เรื่องราวปัญหาของวัดพระธรรมกาย ที่อยู่ในกระแสข่าวปัจจุบันทั้งในเรื่องผลประโยชน์ การสร้างระบบบุญขายตรง ที่เน้นไปที่วัตถุเพื่อการเข้าสู่นิพพาน แทนที่จะเน้นคำสอนตามพระธรรมวินัย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ได้จากผลงานวิจัย ของท่าน ว.วชิรเมธี ที่ได้ทำการศึกษาและจัดทำขึ้นในหัวข้อ “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” ได้ตีแผ่ในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสะพรึงกลัว? นับตั้งแต่การเดินหน้าเผยแผ่คำสอนและพระไตรปิฎกในแบบฉบับธรรมกาย พร้อมด้วยกลยุทธ์การตลาดปูเสฉวนอันแยบยลและชาญฉลาด โดยมุ่งหวังเพื่อแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย
โดยผลงานวิทยานิพนธ์ดังกล่าวที่จัดทำขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี 2546 ในรูปแบบงานวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร ทั้งเอกสารชั้นปฐมภูมิ คือพระไตรปิฎกชุด 45 เล่มทั้งภาษาไทย บาลี คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาและปกรณ์วิเสสที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือกรณีธรรมกาย เป็นต้น และมีการค้นคว้าเอกสารชั้นทุติยภูมิ ได้แก่บทความ บทวิจารณ์ บทสัมภาษณ์ เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในการศึกษานั้น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง) หรือ ท่านว.วชิรเมธี พบว่าวัดพระธรรมกายทำให้พระธรรมวินัยวิปริต ยกเรื่องการทำบุญมาเป็นสินค้า นำเอาลัทธิทุนนิยมมาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดที่ดำเนินการของวัดจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทย และหากวัดพระธรรมกายกระทำการเผยแผ่และยึดครองได้สำเร็จตามความมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้ จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศไทยต้องสูญสิ้นได้
7 ข้อชี้ชัด “ธรรมกาย” สร้างธรรมวินัยวิปริต
สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในครั้งนี้นั้นได้นำบทคัดย่อวิทยานิพนธ์เรื่องหัวข้อ “บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” โดยท่าน ว.วชิรเมธี พบว่า จากการศึกษาบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เฉพาะกรณีธรรมกายเป็นหลัก และกรณีอื่นๆ มีกรณีสันติอโศก เป็นต้น เป็นองค์ประกอบทำให้ผู้วิจัยได้ข้อค้นพบที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญของงานวิจัยเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
1. กรณีธรรมกายหมายถึงชื่อเรียกโดยรวมเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น พฤติการณ์ทั้งหมดที่สำนักวัดพระธรรมกายเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้นนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปมี 2 ลักษณะเท่านั้น คือ การทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย
2. การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายก็คือ การทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ประมวลไว้ซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า, การพยายามปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนเองในพระไตรปิฎก, การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตนหรือแม้แต่นักวิชาการจากต่างประเทศให้มีฐานะสำคัญถึงขนาดที่ใช้ทัศนะของท่านเหล่านั้นขึ้นมาเพื่ออ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอย่างเรื่อง นิพพาน เป็นต้น การพยายามให้อรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่งและเมื่อทำบุญแล้วอานิสงส์ของบุญจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆได้อย่างปาฏิหาริย์
3. การประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลักได้แก่การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่มีความโดดเด่นอยู่ที่ระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารจัดการวัด การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งการระดมทุนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งการสร้างสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง และการศาสนาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุ ทุนทรัพย์ และในทางเกียรติคุณชื่อเสียง แต่วิธีการเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาเถรวาทที่เน้นความเรียบง่าย ความเป็นธรรมชาติที่ปราศจากการจัดตั้งหรือการจัดการ และไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม (รวมทั้งวัตถุนิยม) อย่างสิ้นเชิง
4. พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้น เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่สำนักตั้งเอาไว้ก็จะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้นอันตรธานไป และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาลเชื่อมั่นศรัทธาในเทพเจ้า ในสิ่งศักด์สิทธิ์ มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ และถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิที่ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงาย ไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้
5. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เห็นว่า การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตก็ดี การประพฤติให้วิปริตจากพระธรรมวินัยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสถาบันสงฆ์และต่อสังคมไทย ท่านจึงได้อุทิศตนออกมาทำหน้าที่ในการรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยการชี้แจงแสดงหลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาผ่านหนังสือชื่อ “กรณีธรรมกาย” และผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ
6.สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) สามารถดำเนินบทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เป็นเพราะท่านเจริญรอยตามพุทธจริยาและปฏิปทาของบุรพาจารย์ทั้งหลายแต่ปางก่อน และเพราะท่านประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญก็คือ การมีจิตสำนึกแห่งความเป็นชาวพุทธ การถือธรรมและถือประโยชน์สุขของมหาชนเป็นใหญ่ การเป็นภิกษุผู้เปี่ยมด้วยกตัญญุตาธรรมต่อพระพุทธศาสนา และการมีคุณสมบัติของชาวพุทธนั้นนำตามที่พระพุทธเจ้าทรงวางเอาไว้อย่างครบถ้วน
7.ในกรณีธรรมกายที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ทำบทบาทที่สำคัญ 2 ประการด้วยกัน บทบาทประการที่หนึ่งก็คือ การทำหน้าที่รักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม และบทบาทประการที่สองก็คือ การได้อุทิศตนเป็นแบบอย่างของชาวพุทธนั้นนำผู้มีศักยภาพพร้อมเต็มที่ที่จะทำหน้าที่รักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยให้ยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคตตราบนานเท่านาน บทบาททั้งสองประการนี้นอกจากจะช่วยให้กรณีธรรมกายคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีแล้วยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการรักษาพระธรรมวินัยแก่ชาวพุทธร่วมสมัยและแก่อนุชนในภายหลังได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าที่บูรพาจารย์ทั้งหลายเคยทำเอาไว้ในอดีตอีกด้วย
