xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“บิ๊กตู่” โปรดฟังอีกครั้ง กรุณาล้างสต๊อกเน่า ดันราคาข้าวใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต่อลมหายใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไปกับมาตรการจำนำยุ้งฉางเพื่อพยุงราคาข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังทะลักออกมา แต่ก็อย่างว่าราคาข้าวจะขึ้นหรือลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีเหตุปัจจัยหลายอย่างทั้งราคาตลาดโลกตกต่ำ สต๊อกข้าวทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น

มิหนำซ้ำยังมีปัญหาสต๊อกข้าวคงค้างจากสมัย รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อีกร่วมสิบล้านตันที่ยังล้างไม่หมดมากดดันราคาในเชิงจิตวิทยาอีกต่างหาก

นี่ยังไม่นับว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกตกต่ำลงอย่างมากและลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา รวมทั้งน้ำมันดิบ ก็ลดต่ำลงกว่าครึ่งต่อครึ่ง ขณะเดียวกัน ปริมาณการบริโภคข้าวของทั่วโลกก็ลดต่ำลงลง

เรียกว่าแทบทุกปัจจัยทุกเงื่อนไขเป็นตัวแปรฉุดลงหมด เว้นแต่สต๊อกข้าวที่เป็นมรดกบาปมาจากสมัย “หญิงปู” ที่รัฐบาล “ลุงตู่” พยายามโละสต๊อกให้ลดต่ำให้เหลือน้อยที่สุดแต่ยังเหลืออยู่บานเบอะ

สต๊อกข้าวที่คงค้างกลายเป็นแรงกดดันในเชิงจิตวิทยา เพราะพ่อค้าก็รอดูอยู่ว่ายังมีข้าวในมือรัฐบาลที่รอระบายในราคาถูกมากดดันตลาด และไม่ใช่แค่สต๊อกข้าวของไทยเท่านั้น ทั้งโลกก็มีสต๊อกอยู่ล้นเหลือทั้งสิ้น สถานการณ์เยี่ยงนี้ จึงยังไม่มีความแน่นอนว่าราคาข้าวในอนาคตจะขยับขึ้นหรือลง

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สต๊อกข้าวนับสิบล้านตัน รัฐบาลต้องหาทางจัดการให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ย่ำแย่ไปกว่านี้ และอีกอย่างอย่าลืมว่า ยิ่งสต๊อกนานยิ่งขาดทุนเพราะคุณภาพข้าวเสื่อมลงทุกวัน ราคาก็ต่ำลง และถ่วงตลาดข้าว ดังเช่นที่ นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ชี้ว่า การระบายข้าวที่ทำได้เชื่องช้ามาก ส่งผลกระทบไม่เพียงเฉพาะเรื่องงบประมาณของรัฐ แต่ยังส่งผลต่อตลาดข้าวต่อเนื่องมาหลายปี แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังเป็นตัวถ่วงในตลาดข้าว

ระดับบิ๊กของแบงก์กรุงเทพ นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แนะแนวทางเรื่องการแก้ไขปัญหาสต๊อกข้าวของรัฐบาลด้วยการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และแบ่งประเภทข้าวเก่า-ข้าวใหม่ให้เกิดความชัดเจน และระบายสต๊อกให้หมดโดยเร็ว จากนั้นเมื่อมีข้าวใหม่เข้าสู่ตลาด ระดับราคาจะเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด สะท้อนความเป็นจริง

ถ้าหากรัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ สามารถเร่งระบายสต๊อกข้าวออกไปหมดก่อนจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ สถานการณ์ก็อาจจะดีกว่านี้ แต่ก็อย่างว่า ผู้รับผิดชอบหลักคือ ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเพิ่งเจอพิษโครงการจำนำข้าวกันระนาว ก็เลยหวาดๆ ขอเลือกหนทางช้าแต่ชัวร์ดีกว่า ทำให้การระบายข้าวในสต๊อกซึ่งตั้งเป้าจะเอาให้เกลี้ยงในสิ้นปีนี้ต้องลากยาวไปถึงกลางปีหน้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วจะระบายออกไปหมดหรือไม่ ขณะที่ข้าวใหม่ก็จ่อคิวเข้าโกดังอีกพะเรอเกวียน

