xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เจ้าคุณประยุทธ์” ปราชญ์พระผู้สันโดษ ผู้จุดเทียนเล่มแรกในการแฉความจริง “ธรรมกาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กำลังเป็นที่จับตาและเป็นที่ฮือฮาในแวดวงพระพุทธศาสนามากที่สุดในเวลานี้กับกระแสข่าวการพิจารณารายชื่อพระเถรานุเถระที่จะเข้ารับพระราชทานสถาปนาเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์จำนวน 159 รูป เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 5 ธันวาคม 2559 โดยหนึ่งในนั้นปรากฏชื่อ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เป็น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

เป็นการพิจารณารายชื่อผ่านการประชุมของ “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ก็เคยมีความเคลื่อนไหวสนับสนุนให้ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” มาแล้ว โดย “นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์” หรือ “ส.ศิวรักษ์” หลังจากที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก มส.

คราวนี้ จึงนับเป็นนิมิตหมายอันดี เนื่องจากมีความเหมาะสมในฐานะพระนักปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนาที่ได้รับการยอมรับไม่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลกจากวัตรปฏิบัติ และผลงานการเขียนหนังสือหนังสือ ตลอดรวมถึงการค้นคว้าวิจัยทางพระพุทธศาสนาอันโดดเด่น

สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการประวัติศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก Somrit Luechai ว่าวันนี้ปิติยิ่ง เมื่อทราบข่าวว่าท่านเจ้าคุณประยุทธ์(ป.อ.ประยุตโต)ได้สมณศักดิ์เป็น “สมเด็จ” ท่านคือพระที่แม่นในปริยัติและมั่นคงในปฏิบัติ เป็นพระที่ผมไม่เคยเสียดายมือที่เคยกราบไหว้ พอได้ข่าวนี้มนุษย์อย่างผมก็ตื่นเต้นฟูมฟายไปตามกระแสกิเลส แต่สำหรับท่านแล้วยศฐาบรรดาศักดิ์คงไม่สะเทือนท่านได้ ท่านคือสมเด็จรูปสุดท้ายในรัชกาลที่ 9 กระผมขอกราบคารวะท่านด้วยเศียรเกล้า ขอรับ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 จากบุตรเก้าคนของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร โดยครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ

เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้

เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านจะควบคู่ไปกับการเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูกพรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรค ปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านจึงสนับสนุนให้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ในเพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้

เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่ วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงรับเป็นนาคหลวง โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาจนกระทั่งได้รับปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ. 2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้นในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ

โดยเฉพาะหนังสือ “พุทธธรรม” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำเอก ของ วงการพุทธศาสนา

ขณะเดียวกันก็เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

ที่สำคัญคือ พระพรหมคุณาภรณ์นั้นได้เคยวิพากษ์วิจารณ์กรณีธรรมกายเอาไว้ในทุกซอกทุกมุมผ่าน วิทยานิพนธ์เรื่อง “แนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของ ป.อ. ปยุตฺโต ผ่านผลงาน เรื่องกรณีธรรมกาย” ซึ่ง ว.วชิรเมธี จัดทำขึ้นระหว่างศึกษาในหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา เมื่อ 10 ปีก่อน หรือในปี 2546

งานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ ว.วชิรเมธี ยืนยันล่าสุดว่า ข้อมูลปฐมภูมิทุกอย่างมาจาก ป.อ. ปยุตฺโต โดย ว.วชิรเมธี เป็นผู้เรียบเรียงในชั้นทุติยภูมิ

ด้วยเหตุดังกล่าว การที่คณะสงฆ์ไทยจะได้พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และไม่ใช่น่ายินดีเฉพาะคนไทยเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีของพุทธศาสนาโลกอีกแล้ว เพราะพระพรหมคุณาภรณ์ถือเป็นปราชญ์เป็นเพชรน้ำเอกแห่งพุทธศาสนาที่ “กราบ” ได้อย่างสนิทใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น