“ธรรมกาย” อันตรายต่อชาติ-ศาสนา?
ขณะเดียวกันการนำเสนอข่าวครั้งนี้ยังได้นำสาระสำคัญในบทที่ 4 ที่ระบุถึงวัดพระธรรมกายเป็นอันตรายต่อวงการสงฆ์และความมั่นคงของชาติ โดยงานวิจัยนั้นกล่าวถึงปัญหากรณีธรรมกาย ซึ่งสร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อ “พระธรรมวินัยและสถาบันสงฆ์” ตลอดจน “สังคมไทยและความมั่นคงของชาติ” ว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยโดยตรงและผลกระทบนั้นหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมตามวิธีการที่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมืองจากคณะสงฆ์และองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐบาล ดังเช่นกรณีธรรมกายก็อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างลึกซึ้งถึงขั้นรากฐาน
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) แสดงความห่วงใยเอาไว้ว่า “ปัญหาจึงร้ายแรงถึงขั้นที่อาจทำให้พุทธศาสนาดั้งเดิมที่รักษากันมาเป็นพันๆ ปี อาจจะถึงคราวสูญสิ้นลงให้ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ในคราวนี้”
ความร้ายแรงของปัญหากรณีธรรมกายที่กล่าวมานั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง ส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยโดยตรง และส่วนที่สอง คือ ปัญหาส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันสงฆ์และต่อสังคมไทย โดยสรุปสาระสำคัญของปัญหากรณีธรรมกายส่วนที่กระทบต่อพระธรรมวินัยเอาไว้ คือ วัดพระธรรมกายเผยแพร่คำสอนคลาดเคลื่อนไปจากหลักพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น
1. สอนคำว่านิพพานเป็นอัตตา
2. สอนเรื่องธรรมกายอย่างเป็นภาพมิติและให้มีธรรมกายที่เป็นตัวตน เป็นอัตตาของพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ไปรวมกันอยู่ในอายตนนิพพาน
3. สอนเรื่องอายตนนิพพาน ที่ปรุงถ้อยคำขึ้นมาเองใหม่ ให้เป็นดินแดนที่จะเข้าสมาธิไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ถึงกับมีพิธีถวายข้าวพระ ที่จะนำข้าวบูชาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานนั้น
คำสอนเหล่านี้ ทางสำนักพระธรรมกายสอนใหม่ ผิดเพี้ยนออกไปจากธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แต่แทนที่จะให้รู้กันตามตรงว่าเป็นหลักคำสอนและการปฏิบัติของครูอาจารย์ ทางวัดพระธรรมกายกลับพยายามนำเอาคำสอนใหม่ของตนเองเข้ามาปะปนหรือแทนที่หลักคำสอนเดิมที่แท้ของพระพุทธศาสนา
ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้สำเร็จวัตถุประสงค์ข้างต้น วัดพระธรรมกายยังได้เผยแพร่เอกสารที่จาบจ้วงพระธรรมวินัย ชักจูงให้คนเข้าใจผิด สับสน หรือแม้แต่หลบหลู่พระไตรปิฎกบาลีที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ให้เข้าใจว่าพระไตรปิฎกบาลี บันทึกคำสอนไว้ตกหล่น หรือมีฐานะเป็นเพียงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เชื่อถือ หรือใช้เป็นมาตรฐานไม่ได้
พระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท ถือว่าเป็นมาตรฐานแก่นคำสอนและการปฏิบัติทั้งหมดที่เรียกว่าเป็นพระพุทธศาสนา เป็นทั้ง “หลักการ” และเป็นทั้ง “หลักเกณฑ์” ของพระพุทธศาสนาของชาวพุทธทุกประเทศ จึงถือว่า การรักษาพระไตรปิฎกเป็นภารกิจสำคัญที่สุดและจะต้องรักษาเอาไว้ให้เหมือนเดิมที่สุด ไม่มีการดัดแปลงแต่งเติมใดๆทั้งสิ้น
งานวิจัยเล่มนี้ ยังนำเอกสารของสำนักวัดพระธรรมกาย ที่จงใจทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาท ด้วยการกล่าวหาว่า
(1) พระไตรปิฎกของเถรวาทบันทึกพระธรรมวินัยไว้ตกๆ หล่นๆ