มองในภาพรวมของปัญหาสต๊อกข้าวที่ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องมาตามล้างตามเช็ดขี้เช็ดเหยี่ยวของรัฐบาลทักษิณต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหญิงปู อยู่ในเวลานี้กันก่อน

ตามผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ และดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร ที่วิจัยเรื่องโครงการระบายข้าวในคลังของรัฐ ได้ฉายภาพถึงสต๊อกข้าวจากรัฐบาลก่อนๆ เคยมีอยู่น้อยมาก แต่พอมาถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สต๊อกข้าวมีเพิ่มมากขึ้น ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหญิงปู ที่มีนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด ทำให้เกษตรกรนำข้าวมาจำนำกับรัฐมากถึง 34.5 ล้านตัน แต่รัฐบาลขายข้าวได้เพียง 18.07 ล้านตัน ที่เหลือค้างสต๊อก

เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สั่งตรวจสอบสต๊อกข้าว ตามบัญชีข้าว ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามีปริมาณข้าวสารค้างสต๊อกอยู่18.07 ล้านตัน แต่เนื่องจากมีข้าวในสต๊อกหาย, ไม่ได้ส่งเข้าโกดัง, ข้าวไม่ได้ออกรหัสประมาณ 0.67 ล้านตัน และข้าวที่ทำสัญญาขายล่วงหน้า 0.75 ล้านตัน จึงเหลือข้าวสารจริง 17.28 ล้านตัน ในจำนวนนี้มีข้าวเกรดซี ข้าวผิดชนิด ข้าวเสีย กองล้ม ประมาณ 5.84 ล้านตัน จากนั้นรัฐบาลได้เร่งระบายข้าวออก แต่ก็สามารถระบายออกไปได้เพียง 7.5 ล้านตัน ณ วันที่ 23 มิถุนายน2559 รัฐบาลยังเหลือข้าวสารเหลือในสต๊อก 9.7 ล้านตัน กระทั่งถึงวันนี้

สต๊อกข้าวที่เหลือ แยกคุณภาพข้าวตามที่ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แจกแจงก็คือ ข้าวในสต๊อกที่เหลือเป็นข้าวเกรดดี คือ P, A และ B ประมาณ 3 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะเป็นข้าวเกรด C ประมาณ5 - 6 ล้านตัน โดยแยกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถระบายออกไปสู่อุตสาหกรรม อาหารคนและสัตว์ได้ มีปริมาณในสต๊อกกว่า 2 ล้านตัน และ อีก 3 ล้านตัน จะเป็นข้าวเกรด C ที่มีข้าวเสียปน ที่จะต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมอื่นๆ เท่านั้น

ข้าวในสต๊อกเหล่านี้ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเป็นภาระ โดยรัฐบาลมีต้นทุนในการเก็บรักษาข้าวรวมค่าดอกเบี้ย ตกประมาณตันละ 1,570 บาท/ปี หรือรวมแล้วปีๆ หนึ่งใช้เงินนับหมื่นล้านบาทเลยทีเดียวในการเก็บรักษาข้าว ดังนั้น การระบายข้าวยิ่งเร็ว ยิ่งขาดทุนน้อย แต่การระบายข้าวเร็วจะมีข้าวจำนวนมากไหลเข้าสู่ตลาด ทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลง

แนวทางที่ควรทำคือ การระบายข้าวบ่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ จะขาดทุนน้อยกว่าการขายเป็นช่วงๆ และลดการเก็งกำไรได้ ส่วนการขายข้าวคุณภาพต่ำ ในราคาถูก เพื่อจะไปทำเอทานอลหรืออาหารสัตว์ จะทำให้รัฐบาลขาดทุนมากแต่ก็ยังคุ้มกว่าการเก็บข้าวไว้ในสต๊อกเพราะข้าวจะเสื่อมคุณภาพมากขึ้น และมีภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา

ต้องไม่ลืมว่า การนำเข้าข้าวเก็บในโกดังนั้นมีปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาด้านคุณภาพและข้าวผิดชนิด การดูแลรักษาที่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการจัดทำบัญชีและฐานข้อมูล ปริมาณ ชนิด คุณภาพรวมทั้งผังโกดังและผังการกองข้าวที่ถูกต้องเป็นฐานข้อมูลอิเลคทรอนิกส์ที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ โดยพื้นฐานแล้วข้าวในสต๊อกจึงมีความไม่ชัดเจนอยู่เป็นทุนเดิม

