xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลอกคราบ “ธัมมี่” “กรณีธรรมกาย” โดย “เจ้าคุณปยุต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในความเป็นจริงปัญหาเรื่องคำสอนของ “วัดพระธรรมกาย” และ “พระเทพญาณมหามุนี(ไพบูลย์ ธัมมฺชโย)” ที่ผิดไปจากสิ่งที่บันทึกเอาไว้ใน “พระไตรปิฎก” อันเป็นสิ่งที่ “คณะสงฆ์ไทย” ยึดถือเป็นธรรมเนียมในการปกครอง เป็นสิ่งที่สังคมรับรู้กันมานานพอสมควร แต่ก็ยังมีผู้หลงผิดในคำ สอนเป็นจำ นวนมาก ขณะที่ “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ก็เพิกเฉยมิได้จัดการให้เป็นไปตามกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ไทย ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็มีวินิจฉัยชัดเจนแล้ว

กรณีวัดพระธรรมกาย ส่งผลกระทบต่อพุทธศาสนาในประเทศ ไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเด็นบิดเบือนพระธรรมวินัย และฉกฉวยโอกาสแสวงหาลาภสักการะ

ทั้งนี้ เพื่อให้สาธุชนมีความเข้าใจในวัดพระธรรมกาย ต้นธาตุต้นธรรมแห่งลัทธิพุทธทุนนิยมและบริโภคนิยมที่ดำ เนินมามากกว่า 10 ปีได้อย่างถ่องแท้ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ขอนำธรรมนิพนธ์เรื่อง “กรณีธรรมกายบทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย (ฉบับเพิ่มเติม-จัดลำ ดับใหม่)” โดย สมเด็จพระพุทธ โฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ตีแผ่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลัทธิธรรมกายไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอนำเนื้อหาบางส่วนมาเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษา สร้างความประจักษ์แจ้งเป็นแสงสว่างทางปัญญา (อีกครั้ง)

“ธรรมกาย” ลัทธิวิปริต
หนึ่งในประเด็นปัญหาใหญ่ของลัทธิธรรมกาย คือการเผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพุทธศาสนาหลายประการ แต่ยังคงนำไปเผยแพร่ต่อศิษยานุศิษย์อย่างมีนัย เหตุนี้เองจึงกล่าวได้ว่า “ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยก็ร้าย แต่ทำพระธรรมวินัยให้วิปริตร้ายยิ่งกว่า”

ย้อนกลับไปปี 2542 ช่วงต้นเรื่องกรณีธรรมกาย เกิดประเด็นคำถามคาบเกี่ยวความว่าธรรมกายจาบจ้วงพระธรรมวินัย เป็นต้นว่า “มีการถกเถียงกันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไม่ทราบจริงๆ เป็นอย่างไร?” และ “ธรรมกาย มีในพระไตรปิฎกหรือไม่?”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้อธิบายความว่า สองข้อนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการ หรือหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยเรื่อง “นิพพาน” เป็น “อัตตา” หรือ “อนัตตา” (บทความ : สายตรงจากธรรมกาย นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา-พระสมชาย ฐานวุฑฺโฒ วัดพระธรรมกาย) เมื่ออ่านดูลักษณะการเขียนคำตอบเป็นไปในเชิงที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจไปว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องนิพพานนั้น ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน ยังหาข้อสรุปไม่ได้เป็นเรื่องของความคิดเห็น การเขียนเช่นนี้ถือได้ว่าถึงขั้นที่จ้วงจาบพระธรรมวินัย

การบิดเบือนจากหลักพุทธศาสนาของลัทธิธรรมกาย เช่น สอน ว่านิพพานเป็นอัตตา, สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพนิมิตและให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตนเป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน, สอนเรื่องอายตนนิพพานที่ปรุงถ้อยคำขึ้นมาเองใหม่ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้า อุปโลกพิธีถวายข้าวพระข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน

กล่าวสำหรับ คำสอนเรื่องอนัตตาตามเอกสารของวัดพระธรรมกายเขียนไว้ว่า “เรื่องอัตตาและอนัตตานี้เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากตั้งแต่ยุคโบราณหลังพุทธกาลเป็นต้นมา และมีมาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แม้ในยุคปัจจุบันก็มีนัก วิชาการพระพุทธศาสนาทั้งในดินแดนตะวันตก เช่น ยุโรป อเมริกา และทางตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ถกเถียงกันมาก ประเด็นที่ถกเถียงกันก็มี หลากหลายเช่น...” ข้อความนี้ถ้าจะให้ถูกต้องและชัดเจน พระพรหมคุณาภรณ์ อธิบายความต่อไปว่าควรพูดเสียใหม่ ความว่า

