคมฯ ได้มีการแจ้งไปยังสมาชิกให้เข้าร่วมโครงการแล้ว ซึ่งสมาคมฯ จะจ่ายค่าชดเชยดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย รวม 165 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นงบประมาณ 40 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ส่งออกข้าวเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เพราะโครงการในปีนี้ไม่ได้ตั้งราคาให้ซื้อเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ให้ซื้อในราคาตลาด ทำให้จะมีปริมาณการซื้อมาเก็บสต๊อกมากขึ้น โดยกำหนดให้ซื้อขั้นต่ำตั้งแต่ 1,000 ตันขึ้นไป เริ่มซื้อตั้งแต่ 15 พ.ย. - 15 ธ.ค. 59 และจากนั้นจะมีการสุ่มตรวจเพื่อแยกกองข้าวที่เก็บสต๊อกตามโครงการต่อไป
นั่นเป็นข่าวร้ายจากราคาข้าวที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่ ขณะเดียวกันยังมีข่าวร้ายอย่างอื่นเพิ่มเติมเข้ามาอีกนั่นคือ ข่าวร้ายของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เวลานี้กำลังมีราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน เพราะจากการสำรวจราคาในตลาดเวลานี้ราคาร่วงลงมาเหลือแค่กิโลกรัมละ 3-3.50 บาทเท่านั้น จากที่กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์รับซื้อกิโลกรัมละ 8 บาท ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เวลานี้บรรดาโรงงานฯและลานข้าวโพดต่างๆ ปิดรับซื้อทำให้ข่าวร้ายก็คือจะทำให้ราคาข้าวโพดดิ่งลงไปอีก สำหรับสาเหตุนอกเหนือจากนี้ก็คือบรรดาผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ได้นำเข้าข้าวสาลีและกากข้าวโพดเข้ามาเป็นวัตถุดิบเนื่องจากมีราคาถูกกว่า
เมื่อพิจารณาจากปัญหาที่เป็นอยู่ยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเลย ขณะที่ราคาข้าวก็ทำนองเดียวกันแม้ว่าจะมีการรับซื้ออยู่แต่ก็ราคาต่ำมากจนชาวนาขาดทุน ซึ่งสาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวในปีนี้ตกต่ำอย่างหนัก ก็เนื่องจากเกิดภาวะวิตกของตลาดโลกที่อ้างว่าได้รับข่าวว่าประเทศที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีผลผลิตออกมาจำนวนมากทำให้มีการกดราคารับซื้อ
แม้ว่าเป็นเรื่องกลไกตลาดทั้งภายในนอกและภายใน แต่ปัญหาก็คือ จะมีชาวนาหรือชาวบ้านสักกี่คนจะเข้าใจและรับรู้ในเรื่องดังกล่าว เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการคือทำอย่างไรให้สามารถขายข้าวได้ราคาดีหรือพออยู่ได้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้โดยที่ราคาไม่ขยับสูงขึ้น หรือมาตรการในการช่วยเหลือของรัฐบาลที่กำลังออกมาใช้ไม่ได้ผล มันก็ย่อมมีผลกระทบในทางลบต่อรัฐบาล และที่สำคัญมีผลกระทบต่อตัวเกษตรกรชาวนาอย่างรุนแรงนั่นแหละ
** ที่ผ่านมาปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ไม่ตกจนกลายเป็นจุดอ่อน เพราะราคาสินค้าเกษตรตัวหลัก เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม ข้าวโพด ตกต่ำมาตลอด ยิ่งมาในปีนี้ที่ตามรายงานบอกว่าตกต่ำในรอบ 10 ปีหรือในรอบ 50 ปี มันก็ยิ่งเป็นข่าวร้าย สอดรับกับผลสำรวจที่ออกมาทุกครั้งที่เรียกร้องให้แก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวและ"ค่าครองชีพสูง" อันเนื่องจากมาจากสินค้าราคาแพง แต่รายได้ต่ำ
แน่นอนว่าในความเป็นจริงทุกรัฐบาลย่อมไม่มีรัฐบาลหรือผู้นำคนไหนต้องการให้เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่าจังหวะและปัญหามีความซับซ้อนต่างกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ "กึ๋น" หรือฝีมือที่ต่างกันด้วย กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันหากรัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายปัญหาให้ดีขึ้นหรือเบาบางลงไป มันก็อาจส่งผลกระทบในทางการเมืองตามมา เพราะแน่นอนว่า"ฝ่ายตรงข้าม" ย่อมต้องเยาะเย้ยปลุกระดมได้ง่าย โดยใช้ "ชาวนา" เป็นเครื่องมือ
**ดังนั้นได้แต่ภาวนาว่ามาตรการในการช่วยเหลือของรัฐบาลต่อชาวนาน่าจะได้ผลดีในเร็วๆนี้ เพราะไม่เช่นนั้น "จุดอ่อน" ในเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เรื่องค่าครองชีพ ปากท้อง จะตามหลอกหลอนรัฐบาลนี้ไปเรื่อยๆ และเช่นว่าหากผ่านช่วงเวลานี้ไปอีกระยะหนึ่งปัญหาก็จะรุนแรง จนกลายเป็นเรื่องการเมืองที่ลุกลามขึ้นมาอีก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น