xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โปรดอ่านอีกครั้ง....พระดังวิพากษ์ “เจ้าคุณธัมมี่” หลวงพ่อฤาษีลิงดำ-ป.อ.ปยุตฺโต-ว.วชิรเมธี-พระไพศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ยิ่งนานวันไปก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ธัมมชโย” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ย่อๆ ว่า “ธัมมี่” แต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาปรารถนาให้ใช้คำนำหน้านามว่า “พระ” หรือ “หลวงพ่อ” ก็สำแดงให้เห็นว่า เป็นคนเยี่ยงไร และมีเป้าประสงค์อะไรถึงยังไม่ยอมมอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ฟอกเงิน” และ “รับของโจร” ในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

ประการแรก-เจ้าคุณธัมมชโยมีตรรกะความคิดที่ผิดปกติและย้อนแย้งในตัวเอง กล่าวคือ ในขณะที่ตนเองไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และแสดงให้เห็นความเป็นผู้อยู่ “เหนือกฎหมาย” อย่างชัดเจน ด้วยการตั้งเงื่อนไขและเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ แต่กลับใช้กฎหมายไล่ล่าฟ้องปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเมามัน ไล่ตั้งแต่พระพุทธะอิสระแห่งวัดอ้อน้อย นพ.ดร.มโน เลาหวณิช อดีตศิษย์เก่าวัดพระธรรมกาย พระราชธรรมวิเทศน์ หรือพระพะยอม แห่งวัดสวนแก้ว ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นต้น

ประการที่สอง -เจ้าคุณธัมมชโยมีเจตนาที่จะ “ยื้อเวลา” ในการเข้ามอบตัวชัดเจน โดยยื่นเงื่อนไขสารพัดต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งก็คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ทั้งการขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน และการประกาศเจตจำนงออกมาอย่างชัดเจนว่า ถ้ามอบตัวแล้ว จะต้องได้รับการประกันตัวในทันที รวมถึงการเล่นแง่ในเรื่องของการตรวจ “อาการอาพาธ” ที่สังคมคลางแคลงใจ จากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลหรือองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ กระทั่งสุดท้ายหางก็โผล่เมื่อยกเลิกการตรวจเอาเสียเฉยๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ท้าเหยงๆ ให้ส่งทีมแพทย์เข้าไปตรวจถึงในวัดพระธรรมกาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีการนัดหมายกับ “แพทยสภา” ที่มีการเลื่อนและส่อเค้าว่าจะยกเลิกการตรวจทั้งหมด ดังที่ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ว่า คณะลูกศิษย์ของพระธัมมชโย ขอให้แพทยสภาเลื่อนการตรวจอาการอาพาธของพระธัมมชโยออกไปก่อน และคาดว่าน่าจะเป็นการยกเลิกการตรวจไปเลย เนื่องจากคณะลูกศิษย์เห็นว่าการตรวจอาการอาพาธนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ เพราะทางดีเอสไอได้ออกหมายจับ และตรวจไปก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ประการที่สาม-เจ้าคุณธัมมชโยเป็นผู้ที่มีอิทธิพลเหนือองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์อย่าง “มหาเถรสมาคม(มส.)” ซึ่งมี “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ นั่งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จ พระสังฆราช เพราะนับจากที่เกิดเรื่องเกิดราวขึ้น มิได้มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจาก มส.เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่กระทบต่อศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่รุนแรงยิ่ง และเป็นภาระหน้าที่ที่ มส.จักต้องเข้ามาดูแลพระที่อยู่ภายใต้การปกครองของคนเอง(ดูกราฟิกประกอบข่าว)

แม้งานนี้ พระเทพรัตนสุธี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จะออกหน้ารับเป็นผู้ประสานงาน รวมทั้งเข้าร่วมเจรจา 3 ฝ่าย(ดีเอสไอ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) แต่ก็เห็นว่า ดำเนินไปในลักษณะช่วยเหลือและเอื้ออาทรพระใต้ปกครองผู้เปี่ยมล้นไปด้วยอำนาจเสียมากกว่า

