เลขาฯ พิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำชาวไร่ข้าวโพดร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบพาณิชย์ ชง ครม.ลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีทำเกษตรกรเสียหาย ขัดกฎหมายหรือไม่ หากผิดให้เลิก พร้อมจ่ายชดเชยชาวบ้าน ให้รัฐตั้งกรรมการสอบพวกเอื้อทุน พร้อมสอบ ก.เกษตรฯ ร่วมเอกชนลงนามส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริษัทยักษ์เท่านั้น ส่อมัดมือชก จี้ยกเลิกระบบเกษตรพันธสัญญา จัดระเบียบใหม่ ทบทวนระบบเกษตรประชารัฐ
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการ พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพด เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่ายนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโสระดับสูง สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ขอให้พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณี รมว.พาณิชย์ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และอธิบดีกรมศุลกากร เสนอคณะรัฐมนตรีลดภาษีการนำเข้าข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว และมันสำปะหลัง
นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ลดภาษีการนำเข้าข้าวสาลีจาก 27 เปอร์เซ็นต์ มาเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีการนำเข้าข้าวสาลีมาแทนข้าวโพดมากถึง 2.9 ล้านตันในปี 2558 และจะมากกว่า 3.5 ล้านตันในปี 2559 นี้ เป็นเหตุให้ราคาข้าวโพดที่เกษตรกรไทยเคยขายได้ในราคาประกันประมาณ 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ลงมาเหลือเพียง 3 บาทกว่าๆ ต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดขาดทุนเป็นหนี้สินกันทั้งประเทศในขณะนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ยังคงเดินหน้าสั่งนำเข้าข้าวสาลีเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน
จึงขอให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการตรวจสอบว่าการปฏิบัติของทั้ง 7 หน่วยงานรัฐดังกล่าว ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 หรือไม่ หากพบว่ามีความผิดให้เสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ยกเลิกภาษีนำเข้าข้าวสาลีจาก 0 เปอร์เซ็นต์ กลับไปใช้ 27 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม โดยให้รัฐบาลกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกรชาวไร่ข้าวโพดที่เสียหายจากมาตรการของรัฐดังกล่าว และให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดข้าราชการและผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผู้ประกอบการอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ รวมทั้งให้.มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่กำหนดให้ข้าวสาลีเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับ ณ วันที่ 21 ม.ค. 2559 ที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดสินค้าและบริการควบคุม
นายศรีสุวรรณยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการกับกรณีการปฏิบัติหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนดำเนินการจัดทำเกษตรพันธสัญญา ในลักษณะเอาเปรียบเกษตรกร ว่าดังกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับเอกชนลงนามส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนปลูกข้าวนาปรัง ปี 2559/60 โดยอ้างว่าจะมีการรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกรโดย ธ.ก.ส. และภาคเอกชน ในราคาประกันกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท มีเงื่อนไขคือ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งราคาเมล็ดพันธุ์ของบริษัทคู่ค้า ธ.ก.ส.มีราคาที่แพงมาก กิโลกรัมละ 180-200 บาท นโยบายดังกล่าวไม่ตรงกับสถานการณ์ปัญหาและความต้องการของเกษตรกร แต่เป็นนโยบายมัดมือชก ครอบงำวิถีของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับความเป็นธรรม ตกเป็นเบี้ยล่างนายทุน
จึงขอให้ผู้ตรวจการฯ พิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้รัฐบาลตรวจสอบและยกเลิกระบบเกษตรพันธสัญญาทั่วประเทศ และกำหนดมาตรการตรวจสอบระบบเกษตรพันธสัญญาต้องเป็นไปตามรูปแบบที่ภาครัฐกำหนด 2. ให้รัฐบาลทบทวนระบบเกษตรประชารัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่บังคับให้เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ และ 3. จัดระเบียบระบบเกษตรพันธสัญญารูปแบบใหม่ให้บริษัทและเกษตรกรร่วมกันรับผลประโยชน์