ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)อยู่ในขณะนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นร่างกฎหมายกำกับดูแลพรรคการเมืองที่มีความเข้มงวดที่สุดฉบับหนึ่ง
จากแนวทางเนื้อหาที่มีการเปิดเผยออกมาเป็นระยะๆ ทั้งจากปากของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.เอง และกรรมการคนอื่นๆ นั้น พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองทำได้ค่อนข้างง่าย โดยเมื่อรวบรวมสมาชิกได้ไม่ต่ำกว่า 500 (ห้าร้อย) คน ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองได้ และเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างแท้จริง เมื่อรวบรวมได้ครบแล้ว แต่ละคนต้องจ่ายเงินเป็นทุนประเดิมของพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมของพรรค เพื่อเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของพรรคด้วย นอกจากนั้นให้มีการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรค ซึ่งไม่ใช่ในส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนพรรคการเมือง
นอกจากนี้ ให้มีกลไกป้องกันไม่ให้มีผู้บงการพรรคการเมือง โดยห้ามไม่ให้คนไม่เกี่ยวข้องเข้ามาบงการพรรค สมาชิกทำได้เฉพาะในกรอบของสมาชิก ซึ่งจะมีบทลงโทษในทางอาญาด้วย หากมีประเด็นที่มีผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาบงการพรรคการเมือง นอกจากเป็นความผิดเฉพาะตัวแล้วยังไปถึงพรรคการเมืองด้วยเพราะหากพรรคการเมืองรับคำสั่งคนอื่นก็ไปถึงผู้บริหารพรรคต้องพ้นไปด้วย
ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ ยังกำหนดหลักเกณฑ์เสรีภาพในการออกเสียงของ ส.ส. โดยกำหนดให้ข้อบังคับและมติของพรรคการเมืองจะต้องไม่ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. แต่พรรคการเมืองยังสามารถมีมติขับ ส.ส.ออกจากพรรคได้ตามกฎเกณฑ์ของแต่ละพรรค
ส่วนการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจะถือว่าเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.หรือไม่นั้นในรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นหากเกิดกรณีที่ว่าพรรคการเมืองมีมติแต่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติตามพรรคการเมืองก็ต้องไปขับไล่กันเพราะยังมีอำนาจตามสมควรแต่ถ้า ส.ส.คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเห็นว่าเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถไปร้องต่อศาลให้คุ้มครองชั่วคราวและเพิกถอนได้
อีกประเด็นสำคัญในกฎหมายพรรคการเมือง คือการยุบพรรคการเมือง ซึ่งใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี 2550 ถูกบรรดานักเลือกตั้งโจมตีว่ารุนแรงเกินไป เพราะเพียงแค่มีกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งกระทำผิด ก็ทำให้พรรคการเมืองถูกยุบทั้งพรรค พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้ จึงพยายามทำให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
นายมีชัยเปิิดเผยต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ตามที่มีการคุยกันใน กรธ. ได้มีการหารือถึงสาเหตุที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง เช่น 1.กระทำการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือใช้อำนาจล้มล้างการปกครองฯ 2.รับเงินจากต่างด้าว 3.รับเงินจากคนที่สนับสนุนให้มีการล้มล้างการปกครองฯ และ 4.รับเงินมาเพื่อแลกกับตำแหน่ง ซึ่งต้องดูว่าพรรครับเงินมาหรือไม่
กรณีการยุบพรรคการเมืองจากฐานความผิดรับเงินจากต่างด้าว นายมีชัยกล่าวว่า เป็นเพราะว่าไม่ต้องการให้มีคนต่างชาติมายุ่งหรือมีอิทธิพลต่อการเมืองไทย ส่วนการรับเงินจากคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศนั้นก็ถือว่าคนนั้นยังเป็นคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ยกเว้นว่าจะแปลงสัญชาติไปแล้ว และหากเป็นคนไทยโดยการแปลงสัญชาติหรือได้รับสัญชาติไทยต้องมาอย่างน้อย 5 ปี