เมื่อไม่มีความชัดเจนและตรวจสอบไม่ได้แน่ชัด นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ได้เสนอให้รัฐบาลตรวจสต๊อกข้าวอีกครั้งก่อนเร่งระบาย โดยเฉพาะข้าวเกรดซีเนื่องจากต้องขายแบบขาดทุนซึ่งจะทำให้ถูกโจมตีเรื่องราคาและถ้านำไปเผาเป็นชีวมวลก็จะถูกโจมตีเรื่องทำลายทรัพย์สินของแผ่นดิน กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีก

ขณะที่นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอเสนอให้เร่งระบายข้าวในสต๊อกอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนเพื่อขายข้าวในสต๊อกให้หมดโดยเร็วที่สุด กระทรวงพาณิชย์ กลับกำลังตั้งท่าเสนอให้ชะลอระบายข้าวในสต๊อกออกไปก่อน

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังเตรียมจะเสนอให้ชะลอการระบายข้าวในสต๊อกที่มีเกือบ 9 ล้านตัน ต่อ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการระบายข้าวที่ไม่กระทบต่อตลาด ข้อเสนอดังกล่าวนี้ รัฐบาลลุงตู่ ต้องชัดเจนว่าลากถ่วงตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอมาต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะข้าวเกรดซี ที่ค้างโกดังอยู่นานหลายปีแล้ว และการระบายข้าวส่วนนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวใหม่ที่จะออกมาเพราะเป็นคนละส่วนคนละตลาดกัน

ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ เสนอแนะว่า การระบายข้าว นอกจากจะต้องทำให้เร็วแล้ว รัฐบาลควรปรับรูปแบบการขายข้าวให้มีทั้งแบบยกโกดัง และแยกกองในกรณีที่ขนข้าวแต่ละกองได้ และหากไม่จำเป็นรัฐบาลไม่ควรขายข้าวทั้งโกดังในราคาเกรดอาหารสัตว์หรือเกรดที่ใช้ทำเอทานอลเพราะจะทำให้ขาดทุนมาก ยกเว้นจะมีการตรวจสอบอย่างชัดเจนว่าข้าวทุกกองในโกดังที่จะขายเป็นข้าวเกรดซี ที่ต่ำกว่ามาตรฐานการบริโภคมากหรือเป็นข้าวเก่าที่มีอายุ 4-5 ปี หรือเป็นปลายข้าว เพราะการขายข้าวยกโกดังที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนอยู่บ่อยครั้งว่า มีทั้งข้าวคุณภาพเกรดเอและเกรดซีปนๆ กันไป ซึ่งทำให้รัฐเสียหาย

ดังนั้น การขายข้าวเกรดซี ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าข้าวที่กองอยู่ในโกดัง 60 - 70% เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำจริง และขายในราคาเกรดอุตสาหกรรม พร้อมกับมีมาตรการควบคุมไม่ให้กลับเข้าสู่ตลาดข้าวบริโภค

นอกจากนั้น ควรสำรวจโกดังที่มีข้าวอายุ 5 - 6 ปี หากกลายเป็นฝุ่น เน่าเสีย ไม่คุ้มจะนำมาปรับสภาพ ก็ควรเร่งกำจัดให้หมด โดยลดราคาตามสภาพ ขายไปทำอาหารสัตว์หรือพลังงานก็ว่ากันไป

นั่นว่ากันเฉพาะเรื่องการระบายข้าวในสต๊อก ส่วนจะช่วยเหลือชาวนาให้ยั่งยืนได้อย่างไรนั้น ฟังจาก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวระดับแถวหน้า ว่าเรื่องที่รัฐบาลควรเน้นคือนโยบายด้านการพัฒนาการผลิตสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ไม่ว่าราคาตลาดโลกจะขึ้นหรือลงเพราะหากต้นทุนต่อตันต่ำ ชาวนาก็ยังอยู่ได้ แข่งขันได้

ในการจะลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อตันก็จะต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ และการจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ก็ต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาการผลิต เช่น การปรับปรุงดิน พัฒนาเมล็ดพันธุ์ การจัดการน้ำ การใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เครื่องจักรกลการเกษตรที่ช่วยลดต้นทุน เป็นต้น