ประการที่สี่-เจ้าคุณธัมมชโยมั่นใจใน “กองกำลัง” ของตนเองเป็นอย่างมากว่า ด้วยแนวทางคำสอนที่ได้กล่อมเกลาลูกศิษย์ลูกหามาเป็นเวลานาน ทำให้เชื่อว่า กลุ่มบุคคลเหล่านั้นจะเป็น “โล่มนุษย์” ที่สามารถปกป้องให้พ้นจากวิบากกรรมครั้งนี้ได้ ดังจะเห็นได้จากการระดมผู้คนเข้าไปรวมตัวกันอยู่ในวัดเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างป้อมค่ายประตูเมืองเพื่อปกป้องต้นธาตุต้นธรรมของตัวเอง

เหล่านี้คือความจริง 4 ประการที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของเจ้าคุณธัมมชโยนับแต่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา กระทั่งกลายมาเป็นหมายจับ ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ว่า จะจบลงอย่างไร

กระนั้นก็ดี ในระหว่างที่สถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและรอกำหนดวันนัดหมายเจรจา 3 ฝ่าย ซึ่งถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 อีกครั้ง และในระหว่างที่องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยได้ตัดสินใจยืนเคียงข้างเจ้าคุณธัมมชโย “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ขอนำข้อมูลและข้อวิพากษ์ของ “พระดังที่คนไทยให้ความเคารพนับถือ” ซึ่งได้จำแนกแจกแจงถึง “ความผิดปกติ” ของ “วัดพระธรรมกาย” เอาไว้ในหลากหลายแง่มุม

พระพรหมคุณาภรณ์(ประยุทธ์ ปยุตโต)
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี(ว.วชิรเมธี)

ว.วชิรเมธี ได้ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี 2546

เนื้อหาที่น่าสนใจในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้อยู่ตรงที่การศึกษาถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นใน 2 ลักษณะคือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย

สำหรับการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, การพยายามปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนเองในพระไตรปิฎก, การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตนหรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศให้มีฐานะสำคัญถึงขนาดที่ใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นขึ้นมาเพื่ออ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่อง นิพพาน เป็นต้น การพยายามให้อรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่งและเมื่อทำบุญแล้วอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆได้อย่างปาฏิหาริย์

ส่วนการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลักได้แก่การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่มีความโดดเด่นอยู่ที่ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งการระดมทุนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และในทางเกียรติคุณชื่อเสียง แต่วิธีการเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติที่ปราศจากการจัดตั้งหรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้ สาระสำคัญของปัญหากรณีธรรมกายส่วนที่กระทบต่อพระธรรมวินัยเอาไว้ คือ วัดพระธรรมกายเผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น

1. สอนคำว่านิพพานเป็นอัตตา

2. สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพมิติและให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตน เป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน

3. สอนเรื่องอายตนนิพพาน ที่ปรุงถ้อยคำขึ้นมาเองใหม่ ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ถึงกับมีพิธีถวายข้าวพระ ที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนั้น

คำสอนเหล่านี้ ทางสำนักพระธรรมกายสอนใหม่ ผิดเพี้ยนออกไปจากธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แต่แทนที่จะให้รู้กันตามตรงว่าเป็นหลักคำสอนและการปฏิบัติของครูอาจารย์ ทางวัดพระธรรมกายกลับพยายามนำเอาคำสอนใหม่ของตนเองเข้ามาปะปนหรือแทนที่หลักคำสอนเดิมที่แท้ของพระพุทธศาสนา

นอกจากนั้น สำนักพระธรรมกาย ได้นำคำว่า “บุญ” มาใช้ในความหมายใหม่ นั่นคือ ให้บุญมีสภาพเป็นดุจ “สินค้า” (Product) ที่นำมา “ซื้อ-ขาย” ผ่านกลไกการตลาดได้หลักฐานที่แสดงว่า สำนักฯ ได้นำเอาคำว่า “บุญ” มาใช้ในความหมายที่เป็น “สินค้า” นี้ก็คือคำให้สัมภาษณ์ของหลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ระบุว่า “พุทธ” ศาสนามีหลักธรรมที่เป็นอมตะมากมาย ถ้าเทียบเป็นสินค้า ก็ต้องว่าสินค้าเรายอดเยี่ยมด้วยคุณภาพ แต่ปัจจุบันนี้มาร์เกตติ้งไม่ดี