“เรื่องอัตตานี้มีการยึดถือกันมามากตั้งแต่ก่อนพุทธกาล โดยเฉพาะในลัทธิศาสนาพราหมณ์ และหลังพุทธกาลแล้ว ศาสนาฮินดูก็ได้พยายามทำให้มั่นคงยิ่งขึ้น เห็นได้จากหลักเรื่อง พรหมัน-อาตมัน หรือ ปรมาตมัน-ชีวาตมัน แต่ในพุทธศาสนานั้นท่านมีท่าทีที่ชัดเจน คือไม่ยอมรับทฤษฎีอัตตาด้วยประการใดๆ คือ ไม่ยอมรับอัตตาโดยปรมัตถ์ซึ่งเป็นท่าทีที่ชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังไม่ให้ลัทธิภายนอก และลัทธิเดิมก่อนพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธแล้วนั้น กลับแทรกแซงเข้ามา”

เหล่านี้่ผิดเพี้ยนออกไปจากธรรมวินัยทั้งสิ้น จึงขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ตัวอย่างด้านพระวินัย เช่น วินัยบัญญัติไม่ให้ภิกษุดื่มสุรา ไม่ให้เสพเมถุน แต่ภิกษุนั้นดื่มสุรา หรือเสพเมถุน เรียกว่า ประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ก็ต้องแก้ไขโดยดำเนินการ ลงโทษไปเป็นส่วนเฉพาะบุคคลแต่ถ้ามีพระภิกษุยึดถือประกาศขึ้นมาหรือเผยแพร่ว่า การดื่มสุราก็ดีการเสพเมถุนก็ดีไม่ผิดวินัย พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามไว้ก็เป็นปัญหาถึงขั้นทำพระธรรมวินัยให้วิปริต

ฉันใดก็ฉันนั้น การบิดเบือนลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีการที่ลัทธิธรรมกายเข้าครอบงำประชาชนผู้ห่างไกลแก่นแท้ของพุทธศาสนา ซึ่งปัญหากรณีวัดพระธรรมกายยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็นด้วยกัน ธรรมนิพนธ์เล่มนี้ตีแผ่ว่า เรื่องความประพฤติส่วนตัวของพระ เรื่องการดำเนินงานขององค์กร คือวัดและมูลนิธิเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น

ตลอดจนการดำเนินธุรกิจต่างๆ การแสวงหาเงินทองอย่างไม่ถูกต้องในแง่กฎหมายและพระวินัย สร้างเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขึ้นมาเผยแพร่ในลักษณะชักจูงให้คนบริจาคเงิน เกณฑ์ผู้คนจำนวนมากเป็นต้นว่า นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนข้าราชการ ฯลฯ เข้าร่วม กิจกรรมเคลือบแผงเป้าหมายในเรื่องการบริจาคเงิน สุดท้ายที่เป็นปัญหาสำคัญเรื่องพระธรรมวินัยที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะการแสดงหลักการของพระพุทธศาสนาที่บิดเบือน เรื่องนิพพานเป็นอัตตา เรื่องธรรมกาย และเรื่องอายตนนิพพาน

สถานการณ์ปัญหาของวัดพระธรรมกาย สร้างความเคลือบแคลงในสังคมจนเกิดคำถามหลายเรื่องด้วยกัน กระทั่งมีผู้เรียกร้องให้ พระเดชพระคุณหลวงธัมมชโย เจ้าอาวาสฯ ออกมาชี้แจ้งแต่เจ้าตัวกลับเงียบเป็นเป่าสาก ประเด็นสำคัญคือต่อมา มีตัวแทนจากวัดพระธรรมกายได้ออกมากล่าวอ้างเชิงตอบโต้ สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชน กระทบหลักธรรมกระทบวิถีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความว่า
“เรายึดแนวพระพุทธเจ้า จะชนะด้วยความสงบนิ่ง... พระพุทธมีผู้หญิงมากล่าวหาว่ามีท้องกับพระพุทธบางทีมีคนจ้างคนมารุมด่าสองข้างทางพระองค์แก้อย่างไร พระพุทธนิ่งตลอด บอกไว้เลยชนะได้ด้วยความสงบนิ่ง แล้วความจริงก็ปรากฏในที่สุด พระพุทธเจ้า ไม่เคยข่าว อยู่วยความนิ่งสงบ และสุดท้ายก็ชนะ ความจริงจะปรากฏ เราเองก็เลยใช้วิธีการเดียวกัน”