(2) หลักการสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เช่นเรื่องนิพพาน ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่มีความชัดเจน หรือเป็นเรื่องระดับความคิดเห็น ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายจะว่าอย่างไรก็ได้
(3) ลำพังพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทนั้นไม่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะใช้วินิจฉัยหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาได้ เพราะฉะนั้นจึงควรนำคัมภีร์อื่นๆ มาวินิจฉัยหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทด้วย
(4) หลังจากทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎกบาลีของเถรวาทเสร็จแล้ว ผู้เขียนเอกสารของสำนักวัดพระธรรมกายจึงนำเสนอพระไตรปิฎกของตนเองซึ่ง (สำนักวัดพระธรรมกายมีความเชื่อว่า) มีความเป็นสากลมากกว่า น่าเชื่อถือมากกว่าธรรมกาย เปลี่ยนความหมายของบุญ
นอกจากนั้นยังนำคำว่า “บุญ” มาใช้ในลักษณะที่ชักจูงประชาชนให้วนเวียนจมอยู่กับการบริจาคทรัพย์ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ชนิดที่ส่งเสริมความยึดติดถือมั่นในตัวตนและในตัวบุคคล อันอาจกลายเป็นแนวโน้มที่บั่นทอนสังคมไทยในระยะยาว พร้อมทั้งทำพระธรรมวินัยให้รางเลือนไปด้วย พฤติการณ์ของสำนักวัดพระธรรมกายอย่างนี้ เป็นการจาบจ้วง ลบหลู่ ย่ำยีพระธรรมวินัย สร้างความสับสนไขว้เขวและความหลงผิดแก่ประชาชน
จากเรื่องการทำบุญ มีความหมายแต่เดิมว่าเป็นเครื่องชำระ สิ่งที่ทำให้สะอาด หรือคุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ ที่ทำให้เกิดภาวะที่น่าบูชา คือควรยกย่องนับถือ นั่นคือ ความหมายและความสำคัญของบุญที่รับรู้กันในหมู่ชาวพุทธโดยทั่วไปเป็นเช่นที่กล่าวมา
แต่ต่อมาเมื่อวัดพระธรรมกายถือกำเนิดขึ้น และค่อยๆ สร้างสรรค์พัฒนาสำนักมาโดยลำดับด้วยกระบวนการและวิธีการต่างๆ จนกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้านแล้ว วัดพระธรรมกายก็นำเอาคำว่า “บุญ” นี้มาปรับใช้เพื่อสนองวัตถุประสงค์บางประการของสำนักจนเป็นเหตุให้ความหมายของคำว่า “บุญ” และในฐานะของบุญในระบบพุทธธรรมเปลี่ยนแปลงไปพร้อมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมไทยและต่อสถาบันสงฆ์อย่างลึกซึ้งถึงขั้นรากฐานและเป็นที่มาของการตรวจสอบวัดพระธรรมกายครั้งใหญ่ที่สุดด้วย
สำนักพระธรรมกาย ได้นำคำว่า “บุญ” มาใช้ในความหมายใหม่ นั่นคือ ให้บุญมีสภาพเป็นดุจ “สินค้า” (Product) ที่นำมา “ซื้อ-ขาย” ผ่านกลไกการตลาดได้หลักฐานที่แสดงว่า สำนักฯ ได้นำเอาคำว่า “บุญ” มาใช้ในความหมายที่เป็น “สินค้า” นี้ก็คือคำให้สัมภาษณ์ของหลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ระบุว่า “พุทธ” ศาสนามีหลักธรรมที่เป็นอมตะมากมาย ถ้าเทียบเป็นสินค้า ก็ต้องว่าสินค้าเรายอดเยี่ยมด้วยคุณภาพ แต่ปัจจุบันนี้มาร์เกตติ้งไม่ดี
ในปี 2529 มูลนิธิธรรมกายได้แปรปรัชญาการตลาดนี้ไปสู่รูปธรรมที่สัมผัสได้ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยส่งพิมพ์เขียวแผนการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ “สินค้า” ดังกล่าวเข้าร่วมประกวดใน “โครงการสุดยอดแผนการตลาด” ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 19 สุดยอดแผนการตลาดแห่งปีอีกด้วย
นับว่าปรากฏการณ์นี้ถือเป็นก้าวแรกของกระบวนการที่สำนักพระธรรมกายออกมายืนยันอย่างชัดเจนว่า ตั้งใจที่จะแปรความหมายคำว่า “บุญ” ให้กลายสถานภาพมาเป็น “สินค้า” อย่างเป็นทางการ ซึ่งมูลนิธิธรรมกายยังได้แสดงถึงสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการตอกย้ำจุดยืนเดียวกันนี้อีกหลายอย่าง เช่นปรัชญาการตลาดที่ระบุไว้ในหน้าแรกของแผนการตลาดมูลนิธิว่า “ พระพุทธศาสนา เป็นสินค้าคุณภาพเลิศที่ขายไม่ดี เพราะขาดแผนการตลาดที่ดี”