ทั้งๆ ที่ความหมายเดิมของพุทธศาสนาเถรวาทที่ว่า “บุญ” คือ เครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์บ้าง เป็นความ “สุข” ซึ่งยังเป็นนามธรรม

งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้อ้างอิงรายงานของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐสภา เอาไว้ว่า วัดพระธรรมกายใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการเข้าแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย ด้วยการรู้จักใช้บุคคลชั้นนำทั้งทางศาสนจักร และอาณาจักร สถานการณ์ ช่วงจังหวะเวลาในการแฝงตัว กำบังตัว คืบคลานเข้ามาแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทยไปตามลำดับ โดยอาศัยฐานการเงินและคนที่หลอกล่อ ฉ้อฉล มาจากทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทย คือ การศรัทธาอันสูงสุดต่อพระพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในสายเลือดของชาวพุทธไทยแทบทุกคน

เมื่อมีเงินและคนที่เป็นเป้าหมายได้ระดับหนึ่งแล้วก็ใช้การเอาใจ ยกยอ ให้เกียรติพระเถระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น พร้อมทั้งถวายปัจจัยจำนวนมากทั้งเงิน รถยนต์ ยี่ห้อหรูราคาแพง ฯลฯ ให้แก่พระเถระชั้นนำที่วัดพระธรรมกายจะติดต่อเข้าหาเพื่อใช้ประโยชน์ มากน้อยผันแปรไปตามความสำคัญของระดับชั้นพระเถระนั้นๆ และตามงานที่วัดจะยกและยอพระเถระนั้นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตน

บางครั้งถวายเงินจำนวนมากถึงหกหลักเจ็ดหลักต่อการนิมนต์เพียงครั้งเดียว และพระเถระที่วัดพระธรรมกายยกและยอไปไม่เคยมีบทบาทที่เข้าถึงสาระของงานได้เลย เป็นได้เพียงเจว็ดหรือยันต์กันภัยเท่านั้น

ในเวลาเดียวกันนั้นพระธรรมกายก็พยายามชักจูงพระเณรที่มีความรู้เปรียญธรรมสูงๆ ให้มาอยู่วัดด้วยการใช้เงินจำนวนมากกระทำทุกวิธีการและใช้การปลูกฝังลัทธิวิชาธรรมกายในหมู่เยาวชน เพื่อนำไปสู่การบวชเป็นพระเณรของวัด จนทำให้วัดพระธรรมกายในขณะนี้มีพระเณรมากที่สุดในประเทศไทย และสามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ชนะทุกวัดของประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว เรียกได้ว่า วัดพระธรรมกายจะอาศัยฐานเหล่านี้เพื่อ “คิดการใหญ่” ตามแผนการที่วัดประกาศไว้อย่างชัดเจนในโครงการ “Dhammakaya World” โดยมุ่งให้วัดพระธรรมกายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ชาวพุทธทุกคนทั่วโลกต้องมาจาริกบุญที่วัดพระธรรมกายอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต

ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ของ ว.วชิรเมธียังเขียนเอาไว้ด้วยว่า พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่สำนักตั้งเอาไว้ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้นอันตรธานไป และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิที่ถือว่าเป็น มิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงาย ไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้

พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ) เจ้าอาวาสวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานี

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กล่าวถึงวัดพระธรรมกาย เมื่อครั้งท่านได้รับนิมนต์ไปในฐานะวางศิลาฤกษ์ วัดพระธรรมกาย เมื่อปี พ.ศ. 2517 เอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า ….

“อาจารย์วรณี สุนทรเวช ถวายที่ไว้แก่พระชุดหนึ่งที่คลองสามรังสิต จะเป็นเนื้อที่กี่ไร่นี่ผมจำไม่ได้ เนื้อที่มาก และก็กำลังจะสร้างพระอุโบสถ เอาช่างเขียนแปลนเสร็จ เอาช่างไปแล้ววางผังขุดหลุมจะเทรากฐานกำลังจะตอกเข็มแล้วก็มีความประสงค์จะวางศิลาฤกษ์