โดยข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ เป็นเพียงการกล่าวอ้าง ความจริงพระพุทธเจ้าไม่ได้ใช้วิธีสงบนิ่งอย่างเดียว ทรงใช้วิธีปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะให้เรื่องจบสิ้นลง อย่างการชี้แจงแสดงความจริง หรือ แสดงธรรม การกล่าวอย่างข้างต้นมีความกำกวมสร้างความเข้าใจผิดว่า เกิดเหตุการณ์อะไรพระพุทธเจ้าจะทรงนิ่งเฉย เรื่องนี้เป็นตัวอย่างเล็กน้อยในการสร้างเสื่อมเสียต่อพระพุทธคุณ

ยิ่งกว่านั้น พฤติการณ์การแพร่ของลัทธิธรรมกาย ดำเนินไปในลักษณะ “จาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยี” พระธรรมวินัยให้ไขว้เขวสร้างความหลงผิดแก่ประชาชนเพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น พระไตรปิฎกบาลีบันทึกคำสอนไว้ตกหล่น หรือมีฐานะเป็นเพียงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เชื่อถือหรือใช้เป็นมาตรฐานไม่ได้, อ้างนักวิชาการต่างประเทศและการปฏิบัติของตน ใช้วินิจฉัยหลักพระพุทธศาสนาได้ ฯลฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถ่ายทอดปรากฏการณ์กรณีธรรมกายฯ ในตอนหนึ่งความว่า “วนเวียนจมอยู่กับการบริจาคทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดติดถือมั่นในตัวตนและในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มที่บั่นทอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้ลางเลือนไปด้วย”

ธรรมนิพนธ์วิเคราะห์บริบทของวัดพระธรรมกายต่อไปว่า คำสอนและการปฏิบัติของสำนักพระธรรมกายผิดแผกแตกต่างออกไปเป็นอันมากจากพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาเถรวาท ทั้งที่ทางสำนักพระธรรมกายก็ปฏิญาณตนเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และผู้สอนก็เข้ามาบวชอยู่ในภิกขุภาวะที่เกิดมีจากพระไตร ปิฎกบาลี ซึ่งเป็นที่รักษาหลักเกณฑ์และหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น

“ข้อที่สำคัญมาก ก็คือ ความผิดเพี้ยนนั้นเกี่ยวด้วยหลักการใหญ่ที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือเรื่องนิพพานเป็น อัตตาหรืออนัตตา เรื่องธรรมกาย และเรื่องอายตนนิพพาน ซึ่งในที่สุดก็โยงเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นเรื่องของนิพพาน คำสอนและการปฏิบัติส่วนสำคัญๆ ของสำนักพระธรรมกายในเรื่องที่กล่าวนั้น นอกจากไม่มีอยู่ในคำสอนเดิมของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังขัดแย้งอย่างมากกับหลักการเดิมที่ถือว่าเป็นมาตรฐาน ของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นดัวย พูดอย่างหนึ่ง ก็เหมือนกับเป็นเพียงการมานำเอาถ้อยคำใน พระพุทธศาสนาเถรวาทไปใช้ แล้วกำหนดความหมายและวิธีปฏิบัติขึ้นเองใหม่เป็นระบบของตนเองต่างหาก แต่ยังอ้างว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นอย่างนั้น”

อย่างเรื่อง พระไตรปิฎก ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในพุทธศาสนา หากผู้ใดปฏิเสธพระไตรปิฎกหรือไม่ยอมรับพระไตรปิฎกก็คือไม่ยอมรับพระพุทธศาสนา แม้ลัทธิธรรมกายแสดงเอกสารให้เห็นถึงการยอมรับพระไตรปิฎกแต่กลับสร้างความบิดเบือน ความว่า

