xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาเกษตรไทย เมื่อไรจะเห็นแสงสว่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สิ่งที่คาดการณ์ได้อย่างหนึ่งในสังคมไทยคือ แทบทุกปีจะมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้าง ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำซ้ำซากหลายสิบปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว และดูเหมือนว่ายังไม่เห็นแสงสว่างใดที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้อย่างยั่งยืนได้เลย

สิ่งที่เราเห็นอยู่จนกลายเป็นแบบแผนหลายสิบปีคือ บางปีราคาข้าวตกต่ำ บางปีราคายางและปาล์มตกต่ำ บางปีราคาข้าวโพดตกต่ำ บางปีราคามันสำปะหลังตกต่ำ ในช่วงหลังๆ ก็เริ่มขยายวงออกไปสู่ราคาผลไม้ ซึ่งมีการปลูกในเชิงการตลาดมากขึ้น หลักๆ เช่น ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด กล้วย มะม่วง มะพร้าว กลุ่มคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็มีมากขึ้น ซึ่งทำให้การผันผวนของราคาเป็นเรื่องที่สามารถคาดการณ์ได้เช่นกัน แต่ขนาดของปัญหาในเรื่องผลไม้ยังไม่กว้างขวางเท่ากับข้าว ยาง ปาล์ม ข้าวโพด และมันสำปะหลัง

รัฐไทยมีหน่วยงานและจ้างบุคลากรจำนวนมากที่ศึกษาสถานการณ์พืชผลเกษตรทั้งในแง่การผลิตและการตลาด กระทรวงหลักๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ส่วนกระทรวงที่มีบางกรมคอยหนุนเสริมอีกแรงก็มีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ถึงแม้ว่าจะมีคน มีเครื่องมืออยู่มากมาย ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เรื้อรังซ้ำซากของภาคการเกษตรได้แต่อย่างใด

ลองมาสำรวจวิธีคิดในการมองและการแก้ปัญหาของรัฐไทยเท่าที่ผ่านมาในเรื่องเหล่านี้ว่ามีอะไรอยู่บ้าง เท่าที่คิดอย่างเร็วๆ ผมเห็นแบบแผนหลักที่ครอบงำการคิดของผู้เกี่ยวข้องคือ แบบแผนการรอให้ปัญหาเกิดก่อน แล้วจึงค่อยคิดหาทางแก้ปัญหา ส่วนแบบแผนความคิดในการวางเงื่อนไขเพื่อขจัดสาเหตุของปัญหานั้นมีอยู่ค่อนข้างน้อย

แบบแผนการปฏิบัติเชิงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลไทยใช้เมื่อเกิดปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ คือการพยายามทำให้ราคาสูงสินค้าเกษตรชนิดนั้นราคาสูงขึ้น โดยการเข้าไปแทรกแซงราคาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตามที่คิดประดิษฐ์ถ้อยคำขึ้นมา กลยุทธ์ที่ใช้ในการยกระดับราคานั้นมีอยู่หลายกลยุทธ์ด้วยกัน แต่ละรัฐบาลพยายามที่จะทำให้กลยุทธ์ของตนเองแตกต่างจากกลยุทธ์ของรัฐบาลอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกว่า โครงการจำนำข้าว ส่วนรัฐบาลประยุทธ์เรียกว่า โครงการจำนำยุ้งฉาง

กรณีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ใช้ชื่อกลยุทธ์ว่า จำนำข้าวก็จริง แต่ว่ากลยุทธ์ที่ปฏิบัติจริงนั้นหาใช่การจำนำแต่อย่างใด หากแต่เป็นกลยุทธ์ “รับซื้อข้าว” โดยรัฐบาลตั้งราคาจำนำ(รับซื้อ)ไว้สูงกว่าราคาตลาดมาก เรียกว่าหากชาวนานำข้าวมาจำนำแล้ว ก็ไม่มีชาวนาคนใดที่จะคิดมาไถ่ถอนนำข้าวไปขายให้พ่อค้าโรงสีเป็นแน่ ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับซื้อข้าวทุกเมล็ดที่ผลิตได้ภายในประเทศ (รวมถึงซื้อข้าวที่สวมสิทธิ์จากต่างประเทศด้วย) และการรับซื้อก็ไม่มีการจำกัดจำนวน ใครมีเท่าไรมาขายก็รับซื้อเอาไว้ทั้งหมด สำหรับที่เก็บข้าวนั้นให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้เก็บ โดยรัฐบาลจ่ายเงินค่าเก็บให้กับโรงสี

ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลไทยจึงเป็นเจ้าของข้าวจำนวนมหาศาล ปัญหาที่ตามคือความการเก็บข้าว และการระบายข้าว ซึ่งดำเนินไปอย่างไร้ประสิทธิภาพทำให้ข้าวเน่าเสียจำนวนมาก และยังมีการทุจริตในทุกขั้นตอนตั้งแต่การรับซื้อ ไปจนถึงการขายข้าว ทุจริตกันทุกระดับและแทบทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับโครงการ จนทำให้ให้ประเทศเสียหายนับแสนล้านบาท และในที่สุดผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายจำนำข้าวหลายคน รวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งคงสรุปบทเรียนจากการใช้กลยุทธ์ที่ผิดพลาดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เอาไว้เป็นอย่างดี เมื่อมีปัญหาราคาข้าวตกต่ำเกิดขึ้น จึงพยายามคิดหาทางช่วยเหลือชาวนาโดยคิดกลยุทธ์ที่ทำให้ดูแตกต่างออกไป ความแตกต่างนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ชื่อกลยุทธ์ ซึ่งเรียกว่าโครงการจำนำยุ้งฉาง การใช้ชื่อแตกต่างก็เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของกลยุทธ์ขึ้นมานั่นเอง

นอกจากนั้นวิธีการดำเนินการก็ยังมีความแตกต่างคือ รัฐบาลประยุทธ์รับจำนำข้าวโดยจำกัดปริมาณ ไม่ใช่จำนำทุกเมล็ด และให้ชาวนาที่มียุ้งฉางเป็นผู้เก็บข้าวเปลือกเอาไว้ โดยรัฐบาลจ่ายค่าเช่ายุ้งฉางให้ชาวนา ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาของชื่อกลยุทธ์ การดำเนินการของรัฐบาลเป็นการดำเนินการต่อกลุ่มชาวนาที่เป็นเป้าหมายโดยตรง และไม่นำโรงสีเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มตกไปสู่ชาวนา และรัฐบาลก็ใช้งบประมาณไม่มาก คือใช้ในวงเงินประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งใช้น้อยกว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ใช้เงินนับแสนล้านบาทหลายเท่า

แต่ไม่ว่าวิธีการจะแตกต่างเพียงใด กระบวนทัศน์หลักในการแก้ไขปัญหาก็ถือได้ว่าอยู่ภายใต้กรอบความคิดเดียวกันคือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยใช้เงินงบประมาณของประเทศเข้าไปอุดหนุน ซึ่งก็ช่วยบรรเทาปัญหาได้บางระดับ แต่ก็ไม่มีความยั่งยืนเหมือนเดิม

อันที่จริงรัฐไทยมีความพยายามอยู่บ้างในการคิดแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรระยะยาว ภายใต้กรอบคิดสองอย่างคือ แนวคิดการจัดโซนนิ่งการผลิตภาคเกษตร และแนวคิดการลดการผลิตพืชผลเกษตรที่มากเกินไป โดยส่งเสริมให้เกษตรกรไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน เช่น แนวคิดที่ลดการปลูกข้าว โดยให้เกษตรกรไปปลูกข้าวโพดแทน หรือ ลดพื้นที่การปลูกยางพารา เป็นปลูกปาล์มน้ำมันแทน