สำหรับวัดนี้นอกจากอาจารย์วรณีจะให้ที่แล้ว ยังออกเงินให้ในการก่อสร้างทั้งหมด ทะนุบำรุงวัดนั้นทั้งหมด ที่หมดไปแล้วจำไม่ได้เนื้อที่ เพราะว่าคิดว่าจะเกินกว่าร้อยไร่แล้วก็ยังจะให้ เมื่อก่อสร้างแล้วก็ยังไม่พอ ยังจะให้เงินเป็นมูลนิธิสำหรับวัดนั้นอีกซัก ประมาณ สิบล้านหรือสิบล้านเศษผมจำไม่ได้

ทีนี้ การจะวางศิลาฤกษ์ของท่าน ไม่ทราบว่าท่านมีความรู้สึกยังไง จะนิมนต์ผมไปในฐานะเป็นผู้วางศิลาฤกษ์ ทีนี้ความจริงพระที่วัดนั้นก็เคยมาหาผม ท่านทำท่าเหมือนว่าจะเป็นบัณฑิต ตามที่ทราบมาว่าเป็นนิสิตเกษตร สำเร็จปริญญาจากเกษตรฯ เวลาท่านมาหาท่านบอกว่าท่านต้องการอภิญญา แต่ผมเองเรื่องอภิญญาสมาบัตินี่ ใครอย่ามายุ่งกับผม ผมไม่เอาด้วย ผมไม่ได้เห็นชอบด้วย ผมก็คุยให้ท่านฟังว่า ท่านต้องการอภิญญาก็ปฏิบัติตามนั้น ตามแบบฉบับ หรือว่าแบบปกติ ท่านทำท่าเหมือนว่าจะเลื่อมใส แต่คนอย่างผมนี่ใครจะเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสผมก็ไม่สนใจ

เมื่อเวลาไปถึงตอนเช้า ผมก็แปลกใจที่มีนิสิตนักศึกษาของเกษตรเป็นกลุ่มใหญ่ยืนอยู่หน้าทาง มีวิทยุติดต่อกัน ผมน่ะอยู่ไกลฟังไม่รู้เรื่อง ผมก็เดินเรื่อยเข้าไปตามเรื่อง มีคนนำ แต่ทีนี้คนที่อยู่ใกล้ ๆ กับพวกนิสิตนักศึกษาเกษตรเขามาเล่าให้ฟังว่า ผมกับเจ้ากรมสื่อสารทหาร กับคณะเดินลงไปเข้าเขต เขาวิทยุถามกันไปว่า เวลานี้พระมหาวีระมาแล้ว จะอนุญาต ยอมให้เข้าหรือไม่ยอมให้เข้า ไอ้ความจริงผมไม่รู้เรื่องกับเขาเลย เขายอมหรือไม่ยอมก็ไม่รู้ มันเรื่องอะไร ผมก็ไม่รู้ แต่ว่า(เขา)คงได้รับคำตอบมาจากทางโน้นบอกว่า ยอมให้เข้า เมื่อยอมให้เข้าไปแล้ว ยอมหรือไม่ยอมก็ไม่มีใครเข้ามาห้ามผม ผมก็เดินไปตามคนเขานำ เมื่อเข้าไปถึงข้างในแล้วก็มีอาการแปลก แต่ผมก็มองดูเฉย ๆ เหมือนกับว่าไม่มีใครเขาสนใจ

เจ้าภาพเองเนี่ยให้เงินตั้งสิบล้านเป็นมูลนิธิแล้วบริจาคที่อีกนับราคาหลายล้าน และให้เงินอีกหลายล้านในการก่อสร้าง กำลังจะตอกเข็ม ทั้งพระ ทั้งเจ้าหน้าที่ในนั้นก็ไม่ได้สนใจ นี่ผมก็แปลก ไปเกือบจะหาที่นั่งจะไม่ได้

ต่อจากนั้นไปเรื่องมันก็เกิด โอละพ่อกันขึ้น เป็นอันว่าพระที่ ที่เจ้าภาพยกที่ให้ ตั้งท่า ตั้งท่าพิเศษ บอกว่าขอให้มาทำเงื่อนไขกันก่อน อันดับแรก เขาเชิญพวกเดียวกันมาประชุมต่อหน้าเจ้าคุณ (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ : ช่วง วรปุญฺโญ) แล้วก็เธอเชิญท่านเจ้าภาพ ท่านเจ้าของที่ผู้ให้เงินในการก่อสร้างนับล้าน และก็จะให้เงินเป็นมูลนิธิอีกสิบล้าน คืออาจารย์วรณี สุนทรเวช เข้าไปร่วมประชุมกันต่อหน้าแขกทั้งหมด