“นอกจากพระไตรปิฎกบาลีแล้ว ยังมีคำสอนยุค ดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในคัมภีร์อื่นอีกหลายแหล่ง เช่น พระไตรปิฎกจีน พระไตรปิฎกธิเบต คัมภีร์สันสกฤต คัมภีร์ในภาษาคันธารีภาษาเนปาลโบราณ ภาษาถิ่นโบราณ ของอินเดีย เอเชียกลางและที่อื่นๆ การจะศึกษาให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนายุคดั้งเดิมจริงๆ นั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องศึกษาให้เข้าใจ คัมภีร์ทั้งหลายเหล่านี้ทั้งหมด นำเนื้อหาคัมภีร์ที่คล้ายกันมา เปรียบเทียบกันวิเคราะห์ด้วยหลักทางวิชาการทั้งด้านภาษาศาสตร์และอื่นๆ จึงจะได้ความเข้าใจที่รอบด้าน สมบูรณ์”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายความว่า เอกสารของวัดพระธรรมกายกล่าวถึงพระไตรปิฎกจะมีลักษณะสร้างสับสน สร้างความเข้าใจผิดที่ไม่ควรให้อภัย เช่น ออกชื่อคัมภีร์ ในภาษาต่างๆ มากมาย ให้ดูน่าทึ่งประหนึ่งว่าแต่ละภาษาเหล่านั้นคงจะมีพุทธพจน์บันทึกไว้ นอกเหนือจากที่เรารู้กันอีกมากมาย แต่แท้ที่จริงเอาเป็นหลักอะไรไม่ได้ กล่าวคือ พระเถระผู้รักษาพระพุทธศาสนา ยุค 200 กว่าปีแรก ท่าน รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันดี และได้ชำระสะสางเสร็จสิ้นไปแล้ว หลังจาก นั้นถ้าจะมีการยอมรับกันก็เพียงพูดให้ชัดว่าคัมภีร์นั้นๆ เป็นของนิกายไหนและนิกายนั้นสอนว่าอย่างไร

พุทธศาสนาวิปโยค
กรณีวัดพระธรรมกายถือเป็นปัญหาต่อหลักการของพระพุทธศาสนาโดยตรง หากยกหลักการจากพระไตรปิฎกขึ้นมาเป็นมาตรฐานกลางที่จะวินิจฉัยคำสอนและหลักการปฏิบัติต่างๆ ของลัทธิธรรมกาย

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของวัดพระธรรมกายมีรากเหง้าจากพระพุทธศาสนาเถรวาท เจริญรอยตามคำสอนของ หลวงพ่อสด (พระมงคลเทพมุนี สด จนฺทสโร) ภิกษุผู้ได้รับความเคารพนับถือว่าเป็นผู้ทรง ศีลาทิคุณเป็นผู้อุทิศตนต่อพระพุทธศาสนา ใฝ่ปฏิบัติมั่นในภาวนาเป็นครูอาจารย์ของมหาชน ทว่า เมื่อท่านมรณภาพลูกศิษย์ลูกหาได้ แยกสำนักย่อยยออกไปก็เกิดความคาดเคลื่อนผิดเพี้ยน เห็นได้ชัดจากกรณี พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ต้นธาตต้นธรรมผู้มีมลทิน

คำสอนของวัดพระธรรมกายมีรูปร่างเป็นเนื้อเป็นตัว กล่าวคือ แม้แต่เป็นภาพพระพุทธรูปปางประทับนั่งและนิพพานก็เป็นสถานที่ที่ “ธรรมกาย” ที่มีรูปร่างอย่างนั้นไปรวมกันอยู่ แต่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเถรวาท “ธรรมกาย” เป็น “นามธรรม” ในความหมาย กว้างๆ ตั้งแต่คุณธรรมต่างๆ ที่ปลูกฝังพัฒนาขึ้นมา จนถึงความจริงแท้สูงสุดที่รู้แจ้งด้วยปัญญา และนิพพานก็เป็นสภาวธรรมแห่งภาวะที่จิตปลอดพ้นแล้วจาก กิเลสและความทุกข์บริสุทธิ์โปร่งโล่ง ผ่องใส เป็นอิสระ ไม่มีรูปร่าง เป็นเนื้อเป็นตัวหรือเป็นสถานที่อย่างใด

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ระบุว่า ในคำสอนของสำนักพระธรรมกายนั้นการปฏิบัติเพื่อเข้าถึง หรือเห็นธรรมกายเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นหลักใหญ่ที่สุด การปฏิบัติจะต้องผ่านการเห็นกายต่างๆ ซ้อนลึกเข้าไปตามลำดับ จนถึงที่สุดรวม 18 กาย แต่ในหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาท ธรรมกายไม่อยู่ในระบบการปฏิบัติ เพราะเป็นเพียงถ้อยคำเชิงเปรียบเทียบ

“ธรรมกายมีคำสอนและการปฏิบัติของสำนักพระธรรมกาย ที่ไม่มีในพระพุทธศาสนาเถรวาท และบางเรื่องก็มีถ้อยคำเดียวกัน เหมือนกัน แต่สื่อความหมายคนละอย่าง ขัดแย้งกับหลักการของพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่อ้างว่าเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาท...

