xs
xsm
sm
md
lg

แก้ราคาตก! “พาณิชย์” นัดหารือกำหนดรายละเอียดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การนำเข้าข้าวสาลี หลัง ครม.มีมติให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วน 1 ต่อ 3 ให้นำเข้าได้ 100 ตัน และต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 300 ตันเพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำให้แก่เกษตรกร ส่วนสถานการณ์ติดคิวขายข้าวโพดให้โรงงาน ล่าสุดแก้ไขแล้ว ยันภาษีข้าวสาลี 0% มีมติมาตั้งแต่ปี 49 ไม่ใช่ช่วงนี้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 14 พ.ย. 2559 ปลัดกระทรวงพาณิชย์จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน มาประชุมหารือ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการนำเข้าข้าวสาลี ก่อนที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการเรื่องสัดส่วนในการนำเข้าต่อไป

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ กำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในประเทศอัตราส่วน 1:3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดในประเทศ 300 ตัน) เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ

นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ติดคิวที่ผู้ประกอบการข้าวโพดต้องรอคิวนำสินค้าไปขายให้แก่โรงงานอาหารสัตว์ ขณะนี้สถานการณ์ได้รับการแก้ไข และผ่อนคลายลงแล้ว ทำให้มีการรับซื้อเพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มการซื้อขายมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะได้ติดตามและดำเนินการอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเด็นข่าวที่ว่ากระทรวงพาณิชย์ลดภาษีการนำเข้าข้าวสาลีจากร้อยละ 27 มาเป็นร้อยละ 0 ทำให้เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดขาดทุนนั้น ในข้อเท็จจริงของการลดอัตราภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นตามมติที่ประชุม เรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ตั้งแต่ปี 2549 ตามข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าของเรื่อง โดยได้เสนอให้มีการปรับลดอัตราอากรขาเข้าของปัจจัยการผลิตที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศให้เหลือร้อยละ 0 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดภาษีข้าวสาลี ตามนโยบายโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น