งานด้านวิจัยและพัฒนาการผลิต คือสิ่งที่ภาครัฐควรจะเน้น และควรต้องเป็นเจ้าภาพหลัก และจะต้องทำต่อเนื่อง เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำเป็นแบบอย่าง จนรัฐบาลปัจจุบันเฉลิมพระเกียรติพระองค์เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีข่าวสาร นำระบบดาวเทียมมาใช้ในการสำรวจปริมาณผลผลิต เพื่อความถูกต้อง แม่นยำ ทันสถานการณ์ ทั้งรัฐบาล พ่อค้า และชาวนา จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่แน่ชัด ไม่เกิดการตื่นตระหนก ไม่เปิดช่องให้เกิดการทุบราคา ปั่นราคา สนับสนุนส่งเสริมให้สร้างระบบข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ชาวนาสามารถรู้ข้อมูลราคา สถานการณ์เคลื่อนไหวในตลาดข้าวโดยทัดเทียม เพื่อมิให้เสียเปรียบพ่อค้าหรือผู้ส่งออกข้าว และควรส่งเสริมให้มีหน่วยงานรับจ้างตรวจความชื้น ตรวจคุณภาพ ตรวจสอบน้ำหนัก เพื่อมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ให้ชาวนาเสียเปรียบพ่อค้า

การช่วยชาวนาหากติดกับดักอยู่แค่การสงเคราะห์หรืออุปถัมภ์เฉพาะหน้า ซึ่งสอดรับกันได้ดีกับค่านิยมและความคาดหวังในสังคมไทยที่นิยมระบบอุปถัมภ์ รอการช่วยเหลือจากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า จะตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองสามานย์ หรือคนฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากเจตนาดีของคนในสังคมที่ต้องการช่วยเหลือชาวนาอย่างบริสุทธิ์ใจ ดังนั้น จึงควรเลิกช่วยเป็นรายคน หรือช่วยแต่เฉพาะหน้าแต่ควรหันมาช่วยกันแก้ระบบพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน

การน้อมนำพระราชดำรัสในหลวงเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนว่า “ที่เขายากจน ต้องมาทำมาหากินในพื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้ไม่ใช่ว่าเขาอยากจะมาแต่เพราะเขาไม่มีที่อื่นจะไป ที่ฉันช่วยเขา ไม่ใช่ว่าจะช่วยตลอดไป แต่ช่วยเพื่อให้เขาได้มีโอกาสช่วยตัวเองต่อไป” ซึ่งนั่นก็คือ การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาการผลิต พัฒนาความร่วมมือรวมตัวกันของชาวนาตามแนวทางของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อให้ชาวนาช่วยตัวเองได้ในที่สุดจึงเป็นหนทางที่ถูกต้องและยั่งยืน


สั่งทหารตรวจโรงสี ผบ.ทบ.เข้มสกัดกดราคาข้าว รบ.ให้ตันละ1.3 หมื่น
สั่งทหารตรวจโรงสี ผบ.ทบ.เข้มสกัดกดราคาข้าว รบ.ให้ตันละ1.3 หมื่น
ผู้จัดการรายวัน 360 – นายกฯเผย นบข.ประชุมนัดพิเศษปรับเพิ่มราคาช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิใหม่ จำนำยุ้งฉาง-ขายในตลาด ได้เงินรวมตันละ 1.3 หมื่นบาท เริ่มดำเนินการทันทีถึง 28 ก.พ.60 พร้อมสั่งตรวจทุกโรงสี เช็กข้าวในคลัง ขออย่าเชื่อพวกบิดเบือนทางโซเชียลฯ เดินหน้าสร้างเกษตรเข้มแข็งด้วยตัวเอง ชาวนาขอบคุณรัฐบาลปรับราคาข้าว ปตท.เปิดพื้นที่ขายข้าวในปั๊ม ปตท.ทั่วประเทศ ผบ.ทบ.สั่ง กกล.รส.ลงพื้นที่เช็คข้อมูล “การเมือง-โรงสี” ทุบราคาข้าวตก ใหเทุกหน่วยช่วยชาวนา ซื้อข้าว-เกี่ยวข้าว ระบุส่งทหารคุยโรงสี เชื่อชาวนาไม่รวมตัวเรียกร้อง ดักคอนักการเมืองฉวยโอกาสเคลื่อนไหว รองประธาน สนช.จี้รัฐลงพื้นที่ช่วยชาวนา หวั่นถูกหั่นหัวจากขบวนการกุข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น