“ปฏิเสธหลักฐานในพระไตรปิฎก อ้างหลักฐานอย่างผิดพลาด ตีความหลักฐานให้เป็นไปตามทัศนะของตน เอาหลักฐานกับทัศนะมาปะปนสับสนกัน ชักจูงประชาชนให้ไม่เชื่อถือพระไตรปิฎก ปัญหาจึงร้ายแรงถึงขั้นที่อาจจะทำให้พระพุทธศาสนาดั้งเดิมที่รักษากันมาได้ ยาวนานเป็นพันๆ ปี อาจจะถึงคราวสูญสิ้น”

ธรรมนิพนธ์เรื่องกรณีธรรมกายฯ ระบุต่อไปว่า วัดพระธรรมกายได้ประกาศวิชชาธรรมกาย พระอาจารย์ใหญ่ของสำนักเพิ่งค้นพบใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2460 ความเป็น วิชชาใหม่ชาวพุทธทั้งหลายคงยอมรับได้ ทั่วกัน และกล่าวอ้างต่อไปอีกว่า เป็นวิชชาของพระพุทธเจ้าเป็น หลักการของพระพุทธศาสนา แต่หายไป 2,000 ปีเพิ่งได้กลับมา ซึ่งเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนานั้นยังอยู่ครบครันไม่มีส่วนใดสูญหาย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาพฤติการณ์ที่สืบเนื่องจากหลักการของวัดพระธรรมกายได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง ผู้คนจำนมากทั้งการศึกสูงก็ดียอมให้ความศรัทธาจำนนต่อวัดพระธรรมกาย กลายตรารับรองความวิปริตผิดเพี้ยนให้เป็นความถูกต้อง โดยไม่ได้ศึกษาเนื้อแท้ของพุทธศาสนาดั้งเดิม

เทียบเคียงสถานการณ์คำทำนายเรื่องภัยพิบัติ ปี ค.ศ. 2000 ผู้คนมากมายต่างวุ่นวายกับการหาทางแก้ปัญหาโดยพึ่งโชคลางและไสยศาสตร์ พระพรหมคุณาภรณ์ เปิดเผยบทบาทวัดพระธรรมกายในครั้งนั้น ความว่า ทางวัดพระธรรมกายแทนที่จะสั่งสอนแนะนำประชาชนให้ปฏิบัติต่อสถานการณ์ด้วยปัญญา กลับชักนำไปในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์และมีการโฆษณาอานุภาพพระมหาสิริราชธาตุบ้าง พรรณนาอานิสงส์ของการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์บ้าง จูงใจให้บริจาคเงินกัน โดยเชื่อมโยงหรืออ้างอิงถึงความเชื่อหรือคำ ทำนายเกี่ยวกับภัยพิบัติข้างหน้าทำนองนี้

มายาคติที่รอวันลบล้าง
ปัญหาของวัดพระธรรมกายทิ้งร่องรอยไวเป็นอนุสรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายสาระสำคัญของปัญหาใหญ่ที่ชักจูงประชาชนให้หลงผิด 4 เรื่องสำคัญได้แก่ 1. เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ 2. เรื่องการ ทำบุญ 3. เรื่องสิ่งก่อสร้างใหญ่โต และ 4. เรื่องการระดมทุน

เริ่มต้นที่แรก เรื่องฤทธิ์หรืออิทธิปาฏิหาริย์ พุทธศาสนามีหลักชัดเจนอยู่แล้วว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญไม่ว่าฤทธิ์นั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ความตอนหนึ่งในธรรมนิพนธ์ระบุว่า พระพุทธศาสนาสอนให้คนหวังผลจากการกระทำและให้กระทำการที่ดีด้วยความเพียรพยายามโดยใช้สติปัญญา ไม่ใช่มัวกล่อมใจกันด้วยความหวังว่าจะมี อำนาจวิเศษมาดลบันดาลหรือหยิบยื่นให้

เรื่องการทำบุญ เป้าหมายของการทำบุญคือการชำล้างบาป ทำใจให้ผ่องใส สร้างความเจริญงอกงามภายในจิตใจ หรือการทำทานเพื่อบริจาคกำจัดความเห็นแก่ตัว เป็นการช่วยเหลือกันและกันในสังคม ตลอดจนเป็นเครื่องสนับสนุนให้พระสงฆ์ ซึ่งบุญไม่ใช่แค่ทานเท่านั้น ยังมีบุญอย่างอื่นอีกมากมาย เช่น ความเชื่อหรือศรัทธาที่มีเหตุผล ไม่หลงงมงาย ความมีใจเมตตา