ใช้กลยุทธ์ตลาดสร้างบุญ
เมื่อสำนักพระธรรมกายมั่นใจว่าแผนการตลาดของตนสามารถ “ขายได้” ในโลกแห่งการทำธุรกิจ จึงได้ใช้การจัดการ (management) บวกการตลาด (Marketing) นำหน้า โดยเริ่มนำ “สินค้า” คือ “บุญ” เข้าสู่กระบวนการตลาดทันที โดยมีขั้นตอนการแปรรูปสินค้า นับตั้งแต่การทำให้ผู้บริโภค “เข้าถึง” สินค้าได้อย่างรวดเร็วและสะดวก โดยในตอนเช้าของทุกๆ วันอาทิตย์ จัดให้มีรถบริการรับส่งผู้สนใจไปทำบุญกับวัดนี้ฟรี โดยมีรถจอดรอตามสถานที่สำคัญในเมืองไม่น้อยกว่า 20 คัน
นอกจากนั้นยังนำหัวใจของแผนการตลาดที่ให้ความสำคัญกับ 3 P คือ
Place สถานที่ วัดพระธรรมกายได้จัดวางแผนผังของวัดเอาไว้อย่างสวยงาม อาทิ สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก มีทั้งโรงพยาบาลสนามขนาดย่อมสำหรับให้บริการผู้ป่วยที่มาร่วมกิจกรรมของวัด
Product สินค้า คือ ใช้กลยุทธ์การตลาดมาพัฒนาสินค้าคือบุญให้มีความหลากหลาย เหมือนห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้ามากมายให้เลือก เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสเลือกได้มากกว่าหนึ่ง วิธีนี้จะชวนให้ผู้มีศรัทธาเลือกทำบุญ ตามกองบุญหลากหลายประเภทที่วัดพระธรรมกายตั้งขึ้นมา อาทิ กองบุญภัตตาหาร กองบุญธุดงค์
และ Promotion คือ การส่งเสริมการขาย มาประยุกต์ใช้ในการระดมทุนมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของคนที่มีความศรัทธากับวัดพระธรรมกาย และขยายฐานกลุ่มคนใหม่ๆ โดยได้จัดกลุ่มกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในกิจการบอกบุญ เพื่อมาเป็นแกนนำในการบอกบุญหรือระดมทุนให้กับวัดพระธรรมกาย
กลยุทธ์การตลาดที่วัดพระธรรมกายนำมาใช้กับคำว่า “บุญ” นับว่าเป็นวิธีการที่ทำให้บุญกลายเป็นรูปธรรม เป็นสินค้าที่สัมผัสจับต้องได้ ซึ่งแตกต่างจากความหมายเดิมของพุทธศาสนาเถรวาทที่ว่า “บุญ” คือ เครื่องชำระจิตให้บริสุทธิ์บ้าง เป็นความ “สุข” ซึ่งยังเป็นนามธรรม
นอกจากนั้นยังอธิบายอานิสงส์ของบุญให้เป็นรูปธรรม เช่น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ทำบุญเห็นถึงอานิสงส์ของการทำบุญชนิดที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากทำบุญที่ได้ผลน่าพอใจ สอดคล้องกับหลักการตลาดที่ใช้การโฆษณาที่เน้นความถี่มาก ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการสินค้า
พระธรรมวินัยผิดเพี้ยนอันตรายสุดๆ
นอกจากนี้งานวิจัยเล่มนี้ยังกล่าวถึงทรรศนะของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)) ที่เห็นว่า ปัญหากรณีธรรมกายที่เกิดขึ้นจากสำนักวัดพระธรรมกายเป็นต้นเหตุส่งผลกระทบต่อพระธรรมวินัยโดยตรง
นั่นเพราะพระสงฆ์ไทยที่บวชในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาททั้งหมด ทั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และฝ่ายมหานิกายนั้น จะต้องยึดพระวินัยตามพระไตรปิฎกบาลีไว้ และรักษาพระวินัยแบบแผนคำสอนหลักการเดิมไว้อย่างแม่นยำที่สุด เพราะพระวินัยที่พระรักษานั้นป้องกันไว้อย่างรัดกุมที่สุด ไม่มีทางคลาดเคลื่อนไปได้ และสภาพสับสนและเหตุการณ์แปลกๆ จะไม่เกิดขึ้น
ไม่เช่นนั้น อาจนำไปสู่สถานการณ์เดียวกับประเทศญี่ปุ่น ที่มีการแบ่งพระพุทธศาสนามหายานออกเป็น 5 นิกายใหญ่ ซึ่งมีการสอนและปฏิบัติแตกต่างกันออกไป และยังได้แยกนิกายย่อยเป็นร้อยๆ นิกาย
ความที่มีการแบ่งแยกการสอนและการปฏิบัตินั้น ปรากฏว่าสิ่งที่พระมหายานของญี่ปุ่นทุกนิกาย “ไม่สามารถรักษาไว้ได้” คือ เพศพรหมจรรย์ นิกายเซนที่ว่ารักษาไว้ด้วยดีมานาน ปัจจุบันนี้ตัวอาจารย์เจ้าสำนักก็มีครอบครัวกันไปนอกจากนั้นพระญี่ปุ่นอย่างนิกายชิน นอกจากมีครอบครัวแล้วยังทำธุรกิจเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของกิจการการค้าพาณิชย์ต่างๆ ขณะที่นิกายนิจิเรน ยังได้ตั้งพรรคการเมืองโกเมโตขึ้นเมื่อปี 2507 อีกด้วย