ส่วนการพิจารณายุบพรรคการเมืองนั้นให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และ กรธ.กำลังคิดว่าในรัฐธรรมนูญถ้าใครไปพบว่าพรรคการเมืองกระทำการแบบนั้นก็ต้องไปร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดฟ้อง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่าบางกรณีอัยการสูงสุดไม่ฟ้อง หรือฟ้องล่าช้า คราวนี้จึงได้เขียนว่าอัยการสูงสุดต้องฟ้องภายใน 30 วัน ถ้าไม่ฟ้องภายในเวลา แต่เมื่อผ่านขั้นตอน 30 วันไม่สั่งฟ้อง ก็สามารถไปฟ้องเองได้เลย แต่เรื่องเกี่ยวกับการยุบพรรคไม่ใช่เป็นเรื่องของประชาชนทั่วไปแล้ว เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณาเบื้องต้นว่าเขากระทำการเช่นนั้นหรือไม่ และกำลังคิดว่าหากเป็นเช่นนั้น กกต.สามารถฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย โดยไม่ต้องไปอัยการสูงสุด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา และ กกต.จะฟ้องนั้นไม่มีการกำหนดเวลา ทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของ กกต. เพราะการกำหนดเวลาอาจจะเป็นปัญหาได้ และหากพรรคการเมืองจะโต้แย่งก็ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนการยุบพรรคการเมืองจะมีผลไปถึงการตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนทำ คนนั้นอาจจะโดน แต่คงไม่โดนทั้งพรรค เพราะพรรคเป็นนิติบุคคล แต่คนทำถือเป็นความผิดรายบุคคล
นายมีชัยระบุว่า ทาง กรธ.ร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ โดยยึดหลักให้การเมืองเป็นที่พึ่งของประชาชน ประชาชนมีส่วนร่วม ขจัดคนทุจริต เช่น การซื้อขายตำแหน่งในพรรคการเมืองบางพรรค ส.ส.ที่อยากเป็นรัฐมนตรีต้องนำเงินไปให้หัวหน้าพรรค กรธ.จึงเขียนห้ามไว้ และกำหนดโทษผู้ขายตำแหน่งสูงถึงประหารชีวิต และเอาผิดกับผู้ที่ให้เงินด้วย
นายมีชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า การซื้อขายตำแหน่งที่บอกว่ามีโทษถึงขั้นประหารชีวิตนั้น ตามที่ กรธ.วางไว้จะมีโทษเหมือนการทุจริตที่มีโทษถึงประหารชีวิต และกำลังคิดว่าจะมีโทษที่เบากว่า อาทิ จำคุกตลอดชีวิตหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่การประหารชีวิตทางการเมือง เพราะเป็นคดีอาญา
หากพรรคการเมืองแย้งมาว่าโทษแรงเกินไป นายมีชัยบอกว่า ขึ้นอยู่กับเหตุผล และการกระทำผิด ที่กำหนดโทษประหารชีวิตก็มีอาทิ การล้มล้างการปกครอง การเอาตำแหน่งระดับสูงไปซื้อขาย ซึ่งเป็นการทำลายทุกองคาพยพ แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่ข้อสรุป หากคิดว่าแรงไปก็อาจมีการปรับได้ ในเรื่องตำแหน่งถือว่าทุกตำแหน่งไม่เกี่ยวว่าจะเป็นตำแหน่งระดับต่ำหรือสูง และรวมทุกตำแหน่งทั้งข้าราชการประจำและการเมือง และส่วนหนึ่งจะไปเขียนไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช.เพื่อขจัดการซื้อขายตำแหน่ง เพราะการซื้อขายตำแหน่งเป็นตัวทำลายทุกเรื่อง ทุกระบบ กระบวนการทุกอย่างจะเสียหมด ยิ่งกว่าเป็นโรคระบาด และคนที่จะถูกลงโทษเช่นนั้นต้องผ่านการพิจารณาของศาลที่ต้องผ่านการต่อสู้ และศาลตัดสินว่าผิดจริง
ในเรื่องการรับเงินบริจาคของพรรคการเมืองจะกำหนดให้มีการลงบัญชีและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบโดยใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าใครบริจาคให้พรรคเท่าไหร่ ใช้เงินในบัญชีไปเท่าไหร่ ให้เปิดเผยให้หมด
นี่เป็นเนื้อหาโดยสรุปของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ ซึ่งยังสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมก่อนที่จะหาข้อสรุปสุดท้ายภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งบรรดานักเลือกตั้งยังพอมีเวลาที่จะเสนอความเห็นขอปรับแก้ โดยเฉพาะในส่วนของการกำหนดโทษที่รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่พรรคการเมืองคลายความกังวลไปได้ ก็คือการรีเซ็ต หรือการยกเลิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมแล้วให้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่หมดทุกพรรค โดยนายมีชัยย้ำว่า ไม่มีการรีเซตพรรคการเมือง เพราะจะเป็นความยุ่งยาก ดังนั้นจึงไม่มีการบังคับ หากผู้บริหารพรรคไม่มีลักษณะต้องห้ามก็ไม่มีปัญหา เท่ากับในบทเฉพาะกาลไม่มีเขียนให้ต้องจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่