ความคิดการจัดโซนนิ่งการผลิตภาคการเกษตร ดูเหมือนจะดี แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญคือสองประการคือ เงื่อนไขแรกหน่วยงานภาครัฐต้องมีความสามารถสูงในการวิเคราะห์แบบพหุมิติ อันได้แก่ ความเหมาะสมของประเภทพืชผลเกษตรภาพรวมทั้งประเทศ และที่จะกำหนดในแต่ละเขต ความเหมาะสมของพื้นที่ ความเหมาะสมและความยั่งยืนของตลาด การทำแบบนี้ได้ต้องใช้ข้อมูลต่างๆ จำนวนมหาศาล ใช้พลังปัญญาและความสามารถในการวิเคราะห์และทำนายเกี่ยวกับประเภทและความต้องการสินค้าในเชิงองค์รวมที่เชื่อมโยงในระดับนานาชาติด้วย หากหน่วยงานของรัฐไม่มีศักยภาพและความสามารถในเรื่องเหล่านี้อย่างเพียงพอ การจัดโซนนิ่งก็จะสร้างปัญหาตามมามากมายที่แม้กระทั่งผู้นำเสนอความคิดนี้คาดไม่ถึง

เงื่อนไขที่สองคือต้องมีกลไกเชิงนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมอย่างเป็นระบบครบวงจรและมีประสิทธิผล รวมทั้งต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรด้วย เพราะหากมีการทำโซนนิ่งแล้วเกษตรกรส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงประเภทของพืชผลที่พวกเขาเคยชิน มาปลูกพืชชนิดใหม่ที่สอดคล้องกับพื้นที่โซนนิ่ง การทำให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่พวกเขาเคยชินอยู่นั้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้างความมั่นใจและหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงควบคู่กันไป

สำหรับแนวคิดที่ลดการการปลูกพืชผลการเกษตรที่ผลิตล้นเกินนั้น รัฐบาลในอดีตก็ทำอยู่บ้าง อย่างเช่น การลดพื้นที่ปลูกยางพารา และส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น และพืชผลอีกประเภทหนึ่งที่รัฐบาลดูเหมือนจะมีเป้าหมายอยู่ในใจคือ “ข้าว” ดังที่มีข่าวออกมาว่าจะให้ชาวนาลดการปลูกข้าว และส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดแทน เรื่องนี้หากเป็นจริงตามข่าวที่ออกมาก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะว่าราคาข้าวโพดก็มีความผันผวนพอๆ กับราคาข้าว และหากมีการปลูกมากเกินไปปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ต่างจากปัญหาเรื่องข้าวแม้แต่น้อย

นอกจากกรอบคิดดังที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่พอเห็นร่องรอยการแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์อยู่บ้างคือ การพยายามพัฒนาเกษตรกรจากการเป็นผู้ผลิต ให้มาเป็นผู้ประกอบการ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับตลาดโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง การส่งเสริมการแปรรูปพืชผลการเกษตร และการสร้างผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่า อย่างไรก็ตามการดำเนินการเรื่องนี้ยังอยู่ขอบเขตจำกัด นโยบายส่งเสริมอย่างจริงจังต่อเนื่องยังไม่ชัดเจนนัก อยู่ในระยะการเริ่มต้นและไม่มีพลังการขับเคลื่อนมากเท่าที่ควร

การพัฒนาเกษตรกรจากผู้ผลิตให้เป็นผู้ประกอบการนั้นเป็นแนวคิดที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลก็จะต้องสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้ให้ครอบคลุมทั้งระบบ อันได้แก่ เรื่องเงินกู้สำหรับการลงทุน การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด เทคโนโลยี โลจิสติกส์ มาตรการด้านภาษี และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หากทำได้อย่างมีประสิทธิผล ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำก็จะลดลง และอาจหมดสิ้นไปในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไทยมีโอกาสสัมผัสกับแสงสว่างบ้างไม่มากก็น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น