ในอนาคตข้างหน้า หากว่าพระสงฆ์ไทยรักษาความเป็น “พระภิกษุแบบเถรวาท” ไว้ไม่ได้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พระอาจมีครอบครัว หรือ ทำธุรกิจอุตสาหกรรม หรือทำการค้าพาณิชย์เป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของกิจการค้าขาย ตลอดจนมีอำนาจทางการเมือง อย่างที่เคยเป็นในประเทศญี่ปุ่นหรือในประเทศอื่นๆ ก็ได้
“ในด้านหลักการทางธรรม ถ้าเอาพระไตรปิฎกฉบับอื่นๆ มาอ้างกันสับสนต่อไปก็อาจจะมีภิกษุบางรูปพูดว่า เอ๊ะ! ในประเทศญี่ปุ่นนั้นบางนิกายเขามีสูตรอื่นๆ ที่เราไม่มี เช่น สุขาวดียูหสูตรที่เป็นหลักสำคัญของนิกายโจโต และนิกายชิน ซึ่งเป็นนิกายที่นักบวชมีบุตรและภรรยา และทำกิจการธุรกิจอุตสาหกรรมตามที่กล่าวมาแล้ว”
ดันกลยุทธ์ปูเสฉวนยึดสถาบันสงฆ์
ในทรรศนะของท่าน ว.วชิรเมธี กล่าวไว้ในงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ข้อสังเกตของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ต่อปัญหาที่สำนักวัดพระธรรมกายอาจก่อให้เกิดขึ้นกับสถาบันสงฆ์ไทย พิสูจน์ได้จากที่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่สำนักวัดพระธรรมกายสร้างขึ้น ก็ได้ค้นพบข้อเท็จจริง
จากรายงานของคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐสภา กล่าวว่า วัดพระธรรมกายใช้กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการเข้าแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “กลยุทธ์ปูเสฉวน” เพราะปูเสฉวนอาศัยอยู่ในเปลือกหอย แต่ตัวเป็นปูไม่ใช่หอย อาศัยคราบเปลือกหอยกำบังธาตุแท้เพื่อลวงโลกแล้วเข้ามาใกล้หอย โดยหอยไม่สำเหนียกถึงอันตรายจนปูเสฉวนออกมาจากเปลือกแล้วกินเนื้อหอย หอยก็ยังไม่รู้สึกตัวจนตัวตาย แล้วปูเสฉวนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมก็เข้ามายึดเปลือกหอยที่ดีกว่า สวยกว่าเดิม เพื่อลวงโลกได้อย่างแนบเนียนยิ่งขึ้น
นับว่าวัดพระธรรมกายได้ใช้กลยุทธ์ปูเสฉวน เพราะวัดพระธรรมกายเป็นลัทธิแปลกปลอม ไม่ใช่พุทธศาสนาเถรวาทแท้ของคณะสงฆ์ไทย แต่ผู้บริหารวัดฯ โดยเฉพาะ พระธัมมชโย พระทัตตชีโว และพระในคณะผู้บริหารวัดประมาณ 10 รูป ได้วางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างชาญฉลาด เป็นนักฉวยโอกาสชั้นสุดยอด รู้จักใช้บุคคลชั้นนำทั้งทางศาสนจักร และอาณาจักร สถานการณ์ ช่วงจังหวะเวลาในการแฝงตัว กำบังตัว คืบคลานเข้ามาแทรกแซงและยึดครองคณะสงฆ์ไทยไปตามลำดับ โดยอาศัยฐานการเงินและคนที่หลอกล่อ ฉ้อฉล มาจากทุนทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทย คือ การศรัทธาอันสูงสุดต่อพระพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในสายเลือดของชาวพุทธไทยแทบทุกคน
เมื่อมีเงินและคนที่เป็นเป้าหมายได้ระดับหนึ่งแล้วก็ใช้การเอาใจ ยกยอ ให้เกียรติพระเถระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น พร้อมทั้งถวายปัจจัยจำนวนมากทั้งเงิน รถยนต์ ยี่ห้อหรูราคาแพง ฯลฯ ให้แก่พระเถระชั้นนำที่วัดพระธรรมกายจะติดต่อเข้าหาเพื่อใช้ประโยชน์ มากน้อยผันแปรไปตามความสำคัญของระดับชั้นพระเถระนั้นๆ และตามงานที่วัดจะยกและยอพระเถระนั้นๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตน
บางครั้งถวายเงินจำนวนมากถึงหกหลักเจ็ดหลักต่อการนิมนต์เพียงครั้งเดียว และพระเถระที่วัดพระธรรมกายยกและยอไปไม่เคยมีบทบาทที่เข้าถึงสาระของงานได้เลย เป็นได้เพียงเจว็ดหรือยันต์กันภัยเท่านั้น