อันดับแรกเขาก็ยื่นเงื่อนไขว่า “ขอให้พระองค์นี้ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนี้” พูดกับท่านเจ้าคุณใหญ่ หรือว่าอาจารย์วรณี สุนทรเวช ผมก็แปลกใจว่า เอ๊ะ สำนักนี้เขาสอนพระกรรมฐานกันนี่ ทำไมอยากเป็นเจ้าอาวาส เป็นหรือไม่เป็นมันก็เป็นอยู่แล้ว อาจารย์วรณี สุนทรเวช ก็บอกไม่เป็นไร “ถ้าท่านต้องการเป็นเจ้าอาวาสก็สุดแล้วแต่ท่านเจ้าคุณใหญ่”

อีกองค์หนึ่งบอกว่า “ถ้าอย่างนั้นเมื่อตกลงแล้วก็ต้องให้อาตมาเป็นรองเจ้าอาวาส”

นี่ยื่นเงือนไขกันแปลก ๆ ความจริงอาการอย่างนี้ พระในพระพุทธศาสนาเขาไม่ทำกัน ผมก็นั่งดู อาจารย์วรณี สุนทรเวช ท่านก็ไม่คัดค้าน บอกว่า “ตามใจ วัดนี้ฉันถวายพระพุทธศาสนา ก็สุดแล้วแต่ท่านเจ้าคุณใหญ่” ถ้าหากว่าผมฟังไม่ผิดนะ นั่งไกล

...เป็นที่น่าแปลกใจว่า ท่านเจริญพระกรรมฐานกันยังไงทำไมถึงแบกกิเลสต้องการลาภต้องการยศกัน

แล้วผมก็ไปสงสารเจ้าภาพว่า เจ้าภาพทุ่มเทเนื้อที่ไป ผมเข้าใจว่าถึง 100 ไร่น่ะครับ ผมจำไม่ได้ เนื้อที่มากจริงๆ แล้วก็ทุ่มเทงานก่อสร้างเข้าไปเป็นล้านแล้ว แต่ทว่าพระที่ให้ไปอยู่ที่นั่น กลับเป็นฝ่ายยื่นโนติ๊ส จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ พอท่านบอกว่าต้องยอมให้องค์นั้นเป็นเจ้าอาวาส และต้องยอมให้องค์นี้เป็นรองเจ้าอาวาส อันนี้ผมอายชาวบ้านเขาเกือบตาย เพราะว่าชาวบ้านที่นั่งอยู่ที่นั้นนับร้อย

และก็อายแทนท่านเจ้าคุณใหญ่วัดปากน้ำภาษี เจริญ ที่ลูกศิษย์ของท่าน สามารถยื่นโนติ๊สกับท่านแบบนั้น

แล้วผลงานต่อไป ที่มันจะพึงเกิดขึ้นกับพระประเภทนั้น นั่นก็คือ เจ้าภาพจะทำการสร้างโบสถ์ราคาเป็นล้าน ช่างก็ไปแล้ว เข็มเขิมไปแล้วเสร็จ งานสร้างโบสถ์หลังนั้นถูกงด คือไม่มีการสร้างต่อไป เจ้าภาพท่านตัดสินใจว่า ส่วนใดที่เสีย เสียแล้วเสียไป แต่ของใหม่ไม่ให้ ก็คือบอกเลิกการก่อสร้างพระอุโบสถกับช่างแล้วในการต่อมาทราบว่าเงินมูลนิธิสิบล้าน ที่ท่านจะให้ ท่านก็ถอดใจไม่ยอมให้เสียเลย เอาเงินจำนวนนี้ไปก่อสร้างถาวรวัตถุใหม่ที่อื่น คือ เป็นศาลาการเปรียญที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ กับวัดอะไรอีกวัดหนึ่ง ที่เจ้าคุณวิเชียรไปเป็นเจ้าอาวาส

เป็นอันว่าเงินสิบล้าน ท่านเจ้าภาพก็ไม่ให้ ในการก่อสร้างต่อไปท่านเจ้าภาพท่านก็ไม่สร้าง แล้วเจ้าภาพก็ตัดญาติขาดมิตร กับพระคณะนั้นทั้งหมด ส่วนที่เสียไปแล้วกี่ล้าน บอกให้ผ่านไป

