xs
xsm
sm
md
lg

ปัจจัยทำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาตก???

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่า กลไกของกระบวนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อธิบายง่ายๆได้ว่ามี 3 ขั้นตอน จะเริ่มที่ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวของ“เกษตรกร” จากนั้นผลผลิตเหล่านั้นจะถูกลำเลียงมาขายให้ “พ่อค้าพืชไร่” ในลักษณะเป็นฝักบ้าง เป็นเมล็ดที่ยังมีความชื้นสูงบ้าง ซึ่ง“พ่อค้าพืชไร่”จะรับซื้อจากเกษตรกร แล้วนำมาลดความชื้นเก็บเข้าสต็อกเพื่อรอขายในช่วงปลายฤดูกาลที่ราคามักจะสูงขึ้น โดยจะส่งออกข้าวโพดด้วยหากในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าในประเทศ กลไกขั้นต่อไปคือการที่พ่อค้าจะขายข้าวโพดต่อไปยัง “โรงงานอาหารสัตว์” ซึ่งปลายทางนี่เองที่ถูกรัฐกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อทั้งปริมาณและราคาเอาไว้

ระดับราคาสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกหรือนำเข้า จะมี “ราคาในตลาดโลก” เข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและกระทบต่อราคาในประเทศ สำหรับปีนี้ราคาของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกมีราคาลดต่ำลงมาก ซึ่งเกิดจากหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนมีสต็อกสูงถึง 200 ล้านตัน เพียงพอที่จะสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกลดลง ราคาข้าวโพดของตลาดกลางชิคาโกจึงต่ำกว่าราคาประกาศในประเทศไทยเสียอีก

ดังนั้น จึงไม่มีพ่อค้าพืชไร่รายไหนทำการส่งออก และไม่สามารถรับซื้อข้าวโพดเพื่อทำสต็อกสำหรับปลายฤดูกาลนี้ได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้ปริมาณข้าวโพดล้นอยู่ในประเทศค่อนข้างมาก

ราคาข้าวโพด 3 บาทที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เป็นราคาที่ “พ่อค้าพืชไร่” รับซื้อจากเกษตรกร และมาส่งขายต่อให้โรงงานอาหารสัตว์ ขณะที่ผู้รับซื้อปลายทางอย่าง “ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่” ยังคงทำตามเงื่อนไขของรัฐโดยรับซื้อข้าวโพดความชื้น 14.5% ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทตามปกติ ณ พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการเปิดจุดรับซื้อ ณ พื้นที่โรงงาน 15 จุดทั่วประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเข้ามาขายยังโรงงาน ในกรณีที่พ่อค้าพืชไร่ไม่รับซื้อ โดยโรงงานยินดีรับซื้อข้าวโพดที่มีความชื้นสูงสุดถึง 30% ในราคาลดหลั่นกันไปตามคุณภาพ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการใช้ Fast Track ไม่ต้องเข้าคิวในคิวเดียวกับพ่อค้าพืชไร่อีกด้วย

ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่ว่าปัจจัยของการทำข้าวโพดราคาตกต่ำเป็นเพราะปลายทางอย่างโรงงานอาหารสัตว์ไม่รับซื้อนั้นจึงดูจะคลาดเคลื่อนไปมาก ที่สำคัญ ยังถูกเชื่อมโยงไปว่าเป็นเพราะมีการนำเข้า “ข้าวสาลีเพิ่มขึ้น” ซึ่งดูจะไม่เป็นธรรมนักในการกล่าวหาใครเพียงรายใดรายหนึ่ง

ทั้งนี้ เพราะผู้นำเข้าข้าวสาลีมิได้มีเพียงกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ยังมีกลุ่มผู้ค้าข้าวสาลีที่นำเข้ามาผลิตแป้งสาลีด้วย ขณะที่สมาชิกในสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ก็มี 52 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสุภาพบุรุษของสมาคมได้มากแค่ไหน?

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ว่ารับซื้อข้าวโพดในประเทศ 1 ตัน จึงจะนำเข้าวัตถุดิบทดแทนได้ 1 ตัน ยิ่งล่าสุดยังมีการขยับเป็น รับซื้อข้าวโพดในประเทศ 1.5 ตัน จึงจะนำเข้าวัตถุดิบทดแทนได้ 1 ตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วย...ก็ต้องติดตามดูว่าใครที่ทำได้และใครที่ไม่ทำ? ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือมีเพียงผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ 2 รายเท่านั้นที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโดยไม่บิดพริ้ว

ภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ควรต้องออกมาชี้แจงหรืออธิบาย ตลอดจนทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาให้ตรงจุด ถ้ายังเกาไม่ถูกที่คันและปล่อยให้สังคมที่อ่อนไหวกับข่าวลือไหลไปตามกระแสที่คลาดเคลื่อนแบบนี้ นอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติแล้ว ยังทำให้คนทำดีต้องเสียกำลังใจ

ตอนนี้เอาแค่รอรายงานของกระทรวงพาณิชย์ที่บอกว่าเข้ามากำกับดูแลปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างใกล้ชิด และเข้าตรวจสอบทุกกลุ่มตั้งแต่ปริมาณการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร ปริมาณการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของพ่อค้าพืชไร่ และปริมาณการรับซื้อข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่งแล้วนั้น ... ผลออกมาเมื่อไหร่ ก็ได้แต่หวังว่ากระทรวงคงจะแก้ปัญหากันได้ตรงจุดเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น