ในเวลาเดียวกันนั้นพระธรรมกายก็พยายามชักจูงพระเณรที่มีความรู้เปรียญธรรมสูงๆ ให้มาอยู่วัดด้วยการใช้เงินจำนวนมากกระทำทุกวิธีการและใช้การปลูกฝังลัทธิวิชาธรรมกายในหมู่เยาวชน เพื่อนำไปสู่การบวชเป็นพระเณรของวัด จนทำให้วัดพระธรรมกายในขณะนี้มีพระเณรมากที่สุดในประเทศไทย และสามารถสอบเปรียญธรรม 9 ประโยค ได้ชนะทุกวัดของประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว เรียกได้ว่า วัดพระธรรมกายจะอาศัยฐานเหล่านี้เพื่อ “คิดการใหญ่” ตามแผนการที่วัดประกาศไว้อย่างชัดเจนในโครงการ “Dhammakaya World” โดยมุ่งให้วัดพระธรรมกายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ชาวพุทธทุกคนทั่วโลกต้องมาจาริกบุญที่วัดพระธรรมกายอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ลัทธิธรรมกายส่งผลกระทบต่อสังคมไทย 5 เรื่อง
ขณะเดียวกันในการศึกษาเอกสารเพื่อพระธรรมวินัย ชื่อ “กรณีธรรมกาย” ตลอดทั้งเล่มแล้ว ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ข้อสรุปว่า “กรณีธรรมกาย” จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในด้านต่างๆ ครอบคลุมถึง 5 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้คือ
ข้อแรก ผลกระทบต่อสังคมไทย ปัญหากรณีธรรมกายเฉพาะส่วนที่ส่งผลต่อสังคมไทย นอกจากเป็นเรื่องละเมิดจริยธรรมทางวิชาการและประทุษร้ายทางปัญญาต่อเพื่อนมนุษย์แล้ว ยังเป็นปัญหาทางศาสนาที่มีผลร้ายแรงอย่างครอบคลุม อาทิ ปัญหานี้ส่งผลออกมาสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง คือ กลายเป็นวิถีชีวิตของคน ตลอดจนเป็นเรื่องของมวลชน หรือหมู่คนจำนวนมาก หรือกระทบต่อสังคมนั้นๆ ทั้งหมด
ยกตัวอย่างเช่น การบิดเบือนหลักการให้แปรจากการรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์กลายเป็นความลุ่มหลงหมกหมุ่นในอิทธิปฏิหาริย์นั้น อาจนำไปสู่สภาพจิตใจแบบหวังพึ่ง ค่านิยมรอผลดลบันดาล ความอ่อนแอไม้รู้จักพัฒนาตน เป็นต้น
ข้อที่สอง หลักการพระธรรมวินัยเกิดความคลาดเคลื่อน หรือผิดเพี้ยนออกไปจากหลักการเดิมแท้ของพุทธศาสนา และสถาบันสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์จะมีวิถีชีวิตเหมือนกับพระมหายานในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถประกอบธุรกิจ ทำการค้าพาณิชย์ได้ด้วยตนเอง หรือมีครอบครัวได้ เป็นต้น
ข้อที่สาม ผลกระทบต่อระบบการพัฒนา คือ ชาวพุทธไทยจะไม่สนใจกระบวนการพัฒนาตนตามแนวไตรสิกขา แต่หันไปเน้นการพัฒนาชีวิตด้วยการหวังผลดลบันดาล การพึ่งอำนาจสิ่งลึกลับ หรือปาฎิหาริย์ต่างๆ ที่ทางสำนักวัดพระธรรมกายชี้ชวนชักนำให้คล้อยตาม เช่น การเชื่อในอานุภาพของบุญชนิด “ทันตาเห็น” หรือการวัดคุณค่าของบุญด้วยการประสบความสำเร็จเชิงรูปธรรม คือ มี เงิน มีบ้าน มีรถ มีวัตถุบริโภคพรั่งพร้อม เป็นต้น
ข้อที่สี่ ผลกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ของคฤหัสถ์กับบรรพชิต คือ เป็นไปได้ว่าคฤหัสถ์กับบรรพชิตจะมีความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กันมากขึ้น เพราะกระบวนการทำบุญตามแนวสำนักวัดพระธรรมกายเน้น “เงิน” เป็นเหตุให้คฤหัสถ์ต้องหาเงินมาทำบุญกับพระสงฆ์ จึงมุ่งแต่จะชักชวนให้คฤหัสถ์ระดมทุนให้ได้มากที่สุด ในที่สุดความสัมพันธ์แบบ “พระสงฆ์ให้ธรรม คฤหัสถ์ให้อามิสก็จะหายไป” จะกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์เข้ามาแทนที่
ข้อที่ห้า ผลกระทบต่อวัดและชุมชน คือ การที่สำนักวัดพระธรรมกายระดมคนไปทำบุญกับสำนักของตนจำนวนมาก เป็นการดูดเอาพระสงฆ์และชาวบ้านออกไปจากชุมชนของตน แล้วไปรวมกันทำบุญอยู่ที่เดียว ผลก็คือ พระสงฆ์ก็ทิ้งวัด คฤหัสถ์ก็ทิ้งชุมชน วัดเดิมในท้องถิ่นของตนก็ถูกละเลย พระสงฆ์และคฤหัสถ์จึงมองความสำคัญของวัดเดิมในชุมชนของตน ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้ชุมชนอ่อนแอ วัดก็สูญเสียความเป็นศูนย์กลางทางปัญญาและศูนย์กลางของชุมชนไป