...และก็ควรจะสงสาร ท่านเจ้าของทรัพย์ว่า พระถมเถไป กรรมอะไรของท่านหนอ ที่ไปเจอะเอาพระจัญไร แบบนี้เข้า”


พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ

ผู้คนจำนวนมากศรัทธาในผู้นำวัดพระธรรมกาย โดยไม่รู้ว่ามีการสอนคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หรือมีการบิดเบือนคำสอนของพระองค์ ศรัทธาอาจเกิดจากความเชื่อในอำนาจพิเศษของผู้นำสำนัก หรือเห็นว่าคำสอนและการปฏิบัติของสำนักนี้ถูกกับจริตของตน รวมทั้งสอดคล้องหรือสามารถตอบสนองกิเลสของตนได้ (เช่น อยากร่ำรวย มีชื่อเสียง)

คำสอนของวัดพระธรรมกายที่ไม่ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา ที่สำคัญได้แก่คำสอนเกี่ยวกับบุญ เช่น ถวายเงินมากเท่าไร ก็ได้บุญเท่านั้น มีการกระตุ้นให้ถวายเงินมาก ๆ ยิ่งมากยิ่งดี จนถึงกับเชียร์ให้ทุ่มสุดตัว อาทิ “ปิดบัญชีทางโลก เพื่อเปิดบัญชีทางธรรม” ใครที่ถวายเงินมาก ๆ ก็จะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเจ้าสำนัก จนอาจได้รับโอกาส “อัดวิชาธรรมกาย”ให้

นอกจากนั้น ก็ได้แก่คำสอนเรื่อง “ธรรมกาย” ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากคำสอนในพระไตรปิฎก (ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าหรือจิตที่เข้าถึงโลกุตรธรรม) หรือการสอนว่า จะบรรลุธรรมก็ต่อเมื่อเห็นองค์พระ มิใช่เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอน

คำสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สอนคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการอวดอ้างเป็นการภายในว่า เจ้าสำนักเป็น “ต้นธาตุ ต้นธรรม” คือเหนือกว่าพระพุทธเจ้า โดยที่แนวคิดดังกล่าวก็หามีในพระไตรปิฎกไม่

หากวัดสอนผิดๆ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายของการสอนคืออะไร ถ้าหากสอนในลักษณะที่ไปกระตุ้นกิเลส ทำให้เกิดความหลง หรือเพื่อเป็นการไปปรนเปรอสนับสนุนวัดพระธรรมกาย แต่เกิดปัญหาต่อส่วนรวมนั้น ก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อน เช่น มีญาติโยมบางคนบริจาคเงินจนหมดเนื้อหมดตัว ทำให้เขาเดือดร้อน และถ้าหากเกิดขึ้นกับคนเป็นแสนเป็นล้าน ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่

นอกจากนั้นคำสอนของวัดพระธรรมกายยังทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าแปรผันไป หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดในพระพุทธศาสนาต่อเนื่องต่อไปเป็นเวลายาวนาน นี่คือเรื่องเสียหาย เพราะจะทำให้พระธรรมวินัยเลือนหายไปได้ง่าย

นอกจากนั้นการปฏิบัติผิดๆ การสอนให้ไปปรนเปรอกิเลส คิดว่าทุกอย่างเพื่อความร่ำรวย และเรื่องปาฏิหาริย์งมงาย นี่เองจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฎิบัติเองด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่ พระพุทธศาสนาโดยรวมอย่างเดียว

ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ รวมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย มีการนิมนต์มาร่วมงานสำคัญของวัด และให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอันมาก ดังนั้นพระผู้ใหญ่และกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกที่ดีต่อวัดพระธรรมกาย

กรณีวัดพระธรรมกายสะท้อนให้เห็นวิกฤตปัญหาของสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครอง และการศึกษาของคณะสงฆ์ รวมถึงวิกฤตในเรื่องของการเมืองการธรรม ที่ทำให้คนไปหลงเชื่อวัดพระธรรมกาย ทั้งที่สอนธรรมะคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากำลังเกิดขึ้น และเราควรแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้หมดไป



กำลังโหลดความคิดเห็น