เรื่องสิ่งก่อสร้างใหญ่โต ต้องพิจารณาตัวงานพระศาสนา เป็นต้นว่า การก่อสร้างสิ่งใหญ่โตสวยงามในความหมายทำนองเป็นอนุสรณ์ สถาน ควรจะเกิดจากการรวมใจกันของชาวพุทธ การสร้างวัตถุไม่ต้องพูดถึงที่ใหญ่โตตามหลักไตรสิกขา ซึ่งการสร้างสิ่งใหญ่โตที่จะเป็น อนุสรณ์สถานนอกจากสิ้นเปลืองทีเดียว

และเรื่องการระดมทุน เรื่องของทุนทรัพย์นั้นใช้ในการพัฒนาคุณภาพคน ยุคที่ผู้คนเดือดร้อนเศรษฐกิจฝืดเคืองต้องตัดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกใช้จ่ายอย่างประหยัด มีหลักการว่า คติพระพุทธศาสนามุ่งให้แผ่ขยายประโยชน์สุขออกไปแก่พหูชน การระดมทุนควรมุ่งเพื่อดำเนินการแผ่ขยายประโยชน์สุข ไปให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางทั่วถึง โดยไม่ยอมแก่ลาภสักการะและความสุขสบายส่วนตน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่หนุนให้ลัทธิธรรมกายเข้ามาบั่นทอนพุทธศาสนา คงต้องย้อนกลับไปที่เรื่องของคนเรื่องของสังคม เพราะปัญหาทุกวันนี้แม้สังคมมีความเจริญสูงทางวัตถุ ตรงกันข้ามคนกลับมีปัญหา จิตใจมากขึ้น สภาพการณ์เช่นนี้วิธีแก้ปัญหาหนึ่ง คือการหาที่พึ่งพิงทางจิตใจหันหน้าเข้าหาทางธรรม รวมไปถึงสิ่งลี้ลับความเชื่อต่างๆ แต่ ทั่งหมดนี้หากหมกมุ่นจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อธิบายถึงความลักลั่นเกิดขึ้นในพุทธศาสนาในตอนหนึ่ง ความว่า “มีการพูดกันว่า เป็นการดีที่ทำให้คน จำนวนมากๆ ไปวัด ไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา เขาไปทำความดีดีกว่าไปสำมะเลเทเมา เข้าบาร์ ไนท์คลับ ฯลฯ เรื่องนี้จะต้องพิจารณา ด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ประมาท ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านสอนให้รู้ว่าความชั่วมีหลายอย่าง มีทั้งความชั่วด้านโลภะ ความชั่วด้านโทสะ และความชั่วด้านโมหะ คนมักจะหลงลืมมองข้ามความชั่วด้านโมหะ แม้จะไม่ทำความชั่วเพราะโลภะ แม้จะไม่ทำความชั่วเพราะโทสะ แต่อาจจะทำความชั่วด้วยโมหะซึ่งร้ายแรงมาก บางครั้งคนผู้จะทำการร้ายด้วยโลภะ อาจฉวยโอกาสใช้โมหะของคนอื่นๆ มาเอาโลภะเข้าล่อแล้วชักพาคนเหล่านั้นให้ทำกรรมชั่ว อันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะยิ่งขึ้นไป...

“พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางจิต วิธีการทางจิตนั้นไม่ใช่ว่าผิดแต่ไม่เพียงพอ และต้องใช้ในขอบเขตที่พอดีคือพอให้จิตใจได้พัก ทำให้จิตใจผ่อนคลายสงบหายเร่าร้อน กระวนกระวายว้าวุ่นและมีกำลังขึ้น คือเป็นเครื่องเตรียมจิตให้พร้อม แล้วต้องต่อด้วยวิธีการทางปัญญา เพื่อแก้ปัญหาดับทุกข์ให้จบสิ้นไป”

การพัฒนาวัฒนธรรมทางปัญญาของคนในชาติจะกู้วิกฤตศาสนาให้ ผ่านพ้นไปได้ แต่ดูท่าว่ายังคงเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีผู้คนจำนวนไม่ น้อยยังคงมัวเมาธรรมะเกรียนๆ ลัทธิธรรมกาย


กำลังโหลดความคิดเห็น