ในทัศนะของท่าน ว. เห็นว่าผลกระทบทั้ง 5 ประการนี้ นับว่าผลกระทบทางปัญญาของประชาชนสำคัญที่สุด เพราะเมื่อประชาชนเชื่ออย่างไร ก็จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนไปตามหลักความเชื่อนั้น
เพราะการเปลี่ยนระบบความเชื่อของประชาชน ก็คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือทิฐิของสังคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกทัศน์ หรือวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมของสังคมไทยทั้งหมด ถ้าการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์นั้นเป็นสิ่งที่ดี ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม
แต่สิ่งที่สำนักวัดพระธรรมกายกำลังชี้ชวนให้ประชาชนเชื่อถือ คล้อยตามไปด้วยนั้น ไม่ใช่หลักความเชื่อ ไม่ใช่หลักธรรมคำสอนที่แท้ของพระพุทธศาสนา ไม่ใช่กระบวนทัศน์ที่ควรชื่นชม แท้จริงแล้วผู้วิจัยเห็นว่าเป็น “สัทธรรมปฏิรูป” คือ การประยุกต์ธรรมเพื่อหวังผลประโยชน์เป็นเงิน เป็นความมั่งคั่ง และเพื่อความมั่นคงของสำนักตนเท่านั้น
สิ่งที่สำนักวัดพระธรรมกายกำลังเผยแพร่อยู่นั้น เป็นคำสอนนอกธรรมแนวทางของพระพุทธศาสนา
“คำสอนและการปฏิบัติของสำนักธรรมกายผิดแผกแตกต่างออกไปเป็นอันมากจากพระพุทธศาสนาเถรวาท ข้อที่สำคัญมาก คือ ความผิดเพี้ยนนั้นเกี่ยวด้วยหลักการใหญ่ที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ดังเรื่องที่พิจารณากันมา คือ เรื่องนิพพานเป็นอัตตา หรือ อนัตตา เรื่องธรรมกาย และเรื่องอายตนนิพพาน ซึ่งในที่สุดก็โยงเป็นเรื่องเดียวกัน คือ เป็นเรื่องของนิพพาน คำสอนและข้อปฏิบัติที่สำคัญๆ ของสำนักพระธรรมกาย
นอกจากจะไม่มีอยู่ในคำสอนเดิมของพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังขัดแย้งกันอย่างมากกับหลักการเดิมที่ถือว่าเป็นมาตรฐานของพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้นด้วย”
ในอีกทางหนึ่ง คือ เป็นการนำเอาถ้อยคำในพระพุทธศาสนาเถรวาทไปใช้ แล้วกำหนดความหมายและวิธีปฏิบัติขึ้นเองใหม่เป็นระบบของตนเองต่างหาก
การประทุษร้ายผลประโยชน์ทางปัญญาของประชาชน เป็นสิ่งที่ก่อผลเสียหายได้กว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งในด้านเทศะ คือ อาจแพร่หลายไปยังสังคมอื่น ประเทศอื่น หรือทั่วโลก และในด้านกาละ คือ อาจเป็นการสร้างความสับสน ความหลงผิดให้แก่ประชาชนอย่างยาวนาน ซึ่งจะมีผลสะท้อนกลับมาเป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนประการต่างๆ มากมาย
อย่างไรก็ดี ท่าน ว.วชิรเมธี ยังได้เสนอให้มีการทำวิจัยในหัวข้ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากข้อค้นพบใหม่จากงานวิจัย“บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย” นี้ ดังตัวอย่างเช่น ศึกษาเปรียบเทียบแนวคำสอนเรื่องนิพพานในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับนิพพานของสำนักวัดพระธรรมกาย, ศึกษาเปรียบเทียบคำสอนเรื่องธรรมกายของพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จันทสโร) กับธรรมกายที่สำนักวัดพระธรรมกายพัฒนาขึ้นมาใหม่ชั้นหลัง และศึกษากระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ของสำนักวัดพระธรรมกายกับนักธุรกิจ สถาบันการเงิน นักการเมือง และพระเถระในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ไทย เป็นต้น
สนใจ…..อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มได้ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย!